ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ซ่อม “สะพานมอญ” ไปกันใหญ่ “นอมินี” จังหวัดโพสต์เฟซบุ๊ก แจงข้อมูลขัดแย้งกันเอง บอกเงินบริจาค 11.6 ล้าน จ่ายค่าลงงมไม้ 8 หมื่น เหลือ 11.5 ล้านอยู่ครบ มี กก.เก็บรักษา ตอนท้ายกลับบอกเหลือ 1.5 ล้าน สอดคล้องสัญญาประนีประนอม ควักจ่ายผู้รับเหมา 10 ล้าน แถมก่อนหน้านี้ยังโพสต์ยืนยันกรณีไม่ขยายสัญญาครั้งแรก หากไม่เสร็จภายในเดือนสิงหาคม อาจบอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหาย “คนสังขละฯ” เผยภาพถ่ายล่าสุด ดูอย่างไรก็ไม่ถึง 60.94%
วันนี้ (7 ก.ย.) “ASTVผู้จัดการออนไลน์” รายงานว่า ภายหลังคณะกรรมการไกล่เกลี่ยปัญหาการซ่อมแซมบูรณะสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ทำสัญญาประนีประนอมกับ หจก.ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ ผู้รับจ้างซ่อมสะพาน โดยจังหวัดจ่ายค่าก่อสร้างให้ 10 ล้านบาท เนื่องจากงานคืบหน้าคิดเป็น 60.94% นั้น
ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงจำนวนเงินลงทุนไปแล้ว และประเด็นการจ่ายเงินให้ผู้รับเหมา ว่าไม่น่าจะถูกต้องตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งเรียกร้องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบ ขณะที่ เฟซบุ๊ก สะพานมอญ โมเดล ตั้งข้อสงสัยเรื่องความคืบหน้าซึ่งไม่น่าเกิน 20% เท่านั้น
ต่อมา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ขอให้จังหวัดในฐานะผู้ว่าจ้างชี้แจงข้อเท็จจริงภายใน 20 วัน หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับหนังสือ ใน 3 หัวข้อ คือ 1.ข้อมูลการซ่อมแซมสะพานในส่วนที่เสียหาย 2.แนวทางปฏิบัติซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการ และ 3.ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ทั้งนี้ เพราะสงสัยว่าการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ต้องเป็นไปตามระเบียบการพัสดุ พ.ศ.2535 หรือไม่ นอกจากนี้ ภาคประชาชนสามารถยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบได้เช่นกัน
ทั้งนี้ หนังสือที่ทำถึงกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ซึ่งครบ 20 วัน เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 กันยายน เฟซบุ๊ก “สะพานมอญ รู้จริง ชัดเจน หน่วยงานราชการ” ซึ่งชาวกาญจนบุรีเห็นว่า ทางจังหวัดเป็นผู้เปิดเพจขึ้น ได้โพสต์ข้อความชี้แจงเป็นประเด็น เริ่มจาก
คำถาม “ข่าวว่ามีคนของจังหวัดทุจริตเงินบริจาคเพื่อการซ่อมแซมสะพานในส่วนของวัด 16 ล้านบาท”
คำตอบ “ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เงินบริจาคส่วนของวัด จังหวัดไม่เคยได้รับแต่อย่างใด ทราบว่าทางวัดมีประมาณ 3 ล้านบาทเศษ และทางวัดเก็บไว้เอง
ส่วนของจังหวัดได้รับบริจาค 11.6 ล้านบาท มีการแต่งตั้งกรรมการเก็บรักษาตามแบบแผนทางราชการ ที่ผ่านมา ถูกใช้จ่ายไปเพื่อภารกิจการงมไม้ใต้น้ำประมาณ 8 หมื่นบาท คงเหลืออีก 11.5 ล้านบาทเศษ ปัจจุบันยังเงินยังอยู่ครบถ้วน ได้เคยส่งสำเนาบัญชีให้นายอำเภอสังขละบุรี และทางวัดทราบด้วย เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปทราบด้วย แสดงความโปร่งใส”
คำถาม “เมื่อถึงวันที่ 10 กันยายน 2557 ผู้รับจ้างจะซ่อมสะพานตามข้อตกลงเสร็จหรือไม่ ถ้าไม่เสร็จจะแก้ไขปัญหาอย่างไร”
คำตอบ “จากการประเมินผลการดำเนินงานคาดว่า เมื่อถึงวันที่ 10 กันยายน 2557 การซ่อมจะไม่แล้วเสร็จ คาดว่าผลงานของผู้รับจ้างน่าจะอยู่ที่ประมาณไม่เกินร้อยละ 80 ดังนั้น เพื่อให้ชุมชนเกิดความพึงพอใจ จังหวัดจึงมีแนวทางแก้ไข ดังนี้
1.ให้ผู้รับจ้างยุติการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2557
2.แต่งตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนที่สังคมยอมรับ ร่วมไกล่เกลี่ยปัญหา ประกอบด้วย อัยการจังหวัด เป็นประธาน วัด ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานหอการค้า ผู้เชี่ยวชาญด้านช่าง ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้าง เป็นกรรมการ พิจารณาหาข้อยุติ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยจัดประชุมร่วมกันในวันที่ 4 กันยายน 2557”
คำถาม “สรุปผลการประชุมของคณะกรรมการไกล่เกลี่ยเป็นอย่างไร”
คำตอบ “ผลการประชุมคณะกรรมการไกล่เกลี่ย เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการซ่อมแซมสะพานมอญ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ซึ่งมีอัยการจังหวัด เป็นประธาน สรุปได้ดังนี้
1.จากการประเมินผลงานล่วงหน้า เชื่อว่าผลการดำเนินงานของผู้รับจ้างจะไม่แล้วเสร็จภายใน 10 กันยายน 2557 ตามที่ผู้รับจ้างเคยตกลงไว้
2.ให้ผู้รับจ้างยุติการก่อสร้าง ในวันที่ 4 กันยายน 2557 เวลา 24.00 น.
