xs
xsm
sm
md
lg

ขอคืน“สะพานมอญ”แห่งศรัทธา...คืนความสุขให้ชาวสังขละบุรี/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ค Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ภาพศรัทธา บนสะพานแห่งศรัทธา สะพานมอญสังขละเมื่อครั้งอดีตไม่นานมานี้
“สะพานมอญ” สังขละบุรี มีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า “สะพานอุตตมานุสรณ์” ที่ตั้งตามชื่อของ “หลวงพ่ออุตตมะ” หรือ “พระราชอุดมมงคล” แห่งวัดวังก์วิเวการาม พระเกจิชื่อดัง ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าของชาวมอญ ซึ่งเป็นดังศูนย์รวมจิตใจของทั้งชาวไทย ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงแห่งเมืองสังขละบุรี(อ.สังขละบุรี) จ.กาญจนบุรี

สะพานมอญสังขละเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ในปี 2528 แล้วเสร็จสิ้นในปี 2530 เป็นสะพานไม้ที่ยิ่งใหญ่สวยงาม นับเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในเมืองไทย และยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า โดยข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าสะพานมอญสังขละ มีความยาว 850 เมตร แต่ไกด์เยาวชนในพื้นที่บอกกับผมว่าสะพานแห่งนี้ยาว 455 เมตร
พลังแห่งศรัทธาก่อให้เกิดเป็นสะพานไม้อันทรงคุณค่า
สะพานมอญได้รับฉายาว่าเป็น “สะพานแห่งศรัทธา” เพราะสร้างขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญที่มีต่อศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะ ผู้นำการก่อสร้างสะพาน ที่เมื่อสร้างแล้วเสร็จ สะพานแห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์คู่เมืองสังขละ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อที่มีคนเดินทางมาสัมผัสชื่นชมในความงามอันเกิดจากแรงศรัทธากันอย่างต่อเนื่อง

ผมมีโอกาสได้ไปสัมกับสะพานมอญครั้งแรกเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว รู้สึกประทับใจในความสวยงามจากงานฝีมือภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ไม่เนี้ยบแต่ดู“ขลัง” และ “คลาสสิค” จากนั้นก็มีโอกาสได้ไปเที่ยวชมอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว(56) วันที่ 28 ก.ค. ผมรู้สึกใจหาย เมื่อได้ทราบข่าวว่า เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก พัดเอาสวะ ท่อนซุง ตอไม้ ไปปะทะกับตอม่อสะพาน จนเสียหายทำสะพานขาดยาวประมาณกว่า 50 เมตร
ภาพสะพานที่พังขาด หลังน้ำป่าพัดสิ่งของปะทะ
หลังสะพานมอญขาดก็มีคำถามตามมาทั้งจากคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว ว่าเมื่อไหร่จะดำเนินการซ่อม? และจะซ่อมออกมาในรูปแบบไหน? แต่ส่วนใหญ่อยากให้คงแบบของเดิมไว้ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ สัญลักษณ์ และจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยว ส่วนเสา(ไฟ)หงส์ที่เพิ่งสร้างเติมเข้าไปใหม่ หลายๆคนบอกไม่ต้องมีก็ได้ เพราะดูประดักประเดิดไม่กลมกลืน

อย่างไรก็ดีในช่วงระหว่างรอน้ำลดเพื่อดำเนินการซ่อมสะพาน ทางชาวบ้านในพื้นที่ ทหารจากกองกำลังสุรสีห์ และนักท่องเที่ยวจิตอาสากลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำชั่วคราวขึ้น เป็นแพลูกบวบไม้ไผ่ยาว 300 เมตร ใช้เวลาสร้างแค่ 6 วัน และใช้งบประมาณการสร้าง 0 บาท เพราะไม้ไผ่ตัดจากในพื้นที่ ค่าแรงไม่มี เพราะแต่ละคนมาร่วมกันสร้างด้วยความศรัทธา
สะพานลูกบวบที่สร้างเป็นสะพานข้ามแม่น้ำชั่วคราวหลังสะพานมอญพังขาด
ด้วยความสวยงามทรงเสน่ห์ ทำให้สะพานลูกบวบหลังสร้างเสร็จได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่มีการถ่ายภาพ โพสต์และแชร์ลงในโซเชียลมีเดียกันอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความไร้วี่แววว่าทางภาครัฐที่รับงานไปจะดำเนินการซ่อมสะพานกันเมื่อไหร่

