ประจวบคีรีขันธ์ - กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อปท.รวมทั้งฝ่ายปกครองอำเภอกุยบุรี ชาวบ้าน และกลุ่มนักอนุรักษ์กว่า 200 คน ออกมาตอบโต้กรมอุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานที่แถลง “กระทิงตายด้วยโรคปากเท้าเปื่อย” ชี้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านกุยบุรีที่เลี้ยงสัตว์กีบ พร้อมยืนยันว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะสัตว์เลี้ยงชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีการตายแต่อย่างใด ล่ารายชื่อชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยต่อการแถลงของกรมอุทยานแห่งชาติ และเรียกร้องให้รักษาการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ลงมาชี้แจงถึงสาเหตุการตายของกระทิงให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบ หากยังไม่มาจะเดินทางไปยังกรมอุทยานฯ เอง
วันนี้ (11 มี.ค.) หลังจาก นายนิพนธ์ โชติบาล รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า น.สพ.ปรีชา วงษ์วิจารณ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ น.สพ.วิทวัชวิริยะรัตน์ รองคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงผลการดำเนินการตรวจสอบการตายของกระทิงในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยสรุปผลการตายของกระทิงว่า มาจากเชื้อไวรัสปากเท้าเปื่อย
ต่อมา วันเดียวกัน ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพงษ์พันธุ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี พร้อมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อบต.หาดขาม และ อปท.ในพื้นที่ พร้อมชาวบ้านกุยบุรี องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่า ปศุสัตว์อำเภอกุยบุรี และ ส.อบจ.กุยบุรี ฯลฯ กว่า 200 คน ได้เดินทางมายังที่ อบต.หาดขาม เพื่อรับฟังผลสรุปปัญหาการตายของกระทิงทั้ง 24 ตัว ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โดย นายพงษ์พันธุ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี กล่าวว่า วันนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แถลงข่าวร่วมกันถึงสาเหตุการตายของกระทิงว่า มาจากเชื้อไวรัสปากเท้าเปื่อย ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โนวิอาย ในซากกระทิง 12 ตัว และที่พบเจอเพิ่มเติมคือสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยในกระทิง 1 ตัว ซึ่งเป็นโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงจำพวกเท้ากีบ เช่น แพะ แกะ สุกร วัว กระบือ โดยโรคนี้จะเริ่มเป็นแผลที่เท้ากีบ ปาก จนกระทั่งลามไปถึงหัวใจ ส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลันได้ ซึ่งในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่าเจอเชื้อดังกล่าวด้วย
นายอำเภอกุยบุรี กล่าวว่า กระทิงที่ตายทุกตัวเป็นเพศผู้ 18 ตัว เพศเมีย 8 ตัว ส่วนใหญ่มีร่างกายที่สมบูรณ์ ไม่บ่งบอกถึงการเกิดโรค ซึ่งการออกมาแถลงถึงเรื่องของโรคปากเท้าเปื่อย ย่อมต้องส่งผลกระทบโดยภาพรวม ซี่งเห็นว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นความจริงไม่ได้ถูกเปิดเผย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านกุยบุรีที่มาร่วมรับฟังผลสรุปการตายของกระทิงตายต่างแสดงความไม่พอใจต่อผลสรุปที่ออกมา และได้ลุกขึ้นแสดงความไม่เห็นด้วยต่อผลตรวจที่ออกมาว่า เป็นโรคปากเท้าเปื่อย จนเป็นสาเหตุที่ทำให้กระทิงตาย โดยชาวบ้านที่อำเภอกุยบุรีก็เลี้ยงวัว และสัตว์กีบต่างๆ แต่ทำไมไม่เห็นมีสัตว์กีบตาย เรื่องนี้เห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะหากออกมาแถลงแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์กีบของชาวบ้าน ตลอดจนการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าในพื้นที่ และออกพื้นที่ได้
ในขณะเดียวกัน นายประจักษ์ สายน้ำเขียว หนึ่งในผู้ใหญ่บ้านกุยบุรี ได้เรียกร้องให้รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ลงมาชี้แจงประเด็นสาเหตุการตายของกระทิงในครั้งนี้ในพื้นที่ อ.กุยบุรี โดยจะให้เวลาระยะหนึ่ง หากยังไม่มาชาวบ้านกุยบุรี จะไปหาที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพราะในประเด็นในหลายเรื่องกรมอุทยานแห่งชาติเองก็ยังไม่ได้ให้ความกระจ่างต่อสังคม ทั้งเรื่องที่กล่าวหาว่าชาวบ้านเอาหมูวัดไปปล่อย ก็พบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และยิ่งมาแถลงในวันนี้ว่าเป็นโรคปากเท้าเปื่อย จึงเป็นการโยนความผิดให้แก่ชาวบ้านกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
ขณะที่ นายเงิน คงมั่น รองนายก อบต.หาดขาม ได้กล่าวแสดงความรู้สึกเสียใจที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แถลงออกมาในวันนี้ว่า ในเมื่อกระทิงตายด้วยเชื้อไวรัสปากเท้าเปื่อย ทำไมวัว และสัตว์กีบของชาวบ้านถึงไม่ป่วยเป็นโรคปากเท้าเปื่อย และป่วยตายเหมือนกระทิง
ในขณะเดียวกัน ถามว่ากระทิงที่เหลืออยู่อีกกว่า 70 ตัว ทำไมไม่ตาย และเป็นโรคปากเท้าเปื่อย และโรคที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงก่อนหน้านี้ทำไมกระทิงถึงตายพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถตอบข้อกังขาที่สังคมติดตามอยู่ และวันนี้ทุกภาคส่วน และชาวบ้านกุยบุรีเองก็ไม่ต้องการให้นำโครงการพระราชดำริฯ เข้าไปผนวกกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ขณะที่ นายบุญมา ศรีสวัสดิ์ กำนันตำบลหาดขาม พร้อมผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.กุยบุรี ก็กล่าวไม่ยอมรับต่อผลการแถลงของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานที่ออกมาแถลงในวันนี้ที่ระบุว่า สาเหตุกระทิงตายนั้นเกิดจากโรคระบาด และโดยเฉพาะโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งทางชาวบ้านกุยบุรีและหน่วยงานเกี่ยวข้องจะมีการประชุม และกำหนดแนวทางในการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไป รวมทั้งการคัดค้านการนำพื้นที่โครงการพระราชดำริฯ ไปผนวกรวกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีด้วย
ด้าน นายสมยศ ปราณอุดมรัตน์ ปศุสัตว์อำเภอกุยบุรี กล่าวชี้แจงว่า หากเป็นโรคปากเท้าเปื่อยตามขั้นตอนต้องประกาศเป็นพื้นที่เกิดโรคระบาด และต้องห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ทั้งเข้าพื้นที่ และออกนอกพื้นที่ ซึ่งต้องส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างแน่นอน ซึ่งจะไม่สามารถขายสัตว์ได้และโรคปากเท้าเปื่อยก็ไม่ได้ทำให้สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านตายแต่อย่างใด ซึ่งโรคปากเท้าเปื่อยที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการเคลื่อนย้ายสัตว์จากที่อื่นเข้ามาในพื้นที่