xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มดำเนินการฝังซากกระทิงป่ากุยบุรี ปิดอุทยานฯ ต่อไม่มีกำหนด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - กรมอุทยานแห่งชาติฯ เริ่มดำเนินการฝังซากกระทิงที่เสียชีวิตในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูบริเวณสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นการป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อไป และยังคงปิดอุทยานฯ กุยบุรีต่อไปไม่มีกำหนด รวมถึงอาจมีการยิงยาสลบกระทิงตัวที่พบว่า “ป่วย” และกระทิงตัวที่สมบูรณ์ เพื่อเก็บตัวอย่างเลือด และทำการรักษาหากพบว่ามีอาการเจ็บป่วยด้วย

วันนี้ (12 ก.พ.) นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายสุริยนต์ โพธิบัณฑิต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี นายสาธิต ปิ่นกุล หัวหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูบริเวณสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี น.สพ.บุรฉัตร ตันประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สพ.ญ.เสาวลักษณ์ พาด้วง นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อม ร.ต.ท.สังวาลย์ เนตรวงษ์ พนักงานสอบสวน สภ.ยางชุม ร.ท.ณรงค์ชัย แตงอ่อน หัวหน้าชุดประสานงานโครงการพระราชดำริฯ ได้เข้าดำเนินการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เริ่มเก็บชื้นส่วนกระดูกของซากกระทิงที่ตายกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ และทำการฟื้นฟูบริเวณสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.56 จนถึงปัจจุบันนี้ พบซากรวมทั้งสิ้น 24 ซาก ภายหลังจากตำรวจ สภ.ยางชุม ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกลบฝังได้

นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า การเข้ากลบฝังซากกระทิงทั้งหมดนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5 วัน อย่างไรก็ตาม ขบวนการขั้นตอนการกลบฝังนั้น ทางสัตวแพทย์ได้เข้าควบคุมติดตามการกลบฝังให้เป็นไปตามขั้นตอนตามหลักวิชาการในการทำลายซากสัตว์ป่า ทั้งการขุดหลุม การโรยปูนขาว การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ หรือเชื้อโรคต่างๆ รวมไปถึงบริเวณทางเข้า-ออกไปยังพื้นที่โครงการพระราชดำริฯ และอุทยานฯ รถยนต์ และเจ้าหน้าที่จะต้องผ่านขบวนการฆ่าเชื้อทั้งเข้าและออกอย่างเข้มงวดทุกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติหน้าที่ และเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางอุทยานฯ กุยบุรี ยังคงไม่เปิดให้มีการท่องเที่ยวในพื้นที่แต่อย่างใด

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวด้วยว่า ผลชันสูตรสาเหตุการตายของกระทิงในชุดสุดท้ายคาดว่าอีกประมาณ 10 วัน ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และทางมหาวิทยาลัยมหิดล คงจะออกมาแถลงผลให้ทราบ ซึ่งผลการชันสูตรส่วนใหญ่ในภาพรวมได้มุ่งไปที่ “เชื้อแบคทีเรีย” และไม่ได้เกิดจากสารพิษ และพืชไมยราบไร้หนามแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูบริเวณสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังคงใช้มาตรการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของกระทิงฝูงอื่นๆ ด้วยเป็นเวลาทุกวัน

ล่าสุด เจ้าหน้าที่พบกระทิงที่มีอาการผอมผิดสังเกต และกระทิงที่เดินขาลากในพื้นที่โครงการพระราชดำริ โดยในเย็นวันนี้ ทางสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ จะเข้าไปในพื้นที่นั่งห้างเพื่อติดตามพฤติกรรมของกระทิงเป็นเวลาอย่างน้อย 4 วัน หลังจากนั้นจะมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และส่วนเกี่ยวข้องต่อไป พร้อมทำหนังสือรายงานถึงรองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขอความเห็นในขั้นตอนการยิงยาสลบเพื่อเก็บตัวอย่างเลือด และทำการรักษาหากพบว่ามีอาการเจ็บป่วย รวมไปถึงอาจต้องยิงยาสลบในฝูงกระทิงที่มีสุภาพสมบูรณ์ว่าจะมีการอนุญาตในการดำเนินการขั้นตอนนี้หรือไม่ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านของกระทิงอย่างน้อย 2 ฝูง ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ ทั้งที่พบซาก และกระทิงที่ยังหากินตามปกติต่อไป ซึ่งทั้งหมดการดำเนินการในส่วนของการยิงยาสลบนั้นคงต้องรอผลชันสูตรหาสาเหตุการตายของกระทิงจากห้องปฏิบัติการที่จะออกมาแถลงสาเหตุการตายของกระทิงในขั้นตอนสุดท้ายออกมาก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น