xs
xsm
sm
md
lg

มุ่งประเด็​น "เชื้อแบคที​เรีย" คร่ากระทิงป่ากุยบุรี 24 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์...รายงาน

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานผลตรวจสอบการตายของกระทิงในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟู บริเวณสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กุยบุรี 24 ตัวไม่พบสาเหตุสารพิษ ไมยราบไร้หนามและศึกษาเชื้อแบคทีเรียคอสตริเดียมจะเป็นสาเหตุการตายของกระทิงทั้งหมดหรือไม่ซึ่งคาดรออีก 2-3 สัปดาห์ น่าจะรู้ผลที่ชัดเจน

วันที่ 31 ม.ค. นายนิพนธ์ โชติบาล รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับผู้แทนจากกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันรายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการตายของกระทิงในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟู บริเวณสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2556-31 มกราคม 2557 พบซากกระทิงรวม 24 ตัวเป็นกระทิงเพศผู้ 14 ตัว และเพศเมีย 8 ตัว ลูก 2ตัว

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการตายของกระทิงที่ป่ากุยบุรี โดยมีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานและคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสอบสวนการตายของกระทิงจากสารพิษ และคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสอบสวนการตายของกระทิงจากโรค ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายหน่วยงาน จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันประชุมวิเคราะห์ผลการสอบสวนโรคและผลจากห้องปฏิบัติการ ได้สรุปผลความก้าวหน้าจากการตรวจสอบการตายของกระทิง

การวิเคราะห์หาสาเหตุการตายของกระทิงเนื่องจากสารพิษ ซึ่งตรวจสอบกระเพาะอาหารของกระทิง โดยที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ตรวจไม่พบโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู ไซยาไนด์ สารหนู แต่ตรวจพบไนเตรทจากพืชอาหารในกระเพาะอาหารของซากกระทิงเกือบทุกตัว มีค่าระหว่าง 146-2021 ppm. ซึ่งจากการวิเคราะห์และตรวจสอบพบว่าปริมาณ ไรเตรทดังกล่าวไม่ใช้สาเหตุหลักที่ทำให้กระทิงตาย โดยปริมาณไนเตรทที่พบนี้อาจมาจากการกินพืชอาหารบางชนิดที่มีไนเตรทอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือเกิดจากปฏิกิริยาการย่อยสลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ

ในส่วนของไมยราบไร้หนาม กรมอุทยานฯ ได้ลงพื้นที่พบว่ามีการกระจายในพื้นที่พบซากกระทิงน้อย และจากการตรวจสอบกระเพาะอาหารในซากกระทิง 6 ซากไม่พบไมยราบไร้หนาม จึงเห็นว่าไมยราบไร้หนามก็ไม่ใช้สาเหตุการตายของกระทิงในครั้งนี้

ทั้งนี้ ในส่วนการตรวจวิเคราะห์ ดิน ดินโป่ง ตะกอนดิน และแหล่งน้ำ กรมควบคุมมลพิษตรวจไม่พบยาฆ่าแมลง ไซยาไนด์ ยกเว้นสารหนู ที่พบว่ามีค่าเกิดมาตรฐานเล็กน้อย แต่ก็ไม่ส่งผลต่อการตายของกระทิงเช่นกัน ซึ่งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสอบสวนการตายของกระทิง มีความเห็นตรงกันว่าการตายของกระทิงจำนวน 24 ตัวไม่น่าจะเกิดจากสารพิษ

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์หาสาเหตุการตายของกระทิงจากโรค ก็ไม่พบว่าการตายของกระทิงจะเกิดจากพยาธิในเม็ดเลือดอะนาพลาสมาแต่อย่างใด ถึงจะตรวจเจอในซากกระทิง 3 ตัวก็ตาม ส่วนการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียคอสตริเดียม ในซากกระทิง 15 ตัวและจากดิน 1 ตัวอย่าง