ครั้นเมื่อข้ามปี 56 สู่ 57 น้ำลด ตอก็เริ่มผุดเมื่อข่าวคราวการซ่อมสะพานยังคงไร้วี่แวว จนหลายๆคนตั้งคำถามว่าตกลงทางภาครัฐ ผู้ปกครอง ที่รับเรื่องไปจะซ่อมสะพานในปีนี้(57) หรือปีหน้า(58) หรือชาติหน้า ทั้งๆที่ทางวัดวังก์วิเวการามนั้นมีอุปกรณ์พร้อม เครื่องมือพร้อม ที่สำคัญคือมี“คนพร้อม” ทั้งชาวมอญ ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มจิตอาสา ที่พร้อมจะมาช่วยงานนี้ด้วยแรงศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม
วิถีชาวสังขละที่ผูกพันกับสะพานมอญ
ความนี้ล่วงเลยมาถึงเดือน ก.พ. 57 นายปกรณ์ น้อยเกตุ นายกเทศมนตรีเทศบาล ต.วังกะ อ.สังขละบุรี ได้ออกมาให้ข้อมูลผ่านผู้จัดการออนไลน์ว่า(4 ก.พ.) ทราบว่าทางจังหวัดกาญจนบุรี จะใช้วิธีการซ่อมบูรณะสะพานด้วยการจ้างเหมา หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะทำให้การดำเนินการล่าช้าไปอีก จะด้วยประการใดก็ตามตนเชื่อว่า ทางวัดวังก์วิเวการาม ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่พร้อมอยู่แล้วสามารถระดมกำลังของชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยกันซ่อมแซมบูรณะเองได้ และเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะชาวบ้านในพื้นที่ต่างเคยมีประสบการณ์ และผ่านการซ่อมบำรุงสะพานมาแล้วกันทั้งนั้น

อีกทั้งยังเชื่อว่า หากทางจังหวัดกาญจนบุรี จะใช้วิธีแบบรับเหมาก็จะเป็นการใช้เงินนับสิบล้านบาท เงินที่ใช้จะแตกต่างจากการที่ปล่อยให้ทางวัดดำเนินการเอง และตนเชื่อว่าจากพลังแห่งศรัทธาที่ยังมีต่อหลวงพ่ออุตตมะ จะมีจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยระบบราชการ พลังศรัทธาก็จะเสื่อมถอยลงไป เพราะสะพานแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของชาวอำเภอสังขละบุรีไปแล้ว
ภาพชาวบ้านประท้วงทวงคืนสะพานมอญ จากเพจ สะพานมอญ โมเดล
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า หลายเดือนที่ผ่านมาตนถูกซักถาม และถูกต่อว่ามามากว่าเมื่อไรจะซ่อมสะพานเสร็จเสียที แต่ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ จึงรู้สึกลำบากใจมาก แต่ก็ได้พยายามอธิบายให้ทุกคนเข้าใจถึงขั้นตอนต่างๆ จนทุกคนเข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจปริมาณน้ำในแม่น้ำซองกาเรีย บริเวณสะพานไม้พบว่า ปริมาณน้ำเริ่มลดระดับลงไปมาก ทำให้สะพานลูกบวบลดระดับต่ำลงไปตามผิวของน้ำ อีกทั้งไม้ไผ่เริ่มเสื่อมสภาพลงตามเวลา อุปสรรคที่พบคือ เมื่อตลิ่งสูงชันขึ้น ทำให้ประชาชน และเด็กนักเรียนเริ่มเดินทางไปมาลำบาก บางรายต้องให้บุตรหลานนั่งรถโดยสารไปโรงเรียนเพราะเกรงว่าจะได้รับอันตราย ซึ่งตนเชื่อว่าทางวัดสามารถดำเนินการซ่อมเองได้แต่ติดอยู่ที่ทางจังหวัดรับไปดำเนินการเอง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะอำนาจอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี แต่เพียงผู้เดียว จากการสอบถามชาวบ้านก็พบว่า ทุกคนเริ่มอึดอัดใจมากขึ้น แต่ไม่มีใครกล้าพูดทั้งๆ ที่เงินที่จะนำไปซ่อมบูรณะก็มีแล้ว” นายปกรณ์ กล่าว...
สะพานมอญหลังปรับปรุงใหม่ ก่อนที่จะพังขาดในเดือน ก.ค. 56
ครับหลังจากนั้นเรื่องการซ่อมแซมสะพานก็ซาไปจากข่าวการเมือง กปปส. รัฐประหาร คสช. ฟุตบอลโลก จนกระทั่งเกิดเป็นข่าวดังเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า 120 วัน ในการดำเนินการซ่อมสะพาน ซึ่งได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้าทำไปได้แค่ 10%(บางข้อมูลบอก 30%)

