กาญจนบุรี - รอง ผวจ.กาญจนบุรี ยันงบซ่อมสะพานมอญ หลวงพ่ออุตตมะ เป็นไปตามระบบทางราชการ ปิดช่องทุจริต วอนสังคมสบายใจได้ เหตุซ่อมล่าช้าพบมีปัญหาเรื่องไม้ ส่วนจะปรับ หรือขยายสัญญาให้ทางบริษัทหรือไม่ต้องรอให้สิ้นสุดสัญญา 6 ส.ค.เสียก่อน ด้านข่าว นอภ.สังขละบุรีลาออก โดยให้เหตุผลไม่เชี่ยวชาญ เคลียร์ปัญหาแล้ว
เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (1 ส.ค.) นายกาศพล แก้วประพาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า หลังจากที่สะพานมอญ หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ หลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำซองกาเลีย ระหว่าง ต.วังกะ กับ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พังถล่มลงมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.2556 จนถึงขณะนี้ก็ครบ 1 ปีกับ 4 วัน ที่ผ่านมา ประชาชน หรือสังคมอาจจะมองว่าเวลาผ่านมา 1 ปี แต่การซ่อมแซมสะพานยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งมีคนสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่นทำไมช้า ก็ขอชี้แจงตรงนี้เลยว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สะพานพังถล่มเสียหายใหม่ๆ ขณะนั้นเป็นช่วงที่มีประมาณน้ำท่วมสูงมาก กระแสน้ำเชี่ยวกราก จากอุปสรรคดังกล่าวจึงทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ชาวบ้านในพื้นที่เองต่างก็เข้าใจดี
อยากขอทำความเข้าใจต่อสังคมว่า หลังจากเกิดเหตุสะพานพังถล่มลงมา ก็มีหน่วยงานต่างๆ ให้การบริจาคเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก และทันทีที่กระแสน้ำนิ่ง ทางจังหวัดก็ได้ตั้งทีมนักประดาน้ำขึ้นมาช่วงเดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนมกราคม 2557 นักประดาน้ำได้ลงไปงมหาไม้ที่จมอยู่ใต้ท้องน้ำเพื่อนำขึ้นมาซ่อมบูรณะสะพานอย่างเต็มกำลัง แต่เนื่องจากน้ำลึก และไหลเชี่ยวมาก เราเกรงว่าเจ้าหน้าที่นักประดาน้ำที่มาช่วยกันจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต
จึงจำเป็นต้องสั่งยกเลิกภารกิจดังกล่าว แต่ก็ต้องเสียเวลาไปประมาณ 2 เดือนในการงมค้นหาไม้ที่จมอยู่ใต้ท้องน้ำตลอดระยะเวลา 2 เดือน สามารถนำไม้ขึ้นมาได้เพียง 26 ท่อนเท่านั้น ส่วนสภาพของไม้ที่ยังคงจมอยู่ใต้ท้องน้ำก็เกิดการทับถม มีสภาพฉีกขาดเสียหายไม่สามารถนำกลับมาซ่อมแซมสะพานได้อีกจึงจำเป็นต้องยอมทิ้งไป
จากปัญหาดังกล่าว ทางจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมปรึกษาหารือกันว่า จะมีวิธีซ่อมบูรณะสะพานให้ได้โดยเร็วได้อย่างไร และการประชุมหารือแต่ละครั้ง จะมีผู้นำชุมชนของอำเภอสังขละบุรี และเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม มาเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง และสุดท้ายทุกคนมีความเห็นพร้อมกันว่า จะใช้ระบบการว่าจ้างบริษัทเข้ามารับเหมาก่อสร้าง เพราะหากปล่อยให้ชาวบ้านซ่อมแซมบูรณะกันเองคงไม่สามารถทำได้ เพราะความเสียหายของสะพานไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
และหลังจากวิศวกรได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่เสียหาย ก็ปรากฎว่า จุดที่สะพานหักพังลงเป็นรูปตัววี จึงให้ช่างผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านวิศวกรสามัญ ที่ได้รับการรองรับจากทางราชการเข้าไปสำรวจ และได้มีการออกแบบ จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2557 จึงสามารถออกแบบได้ชัดเจน และวิศวกรได้คำนวณราคางบประมาณการก่อสร้างออกมาอยู่ที่ 16 ล้านบาทเศษ ทุกคนต่างก็เห็นด้วย และได้บริษัทรับเหมาในช่วงต้นเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา มีการทำสัญญากันไปในวันที่ 9 เมษายน 2557 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ที่จะถึงนี้
โดยการว่าจ้างจะต้องยึดระเบียบของทางราชการเป็นหลัก เพราะเราเป็นห่วงเรื่องของความโปร่งใส โดยการใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุทางราชการ ซึ่งเป็นการป้องกันการความโปร่งใส หรือป้องกันการทุจริต
