xs
xsm
sm
md
lg

ชาวช้างพร้อมใจเซ่นไหว้ศาลปะกำ สร้างขวัญกำลังใจ พร้อมร่วมเลี้ยงอาหารช้าง เนื่องในวันช้างไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวกูย คนเลี้ยงช้างจ.สุรินทร์ เซ่นไหว้ศาลปะกำ
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - "ชาวกูย" ร่วมกับโครงการคชอาณาจักร เซ่นไหว้ศาลปะกำ เนื่องใน "วันช้างไทย" พร้อมเลี้ยงอาหารช้างและทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้คนเลี้ยงช้างและช้างที่ล่วงลับ ด้านควาญช้างบ้านปูเตอร์ อ.แม่สอด จ.ตาก ขอภาครัฐจัดพื้นที่ป่าเป็นเขตอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ "สวนนงนุชเฮ"ได้ลูกช้างพลาย-พังเกิดใหม่ มูลนิธิเพื่อนช้าง จ.ลำปาง ได้ "โรงคลอดช้าง ประชาชนของพระราชา" เป็นของขวัญ

วันนี้ (13 มี.ค.) ซึ่งเป็น "วันช้างไทย" หลังจากคนไทยเพิ่งผ่านพ้นวันแห่งโศกนาฏกรรมของคนและช้างป่าในจ.ระยอง จากเหตุรถยนต์พุ่งชนช้างป่าที่ลงจากป่าเขาอ่างฤาไน มาหากินในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ขณะข้ามถนนกลับเข้าป่า บนถนนบ้านบึง-แถลง กม. 71 หมู่ 2 ต.ป่ายุบในา อ.แกลง จ.ระยอง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ บาดเจ็บ 2 ราย ช้างป่าล้ม 1 ตัว เมื่อวันที่ 12 มีนาคมนั้น

"ชาวกูย" กลุ่มคนเลี้ยงช้าง ร่วมกับโครงการคชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันนำอาหารคาวหวาน น้ำดื่ม ดอกไม้ ธูป เทียน หัวหมู ไก้ต้ม มาประกอบพิธีเซ่นไหว้ศาลปะกำ ที่สำนักสงฆ์ป่าอาเจียง บ้านหนองบัว ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งศาลปะกำประจำหมู่บ้านเป็นศาลใช้เก็บอุปกรณ์การจับช้างป่าที่หมอช้างสร้างไว้ โดยมีหมอช้างที่ยังมีชีวิตอยู่มาร่วมประกอบพิธีเซ่นไหว้ สร้างขวัญกำลังใจให้กับคนเลี้ยงช้าง พร้อมทั้งร่วมเลี้ยงอาหารช้างที่เข้าร่วมโครงการคชอาณาจักร ซึ่งแก้ปัญหาการนำช้างออกเร่ร่อน ให้กลับมาอยู่บ้านเกิด โดยได้รับการดูแลเรื่องอาหารช้าง ผลตอบแทนเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวคนเลี้ยงช้าง ซึ่งขณะนี้มีชาวกูยนำช้างเข้าร่วมโครงการนี้แล้วกว่า 70 เชือก

