xs
xsm
sm
md
lg

ประเดิมเปิดเวทีฟังความเห็น เร่งเดินหน้ารถไฟทางคู่ “โคราช-หนองคาย” แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ครั้งที่ 1 เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง สาย นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. ที่โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 20 ม.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เร่งเดินหน้ารถไฟทางคู่สายอีสาน โคราช-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. ประเดิมเปิดเวทีฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่โคราช ก่อนสัญจรไปขอนแก่น-อุดรฯ-หนองคาย หวังเชื่อมโยงลอจิสติกส์ไทยเปิดประตูสู่อาเซียน เผยสร้างรางใหม่มาตรฐาน 1.435 ม. ใช้รถไฟกึ่งความเร็วสูง 180-250 กม./ชม. รองรับรถไฟความเร็วสูง มูลค่าก่อสร้างกว่า 1 แสนล้าน สรุปผลเสนอรัฐบาลปลายปีนี้

วันนี้ (20 ม.ค.) ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) ครั้งที่ 1 เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ–หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย รวมระยะทาง 355 กิโลเมตร (กม.)

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอให้กลุ่มเป้าหมาย ทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และภาคประชาชนภายในจังหวัดนครราชสีมา รวมประมาณ 300 คน ได้รับทราบกรอบแนวทางการศึกษาในด้านต่างๆ ทั้งงานการศึกษาความเหมาะสม งานการออกแบบกรอบรายละเอียด และงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปประกอบการศึกษาในขั้นต่อไป

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2552-2559) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และนโยบายของคณะรัฐมนตรี ปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้เร่งผลักดันให้สามารถดำเนินการก่อสร้างทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กม. ซึ่งรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาปฏิรูปแห่งชาติของจีนได้ทำพิธีลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ทั้งนี้ การออกแบบได้กำหนดให้สามารถรองรับระบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคตได้ด้วย

“โดยจะมีการสร้างรางรถไฟขนาด 1.435 เมตร ซึ่งจะนำรถไฟความเร็ว ระหว่าง 180-250 กม.ต่อชั่วโมง หรือกึ่งความเร็วสูงมาใช้วิ่งในเส้นทางดังกล่าว ส่วนอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถนำรถไฟความเร็วสูงที่ความเร็วกว่า 250 กม.ขึ้นไปมาวิ่งในรางรถไฟได้เช่นกัน” นายชัยวัฒน์กล่าว

สำหรับโครงการศึกษาครั้งนี้แนวเส้นทางจะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เริ่มต้นแนวเส้นทางบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา และสิ้นสุดโครงการที่บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย โดยกำหนดเกณฑ์การออกแบบเบื้องต้นให้เป็นแนวเส้นทางขนานไปกับเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน ก่อสร้างเป็นทางอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟเดิม และจะปรับแนวเส้นทางให้เป็นแนวตรงมากขึ้น โดยเพิ่มรัศมีโค้งในบางพื้นที่เพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและสามารถรองรับการเดินรถด้วยความเร็วสูงได้

นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า ในอนาคตเส้นทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-สปป.ลาว ที่เมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเชื่อมต่อไปยังเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเมื่อโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เสร็จสมบูรณ์ และเชื่อมต่อกับช่วงนครราชสีมา-ท่าเรือมาบตาพุด แล้วจะสามารถเติมเต็มโครงข่ายการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชนระหว่างกรุงเทพฯ และภาคอีสานไปสู่ภาคตะวันออก สนับสนุนการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคไปยังท่าเรือแหลมฉบังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคอาเซียนให้มีศักยภาพมากขึ้น

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดตามแนวเส้นทางโครงการ ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ (20 ม.ค.) และในวันพรุ่งนี้ (21 ม.ค.) จะจัดที่จังหวัดขอนแก่น ที่โรงแรมเซ็นทารา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ส่วน จ.อุดรธานี จัดวันที่ 22 ม.ค. ณ โรงแรมเซ็นทารา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ และ จ.หนองคาย จัดวันที่ 23 ม.ค. ณ โรงแรมอัศวรรณ

“จากนั้นบริษัทปรึกษาจะทำการสรุปเพื่อออกแบบเส้นทางและประเมินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเบื้องต้นคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ก่อนจะเปิดรับฟังความเห็นอีกครั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จกระบวนการทั้งหมดและเสนอรัฐบาลได้ในปลายปี 2558” นายชัยวัฒน์กล่าวในตอนท้าย
นายชัยวัฒน์  ทองคำคูณ รองผอ.สนข.



กำลังโหลดความคิดเห็น