โดยระหว่างการก่อสร้างทราบว่า ทางบริษัทมีการแสวงหาไม้ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีไม่มี ทางบริษัทจึงจำเป็นต้องไปนำไม้มาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะต้องเป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ คือ ไม้แต่ละท่อนจะต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร ยาว 8 เมตร ขณะนี้งานโครงสร้างพื้นฐานฐานรากทำได้ไปในระดับหนึ่งแล้ว และหากสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้สำเร็จ โครงสร้างด้านบนก็จะสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ถึงแม้จะมีฝนตกลงมาบ้างก็ตาม
สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างที่ค่อนช้างสูง ตนขอชี้แจงต่อสังคมว่า ในอดีตที่ผ่านมา สะพานแห่งนี้เคยเสียหายมาแล้ว แต่ไม่ใช่เป็นการพังถล่มลงมาเสียหายเช่นในครั้งนี้ เป็นเพียงแค่การเสื่อมสภาพของไม้ที่มีอายุการใช้งานมานานหลายปีเท่านั้น และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบูรณะอยู่ที่ประมาณ 5 ถึง 6 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบสภาพความเสียหายต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ประกอบกับทางจังหวัดต้องการให้บริษัทคู่สัญญานำไม้ที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาซ่อมบูรณะสะพานเท่านั้น ห้ามนำไม้ผิดกฎหมายเข้ามาอย่างเด็ดขาด ซึ่งการนำไม้เข้ามาครั้งแรก ทางจังหวัดยังชื่นชมทางบริษัทว่า หาไม้มาได้ตามมาตรฐาน และถูกต้องตามกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้ามาตรวจสอบก็พบว่า ได้มาอย่างถูกต้อง
แต่มาภายหลัง เกิดปัญหาเรื่องการหาไม้มาซ่อมแซม ซึ่งทางจังหวัดเองก็เข้าใจ เพราะขนาดของไม้ที่จะนำมาซ่อมแซมค่อนข้างหายาก เพราะจะต้องได้ตามมาตรฐานตามแบบที่กำหนด และปัจจุบัน ราคาไม้ค่อนข้างแพง และหายาก ส่วนที่สังคมกำลังจับตามองว่าทำไม่ถึงใช้งบประมาณการซ่อมสะพานครั้งนี้สูงมาก ก็เพราะราคาไม้สูงขึ้น และทางวิศวกรผู้ออกแบบก็เป็นผู้ประเมินราคาการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว
ส่วนประเด็นที่มีข่าวว่า นายชาธิป รุจนเสรี นายอำเภอสังขละบุรี ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการจ้างลาออกนั้น ซึ่งนายอำเภอเองก็ให้เหตุผลที่ลาออกว่า งานค่อนข้างมีความละเอียด เกี่ยวกับการก่อสร้างโดยเฉพาะเกี่ยวกับขั้นตอนของไม้ที่ก่อสร้าง ซึ่งท่านเองให้เหตุผลว่าท่านไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ จึงขอลาออกเพื่อให้คนอื่นที่มีความรู้ด้านนี้เข้ามาตรวจสอบแทน จะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตนก็ได้อธิบายไปว่า เรามี ปภ.ฝ่ายโยธา และก็วิศวกรฝ่ายช่างจาก อบจ.คอยช่วยอยู่ ตนได้อธิบายจนท่านเข้าใจ และนายอำเภอก็รู้สึกสบายใจขึ้น จึงยังไม่มีการลาออกตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องที่สังคมเป็นห่วงเกี่ยวกับการทุจริตนั้น ตนขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่มีช่องทางไหนที่จะให้ใครเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ได้เลย เพราะเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณมันมีขั้นตอน มีทั้งวัด ชุมชน และหน่วยงานรัฐ มาช่วยกันดูแล หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ เพราะเงินงบประมาณอยู่ในกฎระเบียบของพัสดุสำนักนายกรัฐมนตรี การเบิกจ่ายจะต้องเป็นไปตามระบบทางราชการทั้งหมด ดังนั้น จึงตัดปัญหาเรื่องการทุจริตออกไปได้เลย และขอให้ชุมชน และสังคมสบายใจได้
“ผมขอยืนยันว่า ทางจังหวัดจะทำให้ดีที่สุด ส่วนจะมีการปรับบริษัทผู้รับเหมา หรือจะขยายสัญญาออกไปหรือไม่ จะต้องรอให้สิ้นสุดสัญญาว่าจ้างในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ที่จะถึงนี้เสียก่อน จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงจะมาร่วมประชุมเพื่อหามาตรการต่อไป” นายกาศพล กล่าว