xs
xsm
sm
md
lg

แฉบริษัทรับซ่อม “สะพานมอญ” ประกันโครงสร้างเพียง 1 ปี ชาวมอญค้านต่อสัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - ชาวมอญสังขละบุรี รวมตัวค้านต่อสัญญาว่าจ้างบริษัทรับเหมาซ่อมสะพานไม้ หลังหมดสัญญาว่าจ้างเหตุทำงานไม่คืบ พร้อมชูป้าย “คสช.ช่วยด้วย” ด้านเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ถึงกับอึ้ง หลัง ปภ.กาญจนบุรี หลุดปากเผยเกี่ยวกับการรับประกันความเสียหายโครงสร้างที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการก่อสร้างเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น

จากกรณีบริษัท ป.รุ่งเรือง วัสดุภัณฑ์ จำกัด ผู้จ้างรับเหมาซ่อมแซมบูรณะสะพานไม้ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานมอญ หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ หลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำซองกาเลีย ระหว่าง ต.วังกะ กับ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยมีจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้ว่าจ้างเซ็นต์สัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 9 เม.ย.57 สิ้นสุดสัญญาว่าจ้างลงในวันนี้ (6 ส.ค.) ซึ่งรวมระยะเวลา 120 วันพอดี

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. วันนี้ (6 ส.ค.) ที่บริเวณสะพานพบคนงานของบริษัท ยังคงทำการก่อสร้างสะพานมอญตามปกติ โดยมีนายสมศักดิ์ สุวัฒนรัตน์ เจ้าของบริษัท ป.รุ่งเรือง วัสดุภัณฑ์ มาคุมงานด้วยตนเอง

เวลาประมาณ 10.30 น. ได้มีกลุ่มชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมอญ ที่อาศัยอยู่ที่ชุมชนชาวมอญ บ้านวังกะ หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เกือบ 200 คน เดินทางมารวมตัวกันที่เชิงสะพานฝั่งมอญ จากนั้นได้เดินรวมตัวกันไปตามสะพานจนสิ้งสุดบริเวณจุดที่สะพานขาดออกจากกัน

โดยชาวบ้านต่างชูป้ายโดยมีข้อความต่างๆ เช่น “ท่านผู้ว่าฯ โปรดยกเลิกสัญญา ซ่อมสะพานไม้เพื่อประชาชน คสช.ช่วยด้วย” “คืนสะพานไม้ให้วัด ซ่อมบำรุงเองเถอะ จะได้ใช้สะพานไม้กันเสียทีนะขอรับท่านพ่อเมืองกาญจน์” หรือบางข้อความเขียนว่า “ยกเลิกสัญญา = บุญ ขยายสัญญา = บาป เลือกเอา ท่านมีสิทธิเลือก” เป็นต้น

โดยระหว่างนั้นชาวบ้านต่างตะโกนขอร้องให้ทางจังหวัดกาญจนบุรี มอบให้ทางวัดร่วมมือกับประชาชนดำเนินการซ่อมบูรณะสะพานเองตามพลังแห่งความศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะ หรือพระราชอุดมมงคล อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม โดยกลุ่มชาวบ้านใช้เวลาแสดงสัญลักษณ์ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นได้จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการซ่อมบูรณะสะพานไม้ที่ล่าช้ากันไปต่างๆ นานา

นายกฤษณะ ปุณณะการี อายุ 32 ปี ชาวบ้านเปิดเผยว่า การรวมตัวของชาวบ้านในวันนี้เป็นการสมัครใจของทุกคน ทั้งหมดมาเพื่อเรียกร้องทวงสิทธิสะพานไม้กลับคืนมาเพื่อให้ทางวัดและชุมชนได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมเอง เนื่องจากชาวบ้านทุกคนต่างเห็นว่าการดำเนินการก่อสร้างที่ทางบริษัทเป็นผู้ดำเนินการนั้นล่าช้ามาก

จนกระทั่งหมดสัญญาการว่าจ้างงานก็ยังไม่มีความคืบหน้าไปถึงไหน ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมต้องมาทวงสิทธิ เพราะชาวบ้านเห็นว่าคุณภาพไม่ที่ผู้รับเหมามาซ่อมแซมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น จากไม้แดง กับไม้ตะเคียน มาเพิ่มเป็นไม้เต็ง ถึงแม้ไม้เต็ง จะเป็นไม้เนื้อแข็งก็จริง แต่เมื่อมาอยู่ในน้ำนานๆ ไม่ก็จะเปราะง่ายมาก

อีกทั้งจากการที่เคยพูดคุยกับอดีตวิศวกรท่านหนึ่งทราบว่า เขาเคยบอกว่าผู้รับเหมาไม่ค่อยทำตามสัญญา คือ ไม่ทำตามแผนที่วิศวกรออกแบบให้ จึงทำให้ชาวบ้านเกรงกลัวกันว่า หากทางบริษัทซ่อมบูรณะสะพานแล้วเสร็จ อาจจะเกิดอุบัติเหตุทำให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตก็เป็นได้

ดังนั้น ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันมาแสดงสัญลักษณ์เพื่อขอทวงสิทธิคืนให้แก่ทางวัดเพื่อชาวบ้านจะได้ร่วมกันซ่อมแซมบูรณะสะพานมอญให้แล้วเสร็จตามวิถีของชาวบ้าน และเชื่อว่าไม้ที่ทางวัดจะนำมาซ่อมแซมน่าจะถูกต้องตามกฎหมาย และเชื่อว่าพระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม คงมีแนวทางของท่านอยู่แล้ว เราชาวบ้านขอเพียงแค่ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี คืนสิทธิให้แก่ทางวัดเท่านั้นก็พอ

