ประจวบคีรีขันธ์ - หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ท่านหญิงนักอนุรักษ์ ประทานโล่ และเกียรติบัตร พร้อมเหรียญพิทักษ์ช้างเนื่องในวันช้างไทย ให้แก่หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ชาวบ้าน และสื่อมวลชนที่ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฯ และสัตว์ป่าที่กุยบุรี พร้อมรับสั่งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกส่วน ให้ช่วยกันดูแลรักษาสัตว์ป่าทั้งช้าง และกระทิง ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในป่ากุยบุรี พร้อมเผยยังทรงสงสัยถึงสาเหตุการตายที่แท้จริงของกระทิงทั้ง 24 ตัว
วันนี้ (13 มี.ค.) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ท่านหญิงนักอนุรักษ์ เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีในงานวันช้างไทย ประจำปี 2557 ซึ่งทางอำเภอกุยบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี มูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
โดยมีนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น.ส.ณุวรรณา อนันตกิจไพศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายพงษ์พันธุ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี นายเชิดชัย จริยะปัญญา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาบ้านโป่ง นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ฝ่ายปกครองอำเภอกุยบุรี รวมทั้งเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี WWF. ประเทศไทย ทหารโครงการพระราชดำริ บ้านรวมไทย หน่วยทหารเฉพาะกิจจงอางศึก ตชด.ที่ 14 ค่ายพระมงกุฏเกล้า ตำรวจ สภ.กุยบุรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. และชาวบ้านกุยบุรี ร่วมพิธีจำนวนมาก
ทั้งนี้ หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ได้ทรงคล้องมาลัย และทรงปิดทองบนหัวกะโหลกของช้างพลายชุมพล ช้างป่าขนาดใหญ่ 1 ในช้างป่า 18 ตัวที่เสียชีวิต ตั้งแต่ปี 2540 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นเสียชีวิตเพราะความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง 9 ตัว ตายเพราะถูกล่าเอางาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 จำนวน 1 ตัว
โดยผู้ต้องหาในคดีนี้ คือ นายสมบูรณ์ เวนะ ยังคงหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ และอีก 8 ตัวพบว่า ตายตามธรรมชาติ ก่อนที่จะมีโครงการฟื้นฟูบริเวณสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า
โดยใช้เวลาอยู่นานกว่า 10 ปีเต็ม ก็สามารถแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้าง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างให้แก่ชาวบ้านที่อยู่รอบผืนป่ากุยบุรีได้เข้าใจ ทำให้ปัจจุบัน ช้างป่า และสัตว์ป่าทุกชนิดสามารถอยู่ในป่า และมีพืชอาหารสำหรับสัตว์ป่ากินได้อย่างอุดมสมบูรณ์ โดยไม่ต้องออกจากป่ามาหากินพืชไร่เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา
โอกาสนี้ หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ได้ทรงประทานโล่ และเหรียญพิทักษ์ช้างให้แก่หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยังคุณประโยชน์ต่อช้างป่า และสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก ให้ได้มีอาหาร และที่อยู่อาศัยภายในป่าที่สมบูรณ์ และปลอดภัยจากภัยรบกวน
โดยมีผู้แทนหน่วยงาน และบุคคลเข้ารับประทานโล่ และเหรียญพิทักษ์ช้างในครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 215 ราย จากนั้นได้จัดให้มีพิธีสงฆ์ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ช้างป่าที่เสียชีวิต รวมถึงกระทิงป่าอีก 24 ตัวด้วย
หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ได้ทรงกล่าวให้กำลังใจให้แก่หน่วยงาน และบุคคลทุกฝ่ายที่ร่วมกับดูแลรักษาผืนป่าว่า เป็นงานที่ยาก และเหน็ดเหนื่อยยิ่ง ทรงชื่นชมและทรงให้กำลังใจการทำงาน และขอให้ร่วมแรงในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีอยู่เป็นจำนวนมากต่อไป ทั้งช้างป่า กระทิงป่า รวมถึงสัตว์ป่าทุกชนิดด้วย โดยยังทรงรู้สึกเสียใจที่กระทิงป่ากุยบุรีล้มตายแบบปริศนาเป็นจำนวนมากถึง 24 ตัวทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งๆ ที่กระทิงอยู่อาศัยมานานแล้ว พร้อมเผยยังคงสงสัยถึงสาเหตุการตายที่แท้จริงของกระทิงทั้ง 24 ตัวด้วย
ด้านนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การอนุรักษ์ผืนป่ากุยบุรี ซึ่งในอดีตถึงแม้จะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างขึ้นก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริในการฟื้นฟูสภาพป่ากุยบุรีในด้านต่างๆ ให้แก่หน่วยงานเกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ทั้งการปลูกป่า การสร้างแหล่งน้ำ การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น การสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านในรอบพื้นที่ป่ากุยบุรี ทำให้หลายปีที่ผ่านมา ผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นในปัจจุบันนี้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก ทั้งช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง ฯลฯ
“สิ่งสำคัญปัญหาการทำร้ายช้างป่าได้หมดไป จุดนี้เองยังทำให้โครงการพระราชดำริฯ กลายเป็นจุดที่มีการศึกษาดูงานจากในต่างประเทศเข้ามาดูการบริหารจัดการระหว่างช้างกับคน และการอยู่ร่วมกัน ซึ่งในวันช้างไทยปีนี้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายตะหนักถึงการดูแลผืนป่า และสัตว์ป่า และช้างยังเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณอีกด้วย วันนี้ช้างป่ากุยบุรีมีมากกว่า 200 กว่าตัว” ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าว