3.เพื่อมิให้เกิดการฟ้องร้องต่อกันภายหลัง จนทำให้การซ่อมสะพานยืดเยื้อออกไป คณะกรรมการไกล่เกลี่ย จึงไกล่เกลี่ยผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้างจนได้ข้อยุติดังนี้ ... ให้ผู้ว่าจ้างจ่ายค่างานก่อสร้างที่ผู้รับจ้างดำเนินการไปแล้ว รวมทั้งมอบวัสดุไม้ อุปกรณ์ที่จัดหาไว้แล้ว ตลอดจนยังมีภาระในการตอกเสาเข็ม จำนวน 5 ตับที่เหลือ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10 ล้านบาท ซึ่งผู้รับจ้างตกลงรับข้อเสนอคณะกรรมการไกล่เกลี่ย”
คำถาม “คณะกรรมการไกล่เกลี่ยพิจารณาค่าก่อสร้างให้ผู้รับจ้าง 10 ล้านบาท คิดจากฐานอะไร จังหวัดเสียเปรียบ หรือฮั้วกับผู้รับจ้างหรือไม่”
คำตอบ “คณะทำงานวิชาชีพด้านช่างได้ทำการประเมินผลงานของผู้รับจ้างถึงวันที่ 4 กันยายน 2557 พบว่า ผู้รับจ้างทำงานมีผลงานร้อยละ 60.94 ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวผู้รับจ้างยอมรับ ประกอบกับเมื่อได้คำนวณค่างานตามรายละเอียดของรูปแบบรายการก่อสร้าง ราคากลาง และเนื้องานที่ทำจริง ค่าของงานจะอยู่ที่วงเงิน 9.9 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อผู้รับจ้างจะมอบวัสดุไม้ และวัสดุก่อสร้างที่จัดหาไว้แล้ว ซึ่งเตรียมอยู่หน้างานอีก 1 ล้านบาทเศษ ตลอดจนยังคงมีภารกิจทำงานส่วนฐานราก คือ ตอกเสาเข็มที่เหลืออีก 5 ตับ เป็นเงิน 3 แสนบาท และค่าดำเนินของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างเรียกร้องค่าก่อสร้างที่ทำไปแล้ว เป็นเงิน 13 ล้านบาท ผู้ว่าจ้างร่วมกับคณะกรรมการไกล่เกลี่ย จึงขอต่อรองลงลดเหลือ 10 ล้านบาท โดยผู้รับจ้างยอมรับ”
คำถาม “ภายหลังได้ข้อยุติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการไกล่เกลี่ย เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 จังหวัดจะดำเนินการต่อไปอย่างไร”
คำตอบ “จังหวัดได้ขอความร่วมมือกองพลทหารราบที่ 9 เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการต่อไป ซึ่งทางกองพลทหารราบที่ 9 ยินดีรับเป็นเจ้าภาพหลัก ทั้งนี้ ยังคงมีเงินของจังหวัดส่วนที่เหลืออีก 1.5 ล้านบาท และเงินของวัดอีก 3 ล้านบาทเศษ ตลอดจนใช้วัสดุไม้ วัสดุก่อสร้างที่เหลือจากผู้รับจ้างรายเดิม และไม้ที่ผู้รับจ้างเก็บกู้ได้ใต้โคลนในน้ำ เพื่อสนับสนุนการทำงาน”
คำถาม “ทำไมจังหวัดไม่มอบให้วัดดำเนินการตั้งแต่แรก”
คำตอบ “เดิมในชั้นต้นจังหวัดก็พิจารณาแนวทางที่จะให้ทางวัดดำเนินการ แต่เมื่อพิจารณาถึงความเสียหาย ที่ครั้งนี้มีมากกว่าทุกครั้ง เป็นการก่อสร้างสะพานขึ้นใหม่ช่วงกลางน้ำลึก มีความยาวประมาณ 80 เมตร ความสูงมากกว่า 20 เมตร จึงเกิดความห่วงใยในเรื่องความมั่นคงแข็งแรง ประกอบกับต้องใช้วัสดุไม้จำนวนมากกว่าทุกครั้ง เฉพาะไม้เสาเนื้อแข็งจำนวน 250-300 ท่อน จึงเกิดความห่วงใยจากผลการนำไม้ที่ไม่ถูกต้องมาใช้
ขณะนี้ข้อห่วงใยดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว กล่าวคือ มีหน่วยงานทหารเป็นเจ้าภาพหลัก ช่วยดูแลความถูกต้องของไม้ เป็นไม้ส่วนที่เหลือของผู้รับจ้างรวมทั้งจากการเก็บกู้ไม้เดิมที่จมน้ำ ซึ่งมีจำนวนมากพอ สำหรับข้อห่วงใยเรื่องความมั่นคงแข็งแรงเชื่อว่าการใช้เครื่องมือเครื่องจักรดำเนินการฐานราก และการตอกเสาเข็มของผู้รับจ้างรายเดิมจนแล้วเสร็จ จะทำให้สะพานมีความมั่นคงแข็งแรง และงานส่วนที่เหลือไม่ซับซ้อนมากสามารถใช้กำลังแรงงานก่อสร้างได้”