จากนั้นได้ประกอบพิธีทางพุทธศาสนาที่สุสานช้าง ภายในสำนักสงฆ์ป่าอาเจียง ซึ่งได้นำกระดูกช้างที่ล้มตายไปแล้วมาเก็บรักษาไว้อย่างดีถึง 150 เชือก เพื่อเป็นการระลึกถึงความดีของช้าง ที่สร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านช้าง โดยได้นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ สวดมาติกาบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้กับคนเลี้ยงช้าง ควาญช้าง ตลอดจนช้างที่ล้มตายไปแล้ว ให้ได้รับส่วนบุญกุศล ไปสู่สุขคติภพต่อไป
อำเภอเมือง จ.พังงา ร่วมกับบริษัทท่องเที่ยวตำบลสองแพรก จัดโต๊ะจีนเลี้ยงช้าง ที่บ้านสองแพรก หมู่ 2 ต.สองแพรก อ.เมือง
นอกจากนี้หลายหน่วยงานได้จัดงานวันช้างไทยเพื่อระลึกถึงคุณูปการของช้างไทยในอดีต ซึ่งเป็นพระราชพาหนะสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยในการทำศึกสงคราม และเป็นกำลังสำคัญในสมรภูมิกอบกู้เอกราชเสมอมา พร้อมทั้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่หมอช้าง คนเลี้ยงช้าง และช้างที่ล้มตายไปแล้ว อาทิ ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) จ.ลำปาง หมู่บ้านช้าง สวนสัตว์เชียงใหม่ บ้านปูเตอร์ หมู่ 4 ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบเลี้ยงช้างและเพาะพันธุ์ช้าง ที่อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ ภักดีศรีณรงค์จางวาง เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ที่หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา และที่สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี รวมทั้งที่บริเวณบ้านสองแพรก หมู่ 2 ต.สองแพรก อ.เมือง จ.พังงา
 ชาวปากะญอจัดงานวันอนุรักษ์ช้างไทย ที่บ้านปูเตอร์ หมู่ 4 ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก
โดยควาญช้างบ้านปูเตอร์ หมู่ 4 ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก เสนอให้ภาครัฐและมูลนิธิช้างไทย จัดหาพื้นที่ป่าใกล้หมู่บ้านปูเตอร์ เพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์และเพาะพันธุ์ช้าง โดยเฉพาะป่าห้วยระพิ้ง ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้าน โดยควาญช้างยืนยันว่าจะไม่ทำลายป่า เนื่องจากขณะนี้ช้างไม่มีงานทำ จะไปชักลากไม้ก็ผิดกฎหมาย ข้ามไปฝั่งพม่าก็เสี่ยงภัยเหยียบกับระเบิด จึงอยากได้ผืนป่าสำหรับเลี้ยงและเพาะพันธุ์ช้าง โดยจะอนุรักษ์ป่าไม้คู่กับอนุรักษ์ช้างไทย เพราะช้างต้องคู่กับป่า อีกทั้งช่วงนี้อากาศแห้งแล้ง มีการจุดไฟเผาป่า ช้างได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์บริเวณใกล้บ้านปูเตอร์
นายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เจ้าของวังช้างแลเพนียด อยุธยา ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นำช้าง 100 เชือก ร่วมพิธีเดินขบวนพร้อมควาญช้างมาประกอบพิธีไหว้ศาลปะกำช้าง
นายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ เจ้าของวังช้างแลเพนียด ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยามยามเอาช้างกลับคืนสู่ป่าแล้วไร้การเลียวแลนั้น เป็นการแก้ปัญหาผิดทาง เพราะปัจจุบันในป่าแห้งแล้ง ไม่มีอาหาร ช้างต้องออกมากินพืชผักผลไม้ของชาวบ้าน จนเกิดอุบัติเหตุและสูญเสียขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรรณรงค์ปลูกอาหารช้างไว้ในป่า ช้างจะได้ไม่ออกมาจากป่าอีก
ช้างพัง 2 เชือกของปางช้างสวนนงนุชพัทยา พัทยา ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ตกลูกเป็นช้างพังและช้างพลาย
ข่าวแจ้งว่า มีข่าวน่ายินดีเกิดขึ้นที่สวนนงนุชพัทยา พัทยา ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อนายกัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุช กล่าวว่า ว่าเมื่อเวลา 04.00 น. แม่ช้างท้องแก่ 2 เชือกตกลูกออกมาเป็นช้างพังและช้างพลาย ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ สง่างาม และขี้เล่น จึงสั่งการให้ทีมสัตวแพทย์ ควาญช้างดูแลอย่างใกล้ชิด

"ลูกช้างทั้ง 2 เชือกถือเป็นช้างคู่บารมี เพราะเกิดพร้อมกันในวันช้างไทย ซึ่งจะหาฤกษ์ยามทำพิธีรับขวัญให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียม เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ช้างและคนเลี้ยงช้าง ส่วนชื่ออยู่ระหว่างสรรหาชื่อที่คู่ควรและเป็นสิริมงคล"
โรงคลอดช้าง ประชาชนของพระราชา จ.ลำปาง
น.ส.โซไลดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง จ.ลำปาง และผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลก พร้อมกลุ่มจิตอาสา ประชาชนของพระราชา นำโดยนายเอกรัฐ เหลืองสะอาด หรือ "เจ้าเอฟ รักในหลวง" ร่วมกันทำพิธีเปิดอาคารโรงคลอดช้าง ชื่อ "โรงคลอดช้างประชาชนของพระราชา" บริเวณมูลนิธิเพื่อนช้าง เพื่อไว้บริการในการทำคลอดช้างต่อไป