สำหรับเชื้อแบคทีเรียคอสตริเดียม (Clostridium novyi)เป็นเชื้อที่สามารถผลิตสารพิษที่ก่อให้เกิดโรค Black Discase ซึ่งอาจทำให้สัตว์ตายแบบเฉียบพลันได้ แต่ในประเทศไทยไม่เคยมีรายงานการพบโรคนี้ จึงต้องมีการศึกษาต่อไปว่าเชื้อ คอสตริเดียม จะเป็นสาเหตุที่ทำให้กระทิงส่วนใหญ่ตายได้หรือไม่

ซึ่งการสอบสวนโรคของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา ทำให้มีข้อวินิจฉัยร่วมกันว่าการตายของกระทิงส่วนใหญ่ในครั้งนี้ นอกจากเชื้อโรคที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาจมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสชนิดอื่นๆ ได้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคของคณะทำงานฯ และยังต้อรอผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม จำนวน 4 ตัวอย่าง ทั้งการเพาะเชื้อเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งคาดต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะกลางและระยะยาวในการป้องกันการตายของสัตว์ป่า

1.ตั้งคณะทำงานสำรวจติดตามประชากรกระทิง และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆในพื้นที่ป่ากุยบุรี
2.ตั้งคณะทำงานติดตามสุขภาพสัตว์ในพื้นที่ป่ากุยบุรี เพื่อทำการเก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่งเพื่อตรวจสุขภาพสัตว์ป่า
3.กำหนดมาตรการในการควบคุมด้านสุขาภิบาลในพื้นที่เขตอุทยานฯกุยบุรี เช่น ให้มีบ่อสำหรับฆ่าเชื้อที่ยาพาหนะ และอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่
4.กำหนดมาตรการในการปล่อยสัตว์คืนธรรมชาติ และการปลูกพืชต่างถิ่นในพื้นที่ตามหลักวิชาการอย่างเข้มงวด
5.พัฒนาระบบสำรวจและเฝ้าระวังโรคติดต่อที่สำคัญในสัตว์ป่า และปศุสัตว์ที่มีแนวเขตติดต่อกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์
6.จัดการระบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มิให้มีผลกระทบต่อนิเวศวิทยา และ พฤติกรรมของสัตว์ป่าในพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ชุมชนโดยรอบและนักท่องเที่ยวในด้านสุขอนามัยและการป้องกันโรคติดต่อในสัตว์และคน

ขณะเดียวกันนายศรีสวัสดิ์ บุญมา กำนันตำบลหาดขาม กล่าวว่า เท่าที่ทราบจากการรายงานผลอีกครั้งของกรมอุทยานฯ กรมปศุสัตว์ ฯลฯ ในวันนี้อีกครั้งและมุ่งไปที่ เรื่องเชื้อแบคทีเรียและไวรัส นั้นโดยตัดเรื่องสารพิษ หรือกระกระทำของมนุษย์ออกไปนั้น ซึ่งก็ถือไม่เกินการคาดหมายของชาวบ้าน เราคงต้องรอดูอีก 3 สัปดาห์ตามที่แจ้งว่ารอผลอีก 4 ตัวอย่าง ซึ่งหลักจากนั้นก็จะประเมินสถานการณ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไปยังไงก็ต้องมีความชัดเจนเรื่องโรค เพราะเราไม่ควรไปดถูกวิชาชีพของทางทีมสัตวแพทย์

ในส่วนของชาวบ้านกุยบุรี ซึ่งได้เรียกร้องขอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) และกรมอุทยานฯปรับเปลี่ยนหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี แทนคนที่ชาวบ้านกุยบุรี ไม่ต้อการนั้น ขณะนี้ทราบว่า นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แจ้งให้ทราบว่าได้ติดต่อพูดคุยกับรักษาราชการอธิบดีกรมอุทยานฯไปแล้ว ซึ่งรับปากว่ากำลังหาคนมาสับเปลี่ยนอยู่ก็ไม่เป็นไรพวกเราจะรอตรงจุดนั้นก็หวังว่ากรมอุทยานฯคงจะดำเนินการตามที่รับปากไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ก็อย่าให้มันนานไป





กำลังโหลดความคิดเห็น