แต่ถ้าหากทางจังหวัดยังมีการขยายสัญญาให้แก่ทางบริษัทดำเนินการต่อชาวบ้านก็คงจะพร้อมใจกันใช้มาตรการเคลื่อนไหวเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม หากไม่เป็นผล ก็จำเป็นจะต้องยื่นเรื่องไปถึง คสช.ให้เข้ามาช่วยเหลือ หรืออาจจะขอให้คณะ คสช.เข้ามาตรวจสอบขั้นตอนการว่าจ้างว่าดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน และทางบริษัทได้ซ่อมแซมตามแบบที่ทางวิศวกรออกแบบมาหรือไม่ แต่ถ้าหากเป็นไปได้ก็อยากให้ คสช.เข้ามาตรวจสอบโดยเร็ว

ด้านนายสมศักดิ์ สุวัฒนรัตน์ เจ้าของบริษัท ป.รุ่งเรือง วัสดุภัณฑ์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้ให้เจ้าหน้าที่ของบริษัททำการถ่ายภาพการเคลื่อนไหวของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง และในภายหลังได้ยอมเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า หากทางจังหวัดกาญจนบุรี ไม่ขยายสัญญาให้ ทางบริษัทก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะบริษัทเป็นเพียงผู้รับจ้าง

ส่วนปัญหาที่ทำให้งานซ่อมแซมล่าช้าเพราะมีปัญหาเรื่องไม้ที่ต้องนำมาจากทางภาคอีสาน ซึ่งเส้นทางขนส่งค่อนข้างไกล ส่วนเรื่องการจะขอขยายสัญญาต่อหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุย แต่ทางบริษัทจะดำเนินการตามสัญญาให้ดีที่สุด และทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามสัญญาที่ทำไว้

สำหรับการที่มีชาวบ้านออกมาทวงสิทธิเพื่อให้ทางวัดเป็นเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งตรงนี้จะต้องมาพูดคุยกัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนตัวแล้วไม่ทราบ และขอให้ว่ากันไปตามระเบียบของสัญญา และถึงแม้สัญญาจะสิ้นสุดลงในว้นนี้ ทางบริษัทก็จะดำเนินการต่อไปเพราะทางบริษัทเองไม่ได้ทิ้งงานแต่อย่างใด

ส่วนการที่บริษัทถูกปรับก็ดำเนินการไปตามสัญญาทุกอย่าง แต่อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านเป็นอย่างดี เพราะชาวบ้านต่างมีความรัก และผูกพันต่อสะพานแห่งนี้มาก ซึ่งตนก็จะพยายามดำเนินการซ่อมบูรณะสะพานให้คงอัตลักษณ์เดิมเอาไว้ให้มากที่สุด เพราะคนงานส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไม้ที่นำมาใช้ก็เป็นไม้แดงทั้งหมดตามสัญญา และไม่รู้สึกหนักใจแต่อย่างใด

ต่อมา เวลา 10.30 น. นายชาธิป รุจนเสรี นายอำเภอสังขละบุรี ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการตรวจการจ้าง พร้อมด้วยนายฉัตรณรงค์ ศีริพร ณ ราชสีมา หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี นายธนิต ทองเจริญยวง นายช่างโยธา 5 สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และนายช่างโยธาชำนาญงานสังกัดสำนักงาน ปภ.สาขาทองผาภูมิ ร่วมประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานการซ่อมบูรณะสะพานอุตตมานุสรณ์ ของบริษัท ป.รุ่งเรือง วัสดุภัณฑ์ จำกัด เพื่อรายงานให้ นายชัยวุฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีทราบ เพื่อพิจารณาว่าจะขยายสัญญาว่าจ้างออกไปอีกหรือไม่

การประชุมใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ จากนั้นคณะทั้งหมดได้เดินทางไปกราบนมัสการ พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวลาการาม เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการซ่อมบูรณะสะพาน โดยทางเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ต้องการให้ทางจังหวัดยกเลิกสัญญากับบริษัท และให้ทางวัด และชาวบ้านช่วยกันซ่อมบูรณะกันเองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ส่วนปัญหาเรื่องไม้แดง ทางวัดจะหามาเองด้วยการทำหนังสือถึงเจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบไม้แดงที่จมอยู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ พร้อมให้เหตุผลต่อคณะทั้งหมดว่าไม่ที่จมอยู่ใต้น้ำหากนำมาซ่อมบูรณะสะพาน ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหาย เพราะหากปล่อยเอาไว้ใต้น้ำก็คงจะไม่มีประโยชน์ เชื่อว่าเจ้ากระทรวงคงจะรับพิจารณา

การพูดคุยกันครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง และผลสุดท้ายเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการราม จึงยอมเปิดโอกาสให้ทางบริษัททำงานให้ถึงที่สุด หากไม่ไหวจริงๆ แล้วทางวัดจะเป็นคนซ่อมแซมเอง
 
แต่ในที่สุด เมื่อมีผู้สอบถาม นายฉัตรณรงค์ ศีริพร ณ ราชสีมา หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี เกี่ยวกับการรับประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง หลังจากบริษัทซ่อมบูรณะสะพานแล้วเสร็จ ซึ่งนายฉัตรณรงค์ ได้ตอบว่า รับประกันความเสียหายเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งหลังจากพระมหาสุชาติ สิริปัญโญ ทราบความจริง ถึงกับมีสีหน้าไม่สบายใจ พร้อมกับพูดขึ้นมาทันทีว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้นทางวัดขอนำกลับมาซ่อมเองดีกว่า”




กำลังโหลดความคิดเห็น