กาญจนบุรี - รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี การันตีงบซ่อมบูรณะสะพานไม้ หรือสะพานอุตตมานุสรณ์หลวงพ่ออุตตมะ 16 ล้านบาทโ ปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เผยการซ่อมแซมก่อสร้างจะเริ่มจริง 1 มิ.ย.นี้ โดยยังเน้นคงอัตลักษณ์เดิมเพื่อความสบายใจของ ปชช. ขณะที่หญิงสาวชาวมอญ บ้านวังกะ เขียนลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุ “ชาวบ้านอยากให้หน่วยงานราชการชี้แจงอีกครั้งว่า งบฯ การซ่อมแซมทำไมถึงมีราคาสูงถึง 16 ล้านบาท เพราะนี่เป็นเพียงแค่งบซ่อมแซมเท่านั้น ไม่ใช่งบสร้างสะพานแห่งใหม่”
วันนี้ (29 พ.ค.) นายกาศพล แก้วประพาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวถึงความคืบหน้าการซ่อมบูรณะสะพานไม้ (สะพานมอญ) หรือสะพานอุตตมานุสรณ์หลวงพ่ออุตตมะ เชื่อมระหว่างชุมชนชาวมอญบ้านวังกะ หมู่ 2 และเขตเทศบาลตำบลวังกะ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่ถูกกระแสน้ำพัดพังขาดเป็น 2 ท่อน เมื่อวันที่ 28 ก.ค.56 และเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนก็จะครบรอบ 1 ปีเต็ม ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถซ่อมบูรณะสะพานได้ว่า ขณะนี้เราได้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วคือ บริษัท ป.รุ่งเรือง
“ขณะนี้ทางบริษัทกำลังดำเนินการเคลื่อนย้ายสะพานลูกบวบ รวมทั้งแพล่องของเอกชนที่อยู่ใกล้สะพานให้ออกไปให้ห่างจากสะพานระยะทางประมาณ 60-70 เมตร เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่มีการซ่อมแซมบุรณะ และทางบริษัทได้เริ่มทยอยเคลื่อนย้ายอุปกรณ์เข้าไปในพื้นที่แล้ว รวมทั้งไม้แดง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญก็ได้ทยอยนำเข้าไปในพื้นที่แล้วเช่นกัน” นายกาศพล กล่าว
นายกาศพล กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลรายละเอียดการซ่อมสะพานนั้น เราได้นำป้ายไปติดเอาไว้ที่บริเวณเชิงสะพานเพื่อให้ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจแล้ว สำหรับการลงมือซ่อมแซมจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป
สำหรับงบประมาณในการซ่อมแซม ได้ตั้งงบประมาณไว้เป็นเงิน จำนวน 16 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่ฝ่ายการก่อสร้างได้คำนวณไว้ ประกอบด้วย ฝ่ายโยธาธิการจังหวัด และฝ่ายวิศวกรโยธาสามัญขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี
ส่วนสาเหตุที่งบซ่อมแซมสะพานมีราคาสูงนั้น เพราะต้องซื้อไม้ที่มีราคาสูงเกือบ 10 ล้านบาท ส่วนไม้นั้นทางบริษัทได้ซื้อมาตามท้องตลาดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังจะต้องเสียภาษีต่างๆ อีก จึงทำให้ไม้ที่หาซื้อมามีราคาสูงตามไปด้วย
“เงินทุกบาทเราได้ดำเนินการตามระเบียบพัสดุ สำนักนายกรัฐมนตรี และหากมีการประมูลจะต้องใช้เวลาในการประมูลนานกว่า 2 เดือน จึงจะสามารถหาบริษัทมารับเหมางานได้ ดังนั้น เพื่อความรวดเร็วในการซ่อมบูรณะสะพานมอญขึ้นมาใหม่ให้ทันเวลาก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง จึงจำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษที่อยู่ในกรอบของระเบียบการพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรี อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ก็ต้องการให้มีการซ่อมแซมให้เร็วที่สุดคือ ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก” รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวยืนยัน
รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการซ่อมแซมบูรณะสะพานหลังจากมีการเซ็นสัญญาระหว่างบริษัทผู้รับเหมา กับจังหวัดกาญจนบุรี และหากทางบริษัทรับเหมาไม่สามารถซ่อมแซมบูรณะสะพานได้ทันตามกำหนด คือ 120 วัน ทางจังหวัดก็จะต้องดำเนินการตามระเบียบพัสดุ คือ บริษัทจะต้องถูกปรับ ส่วนจะปรับอย่างไร เป็นเงินเท่าไหร่ ต้องไปดูรายละเอียดที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง และรายละเอียดทั้งหมดได้มีการนำไปติดเอาไว้ที่เชิงสะพานแล้ว
ส่วนแรงงานที่ทางบริษัทจะนำมาซ่อมบูรณะสะพานนั้นก็ขึ้นอยู่กับทางบริษัทจะจ้างใครมา หรือจะจ้างชาวบ้านในพื้นที่ก็เป็นสิทธิของทางบริษัท และเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ความเป็นห่วงเรื่องการทุจริต ซึ่งตนขอยื่นยันว่า ทางจังหวัดได้ดำเนินการเกี่ยวกับเงินงบประมาณการซ่อมแซม เป็นไปตามระเบียบข้าราชการ เป็นไปตามระเบียบพัสดุสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเงินทุกบาทที่เป็นงบประมาณสามารถตรวจสอบได้
ดังนั้น ขอให้ประชาชนสบายใจได้ และหากยังมีหน่วยงานใด หรือสื่อมวลชนเองสงสัยว่าทำไมงบประมาณในการซ่อมบำรุงถึงมีราคาแพงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ก็ขอชี้แจงว่า ทุกครั้งที่ผ่านมา สะพานมอญแห่งนี้ไม่เคยได้รับความเสียหายมากมายเท่าครั้งนี้มาก่อน และเนื้อไม้ที่ขาดหายไปเราได้พยายามให้นักประดาน้ำงมหามาโดยตลอด ซึ่งตรงนี้ทำให้เสียเวลามากพอสมควร เพราะไม้ที่ได้มาไม่สามารถใช้การได้ เนื่องจากไม้ส่วนใหญ่ฉีกขาด
“ที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้เชิญผู้นำท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม มาประชุมปรึกษาหารือกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกคนต่างก็เห็นด้วยกับวิธีการซ่อมแซม และการซ่อมแซมบูรณะสะพานแห่งนี้ เราจะให้คงอัตลักษณ์เดิมเอาไว้ให้มากที่สุด และเชื่อว่าหลังจากซ่อมเสร็จชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจะเกิดความรู้สึกสบายใจอย่างแน่นอน เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีความศรัทธาต่อหลวงพ่ออุตตมะ อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม เช่นกัน” นายกาศพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พบมีผู้อ้างตัวว่าเป็นหญิงสาวชาวมอญ อยู่บ้านวังกะ หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี คนหนึ่ง ได้เขียนระบายความรู้สึกเกี่ยวกับการซ่อมแซมบูรณะสะพานมอญในครั้งนี้ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวข้อความว่า “... เราชาวบ้านต้องการแค่ขอให้ผู้รับเหมาบูรณะซ่อมแซมสะพานมอญให้เหมือนเดิมแบบที่เคยเป็น ขอร้องว่าอย่าเปลี่ยนแปลงเพราะเราอยากให้สะพานมอญยังคงเป็นสะพานมอญที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และยังคงเป็นที่ 2 ของโลก ไม่ใช่สะพานไม้ที่เคยยาวที่สุดในประเทศไทย หรืออดีตที่เคยเป็นที่ 2 ของโลก
เรายอมรับว่ากลัวมากๆ กับการซ่อมแซมสะพานในครั้งนี้ เพราะเราชาวมอญทำขึ้นมากับมือของพวกเราเอง เริ่มตั้งแต่ขุดหลุม ตั้งแต่ไม้ชิ้นแรกที่ใช้ตั้งฐาน แต่ตอนนี้ทางราชการเข้ามารับผิดชอบ อีกด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก่อนจะซ่อมแซมควรจะรู้ และอ่านประวัติของสะพานแห่งนี้ให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน หรือจะสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยร่วมกันลงมือก่อสร้าง และซ่อมแซมสะพานยามชำรุดทุกครั้ง
และพวกเราชาวบ้านวังกะ ที่เป็นชาวบ้านจริงๆ อยากให้หน่วยงานราชการช่วยชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจอย่างถ่องแท้อีกครั้งว่า งบประมาณในการซ่อมแซมทำไมถึงมีราคาสูงถึง 16 ล้านบาท เพราะนี่เป็นเพียงแค่งบสำหรับซ่อมแซมเท่านั้น ไม่ใช่งบสร้างสะพานแห่งใหม่ขึ้นมาทดแทนสะพานเก่า อีกทั้งระยะที่ซ่อมยาวประมาณ 100 เมตรเท่านั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยชี้แจงตรงนี้ด้วย...”