สำหรับการซ่อมแซมสะพานมอญครั้งนี้ ทางจังหวัดกาญจนบุรีได้ทำสัญญากับภาคเอกชน ในวงเงิน16,347,000 บาท(หรือราวๆ 16 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อเสร็จไม่ทันตามกำหนด ทางจังหวัดจึงได้ออกหนังสือชี้แจง ว่าจะบังคับให้ผู้รับจ้างทำไปตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยต้องเสียค่าปรับอัตราวันละ 16,347 บาทต่อวัน
แคมเปญรณรงค์ทวงคืนสะพานมอญจากเพจ สะพานมอญ โมเดล
เรื่องนี้ส่งผลให้มีคนไม่พอใจจำนวนมาก(ทั้งคนในพื้นที่สังขละ เมืองกาญจน์ และนักท่องเที่ยว) จนมีคนตั้งเพจ facebook ขึ้นในชื่อ “สะพานมอญ โมเดล” เพื่อเปิดโอกาสให้คนเข้ามาโพสต์แสดงทัศนะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาด่าความห่วยแตกของภาครัฐ และตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส ส่วนที่เด็ดดวงก็คือพวกที่นำข้อมูลมาแฉ ใครสนใจก็เข้าไปดู ไปร่วมแสดงความคิดเห็นได้ในเพจดังกล่าว
หลังสะพานพังขาด มีการสรางสะพานลูกบวบขึ้นมา กลายเป็นจุดท่องเที่ยวเคียงคู่กัน
ขณะที่ในช่วงสายของวันที่ 6 ที่เป็นวันครบกำหนดสัญญาการซ่อมวันสุดท้าย ก็ได้มีชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน มายืนประท้วงที่สะพานมอญ พร้อมขอทวงคืนสะพานเพื่อให้พวกเขามาดำเนินการซ่อมแซมกันเอง ด้วยงบประมาณจากเงินบริจาคที่มีอยู่ราว 3 ล้านบาท ซึ่งทางพระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ก็ได้ออกมาขอบิณฑบาต ขอให้ทางวัดและชาวบ้านบูรณะเข้ามาซ่อมแซมสะพานมอญเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะทุกคนพร้อมที่จะทำด้วยใจและด้วยแรงศรัทธา
ชาวบ้านมาประท้วงทวงคืนสะพานมอญ ในวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา(ภาพจากเพจ สะพานมอญ โมเดล)
แต่ทว่า...ไฉนเรื่องนี้ยังคงไร้คำตอบและชาวบ้านก็ต้องรอสะพานกันต่อไป ถ้าฝนตกหนักลงมา น้ำหลากมา ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน อีกทั้งยังมีข่าวว่าทางเขื่อนเขาแหลมจะกักเก็บน้ำไว้ถึงเดือนกันยายนนี้เท่านั้น เพราะถ้าฝนตกเยอะๆ เขื่อนก็ต้องปล่อยน้ำลงมา ยิ่งเป็นปัญหายากขึ้นไปอีก
อีกหนึ่งภาพการประท้วงของชาวบ้าน จาก เพจน้ำจันทร์ ที่โพสต์ผ่านเพจ สะพานมอญ โมเดล
กับเรื่องนี้ผมก็สงสัยอยู่ว่า ทำไมภาครัฐ ทางจังหวัด ไม่ให้ชาวชุมชนโดยการนำวัดวังก์วิเวการามเป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซมตามวิถีดั้งเดิม ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านของเขา โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน

เพราะต้นกำเนิดของสะพานแห่งนี้ก็มาจากการสร้างของชาวบ้านอันเนื่องด้วยแรงจิตศรัทธา ฉะนั้นแม้ภาครัฐที่แม้ชาวบ้านหลายๆคนจะไม่มีศรัทธาให้ ก็อย่าได้ทำลายศรัทธาของชาวบ้าน เพราะสะพานมอญเป็นมากกว่าสะพานไม้ธรรมดาทั่วไป
ข้อความแสดงศรัทธา ความผูกพันที่ชาวบ้านมีต่อสะพานมอญและหลวงพ่ออุตตมะ(ภาพจากเพจ สะพานมอญ โมเดล)
หากแต่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาของชาวมอญที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะ เป็นสะพานแห่งศรัทธาอันเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้าน และเป็นสะพานอันทรงคุณค่าทั้งทางด้านกายภาพและด้านจิตใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

ซึ่งผู้ปกครองที่มีอำนาจบางคนยากจะเข้าใจ
*****************************************

ผู้สนใจสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นแสดงได้ที่ “สะพานมอญ โมเดล” https://www.facebook.com/sangkraburiwoodbridge
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น