รายงานการเมือง
การประชุม ครม. อย่างไม่เป็นทางการนัดแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กันยายน 2557 เป็นก้าวแรกของการปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินที่ต้องเรียกว่า “ของจริง” ซึ่งจะแตกต่างไปจากการบริหารในฐานะหัวหน้า คสช. ที่อยู่บนเงื่อนไขพิเศษในทุกเรื่อง สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยอำนาจพิเศษราวกับเนรมิต
แต่อำนาจเหล่านั้นจะถูกตีกรอบให้อยู่ในวงจำกัดทันทีที่มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจการบริหารจากหัวหน้า คสช. มาเป็นในนามของ “นายกรัฐมนตรี”
เพราะจะเข้าสู่โหมดที่การตรวจสอบจากทุกฝ่ายเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ภาวะการบริหารปกติแม้จะยังอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ แต่ คสช. ก็ไม่สามารถออกประกาศ หรือคำสั่งโดยใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือได้ง่ายๆ เหมือนที่ผ่านมาได้อีก
ดังนั้น ทุกก้าวย่างของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงอยู่ในสายตาแห่งความคาดหวังของประชาชน และดูเหมือนว่าอุปสรรคปัญหาก็เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องของตัวบุคคลที่มาปฏิบัติหน้าที่ในรัฐบาลที่ไม่ได้จัดสรรโดยยึดหลักวางคนให้เหมาะสมกับงาน
แต่เป็นการจัดวางคนตามความสัมพันธ์ที่มีกับผู้มีอำนาจ และเลือกใช้ข้าราชการให้มาเป็นฝ่ายบริหารเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งแทนที่จะให้มืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยบริหารพัฒนาบ้านเมือง
ไม่เพียงเท่านั้นสิ่งที่เคยเป็นจุดแข็งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่คนจำนวนหนึ่งเชื่อมั่นว่ามีความซื่อสัตย์ สุจริต ก็กำลังถูกสั่นคลอนจากความไม่โปร่งใสกรณีการใช้งบประมาณ 252 ล้านบาท ปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับการจัดซื้อไมค์ตัวละ 1.4 แสนบาท
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้นจากการบริหารในภาวะไม่ปกติ บนเงื่อนไขพิเศษที่ปราศจากการตรวจสอบ หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถเคลียร์เรื่องนี้ให้กระจ่างได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมที่จะลุกลามไปอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะคาดคิด
การที่ หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะไม่สามารถที่จะคลี่คลายความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนได้ เนื่องจากไม่มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการตรวจสอบที่จะมีขึ้น
ใครจะเชื่อว่าการตรวจสอบจะเป็นไปโดยอิสระในเมื่อข้าราชการเป็นผู้ตรวจสอบกันเอง!
ความจริงเรื่องนี้ หม่อมหลวง ปนัดดา เปรียบเสมือนหนังหน้าไฟที่ต้องเข้ามารับผิดชอบ และกลายเป็นจำเลยของสังคมที่ตั้งข้อสงสัยว่าจะมีส่วนพัวพันกับความไม่โปร่งใสและข้อพิรุธที่เกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณครั้งนี้หรือไม่
ทั้งที่ความจริงแล้วคนที่ควรจะต้องตอบคำถามสังคมคนแรก คือ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. และ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เป็นผู้ชงเรื่องให้ที่ประชุม คสช. เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 อนุมัติการปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล วงเงิน 252 ล้านบาท แต่ในวันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ กลับลอยตัวไม่ต้องชี้แจงอะไรเลยทั้งที่เป็นผู้เสนอโครงการ