น.ส.โซไลดา กล่าวว่า ภารกิจที่ยังต้องทำต่อไป คือ ผลักดันการแก้กฎหมายให้มีพ.ร.บ. ช้าง เป็นการเฉพาะ หยุดขบวนการช้างเร่ร่อน หยุดการนำช้างป่าหรือจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมเป็นช้างไทย รวมถึงหยุดการนำช้างไทยไปต่างแดนด้วย ในส่วนของโรงพยาบาลช้างตั้งแต่เปิดบริการมีช้างมาทำคลอด 18 ราย เสียชีวิตในท้องแม่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล 2 ราย เสียชีวิตขณะแม่ช้างกำลังให้กำเนิดเพราะสายสะดือขาด 1 ราย ไม่ทราบสาเหตุ 1 ราย และเสียชีวิตเพราะลูกช้างตัวใหญ่และออกผิดท่า 1 ราย ดังนั้นการที่ช้างท้องต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ก่อนการตกลูก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

"ที่ผ่านมาต้องใช้ลานกว้างเป็นสถานที่ทำคลอด เนื่องจากไม่มีโรงคลอดช้าง ซึ่งก็เสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อน จนกระทั่งกลุ่มจิตอาสาในนามประชาชนของพระราชา แสดงเจตนารมณ์จะขอสร้างโรงคลอดช้างเพื่อทำดีถวายในหลวง มูลนิธิจึงยินดีเป็นอย่างมาก โดยทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันระดมเงินก่อสร้าง ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจึงสำเร็จ และเปิดอย่างเป็นทางการในวันนี้"

ด้านนายเอกรัฐ หรือ "เจ้าเอฟ รักในหลวง" กล่าวว่า ช้าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ช่วยให้ประเทศไทยเป็นเอกราชมาจนทุกวันนี้ และทราบว่าโรงพยาบาลของมูลนิธิขาดแคลนโรงคลอด จึงมีความคิดอยากจะสร้างถวายในหลวงก่อนที่ตนเองจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้

"หลังจากพูดคุยกับกัลยาณมิตร ทุกคนเห็นชอบ จึงได้ตระเวนขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงาน คนรู้จัก และผลิตเสื้อจำหน่าย นำเงินมาก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด 818,381.50 บาท ซึ่งทุกคนภูมิใจที่ได้ทำสิ่งดีๆให้กับสังคม และที่ภูมิใจที่สุด คือ ผมและเพื่อนได้ทำความดีถวายแด่ในหลวง"
หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ทรงปิดทองบนหัวกะโหลกช้างพลายชุมพล
ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ท่านหญิงนักอนุรักษ์ เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีในงานวันช้างไทย ประจำปี 2557 ทั้งนี้ หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดลทรงคล้องมาลัย และทรงปิดทองบนหัวกะโหลกช้างพลายชุมพล ช้างป่าขนาดใหญ่ที่เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2540 ก่อนมีโครงการฟื้นฟูป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ปัญหาคนกับช้าง

หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ทรงกล่าวให้กำลังใจให้แก่หน่วยงานและทุกฝ่ายที่ร่วมกับดูแลรักษาผืนป่าว่า เป็นงานที่ยากและเหน็ดเหนื่อยยิ่ง ทรงชื่นชมและให้กำลังใจ ขอให้ร่วมแรงในการอนุรักษ์สัตว์ป่าต่อไป ทั้งช้าง กระทิง รวมถึงสัตว์ป่าทุกชนิด ทั้งนี้ยังทรงรู้สึกเสียใจที่กระทิงป่ากุยบุรีล้มตายแบบปริศนาถึง 24 ตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ด้านนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การอนุรักษ์ผืนป่ากุยบุรีในอดีต แม้จะเกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง แต่ต้องยอมรับว่าหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริฟื้นฟูสภาพป่าให้แก่หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งปลูกป่า สร้างแหล่งน้ำ สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น สร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านรอบป่ากุยบุรี ทำให้หลายปีที่ผ่านมาผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันนี้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก ทั้งช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง

"สิ่งสำคัญ คือ ปัญหาการทำร้ายช้างป่าหมดไป ทำให้โครงการพระราชดำริกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของต่างประเทศ วันช้างไทยปีนี้จึงอยากให้ทุกฝ่ายตะหนักถึงการดูแลผืนป่าและสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้าง ที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งวันนี้ช้างป่ากุยบุรีมีกว่า 200 ตัวแล้ว"
สถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่กลางป่า ก็ส่งผลต่อพื้นที่การหากินของช้างป่า
ดร.สุชาติ โภชฌงค์ ผู้อำนวยการส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้มีช้างป่าประมาณ 5 กลุ่ม รวม 350 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติเขา 15 ชั้น ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เริ่มบุกรุกพื้นที่หากินของช้าง โดยการตั้งสถานที่ทำงานในป่า หรือปลูกป่าที่ไม่ใช่อาหารช้าง ทำให้ช้างป่าต้องออกมาสู่ผืนป่าชุมชน ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านจนไม่สามารถทำกินหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้นต้องหาป่าขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ไว้รองรับประชากรช้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเบื้องต้นที่เห็นว่าเหมาะสม คือ ผืนป่าในจ.อุตรดิตถ์ แต่ต้องออกแบบให้ชัดเจน เช่น มีรั้วไฟฟ้ากั้นระหว่างหมู่บ้านกับที่อยู่อาศัยของช้าง เพื่อไม่ให้แย่งพื้นที่หากินกันอีกต่อไป

"ปัจจุบันช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตรต่อเนื่อง บางครั้งทำร้ายชาวบ้านจนเสียชีวิต ซึ่งเกิดจากพื้นที่ป่าลดลง อาหารไม่เพียงพอ จึงต้องเร่งหาพื้นที่ให้ช้างป่าอาศัยและหากินได้โดยเร็ว"
ช้างป่าในภาคตะวันออก เริ่มบุกเข้ามาหากินตามชุมชน
ด้านร.ต.ท.ภพชนก ชลานุเคระห์ นายอำเภอเขาชะเมา จ.ระยอง กล่าวว่า การแก้ปัญหาช้างป่าที่ลงจากเขามาหากินพืชไร่ของชาวบ้านในอ.เขาชะเมา และเดินเข้าไปในอ.วังจันทร์ ขณะเดินข้ามถนนถูกรถยนต์ชน ทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายคน ส่วนช้างป่าได้ล้มลงเช่นกันนั้น ทางอำเภอได้เตรียมจัดชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวัง โดยเป็นการบูรณาการระหว่างอำเภอเขาชะเมา อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ตำรวจสภ.เขาชะเมา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน สมาชิกสภาองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

"หากมีช้างป่าลงจากเขาเข้ามาในชุมชน ชุดเฉพาะกิจจะเข้าไปป้องกันไม่ให้ช้างทำร้ายประชาชน ทำลายพืชผลทางการเกษตร และเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม จะให้ชุดเฉพาะกิจระดับอำเภอ ไปเป็นพี้เลี้ยงชุดเฉพาะกิจระดับตำบล เพื่อแจ้งข่าวสารการเคลื่อนไหวของช้างป่า และการช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว"

ร.ต.ท.ภพชนก กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าในอ.เขาชะเมา มีมานานแล้ว โดยหากินในเขตรอยต่อเขตอ.บ่อทอง จ.ชลบุรี อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และอ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ซึ่งหลักๆจะอยู่ที่ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งปัญหายืดเยื้อมากว่า 10 ปี ชาวบ้านเดือดร้อนมานาน ทางอำเภอเตรียมที่จะหาแนวทางแก้ไขทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อนำเสนอจังหวัด

ด้านนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ได้สั่งการให้อำเภอ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประสานกับอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ที่มีความรู้เรื่องช้างป่าเป็นอย่างดี หากมีช้างป่าลงมาจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานทันที เพื่อให้ช่วยไล่ช้างป่าขึ้นเขา รวมทั้งแจ้งให้ทางผู้นำท้องถิ่นทราบทิศทางของช้างจะได้แจ้งลูกบ้านให้ทราบ และระมัดระวังตัวไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นได้

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย ตามความริเริ่มของคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทย จะช่วยให้คนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ช้างมากขึ้น ทั้งยังนับเป็นการยกย่องให้เกียรติช้าง ว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญ นอกเหนือจากเกียรติที่เคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในผืนธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์
กำลังโหลดความคิดเห็น