คำถาม “ขณะนี้ทางวัด และชุมชนมีความพึงพอใจต่อแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวของจังหวัดหรือไม่อย่างไร”
คำตอบ “จากการติดตามข้อมูลในพื้นที่ และจากการที่ผู้สื่อข่าวเข้าไปสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2557 พบว่า วัด ตัวแทนชุมชน จังหวัด ฝ่ายทหาร ทุกฝ่ายมีความพึงพอใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันต่อไปโดยยึดหลักของความสามัคคีปรองดอง และเพื่อให้การซ่อมสะพานแล้วเสร็จ โดยมีกองพลทหารราบที่ 9 เป็นแกนนำต่อไป”
ทั้งนี้ จะเห็นว่าคำชี้แจงเรื่องเงินบริจาคนั้น จังหวัดได้รับบริจาค 11.6 ล้านบาท ใช้งมไม้ใต้น้ำประมาณ 8 หมื่นบาท คงเหลือ 11.5 ล้านบาทเศษ ปัจจุบันยังอยู่ครบถ้วน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วเงิน 10 ล้านบาท ที่จ่ายให้ผู้รับจ้างนำมาจากส่วนไหน ใช่เงินบริจารหรือไม่ เพราะต่อมากลับระบุว่า ยังมีเงินของจังหวัดเหลือ 1.5 ล้านบาท และของวัด 3 ล้านบาทเศษ สำหรับใช้สำหรับซ่อมสะพาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2557 เฟซบุ๊ก “สะพานมอญ รู้จริง ชัดเจน หน่วยงานราชการ” โพสต์ข้อความบอกกล่าวข่าววงใน หลังเกิดเหตุชุมนุมที่สะพานอุตตมานุสรณ์ เรียกร้องให้จังหวัดบอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้าง สรุปว่า จังหวัดพิจารณาแล้วไม่ขยายระยะเวลา โดยได้แจ้งให้นายอำเภอสังขละบุรี ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้าง มีหนังสือเร่งรัดผู้รับจ้างซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากไม่แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2557
ข้อ 4 จังหวัดอาจพิจารณาสงวนสิทธิบอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายตามแนวทางปฏิบัติของระเบียบราชการต่อไป แต่สุดท้ายกลับต่อสัญญาถึงวันที่ 10 กันยายน 2557 และตัดสินใจทำสัญญาประนีประนอมกับผู้รับจ้าง โดจ่ายค่าก่อสร้างให้ 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการยกเลิกสัญญาโดยปริยายในวันที่ 4 กันยายน 2557
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังยกเลิกสัญญาแล้ว พ.อ.สนิธ ชนกสังขจันทร์ ผบ.ฉก.ลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ ร่วมประชุมกับ น.ส.รัชนี จำปีขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หนองลู และพระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม จากนั้นไปตรวจสอบสะพาน พบปัญหาไม้ตะเคียนที่นำมาปูพื้นไม่ได้มาตรฐาน คือ ของเดิมหนา 2 นิ้ว แต่ไม้ที่ทางบริษัทปูหนาเพียง 1.5 นิ้ว ซึ่งต้องรื้อทิ้งด้วย
ล่าสุด เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 7 กันยายน เฟซบุ๊ก “สะพานมอญ โมเดล” ได้โพสต์ภาพสะพานมอญ ที่แชร์กันในหมู่สมาชิก พร้อมข้อความ “นี่หรือซ่อมมาแล้ว 60.94% สงสัยท่านประธานจะตกเลข ค้านสายตามั๊กๆๆๆๆ”