ประเด็นที่ต้องให้ความชัดเจนกับสังคม จึงไม่ใช่แค่เรื่องราคาไมค์สูงเกินกว่าความเป็นจริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระบวนการใช้งบประมาณของ คสช. เองด้วยว่า มีการกลั่นกรองเพื่อให้มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด เพราะหากพิจารณาจากโครงการนี้ก็จะเห็นชัดเจนว่า ไม่เป็นไปตามกระบวนการตามปกติ เพราะไม่ได้มีการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ไม่มีการประกาศราคากลางตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต มาตรา 107/7
ที่แปลกประหลาดที่สุดคือ งบประมาณเป็นของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่ผู้รับผิดชอบโครงการกลับกลายเป็น นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่เข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างและการจัดซื้อจัดจ้าง
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการบริหารแบบไร้หลักความชอบด้วยกฎกติกาได้เป็นอย่างดี และทำให้เกิดคำถามว่ายังมีโครงการที่ใช้วิธิพิเศษไม่เป็นไปตามระบบปกติเช่นเดียวกับกรณีการปรับปรุงทำเนียบอีกกี่โครงการ แล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการบริหารแบบปลอดโกงจะเกิดขึ้นได้จริงตามคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเมื่อการปฏิบัติมันมีพิรุธไม่เป็นไปตามคำพูดที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน
การจะสร้างความเชื่อมั่นได้จึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่ประชาชนวางใจจากหน่วยงานที่เป็นอิสระไม่ใช่ตั้งกรรมการมาตรวจสอบกันเอง ดังนั้นหากพล.อ.ประยุทธ์ มีเจตจำนงที่จะสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นก็ตั้งกรรมการอิสระที่ไม่มีส่วนได้เสียขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้ มีกรอบเวลาทำงานที่ชัดเจนเพื่อสรุปถึงปัญหาและคนที่ต้องรับผิดชอบ
แต่ถ้ายังปล่อยให้มีการชี้แจงที่ยิ่งเพิ่มข้อสงสัยมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอง
เริ่มตั้งแต่การอ้างว่าไมค์ที่มีราคาแพงนั้นเป็นรุ่นพิเศษ ทันสมัย แต่ไม่ได้ตอบว่าแล้วจำเป็นที่จะต้องใช้ไมค์ที่มีคุณสมบัติเลอเลิศดังกล่าวหรือไม่ เพราะหากบอกว่าสามารถใช้ไมค์นำเสนองานได้ ก็ต้องถามว่าแล้วจะมีคอมพิวเตอร์วางตรงหน้ารัฐมนตรีทำไม ถ้าอ้างว่าสามารถป้องกันการแฮ๊คข้อมูลก็ต้องถามว่าแล้วระบบที่ทำเนียบรัฐบาลมีอยู่ไม่สามารถป้องกันได้หรือ ถ้าทำได้ต้องสิ้นเปลืองที่จะต้องจ่ายเพิ่มทำไม
ความพยายามที่จะอ้างถึงความทันสมัยมาตอบโจทย์เรื่องราคาแพง จึงกลายเป็นประเด็นมัดตัวว่า ปฏิบัติสวนทางนโยบายที่บอกว่าจะยึดหลักประหยัดและพอเพียง
ที่แย่ไปกว่านั้นคือเมื่อจนมุมไม่สามารถชี้แจงเรื่องราคาที่แพงหฤโหดได้ก็กลับอ้างว่ายังไม่มีการเซ็นสัญญา จนเกิดคำถามกลับมาว่า ยังไม่มีการเซ็นสัญญาทำไมจึงมีการส่งของและติดตั้งได้ เท่ากับว่าการดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ จะมีเอกชนรายไหนที่ยอมส่งสินค้าให้โดยที่ยังไม่ทำสัญญาและไม่ได้เงิน
พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งการให้ พล.ต.อ.อดุลย์ เจ้าของเรื่อง ชี้แจงเรื่องนี้ทั้งระบบก่อนเป็นอันดับแรก และตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวน พร้อมกับการประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่มีการใช้วิธีพิเศษเช่นนี้อีก ไม่เช่นนั้นรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ติด “กับดักความโลภ” มักใช้วิธีพิเศษในการใช้จ่ายงบประมาณจนกลายเป็นจุดเสื่อม กระทั่งถูกประชาชนขับไล่ในที่สุด