xs
xsm
sm
md
lg

“คน” กับ “ช้าง” ไม่ถึงขั้นต้องแยกกันอยู่ !!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ช้าง” สัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทย มีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติมายาวนาน เป็นเจ้าแห่งป่าที่ช่วยเกื้อกูลทั้งสิ่งมีชีวิตและต้นไม้ แต่สถานการณ์ช้างไทยในวันนี้ กำลังถูกคุกคามจากหลายด้าน ส่งผลให้ช้างไทยลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ...และเรียกได้ว่า อยู่ในภาวะวิกฤต

วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” ที่กำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเกียรติยศของช้างไทย อนุรักษ์ และเชิดชูเกียรติช้างไทย ตามนโยบายของรัฐในการที่จะยกย่องให้เกียรติต่อช้างและส่งเสริมการอนุรักษ์ช้างให้มากยิ่งขึ้น

การสถาปนา “วันช้างไทย” ยังถือเป็นการให้เกียรติสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลว่าเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์ชาติไทยมายาวนาน เนื่องจากช้างเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ในหลายยุคหลายสมัยในประวัติศาสตร์ช้างเป็นผู้ปกป้องเอกราชของชาติไทย ในการทำศึกรบบนหลังช้าง หรือ ที่เรียกว่ายุทธหัตถี และช้างยังใช้เป็นสัตว์ที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ นอกจากนี้ช้างไทยยังมีบทบาทเป็นพาหนะในการคมนาคม และใช้ในอุตสาหกรรมป่าไม้

หลายผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงช้างตามธรรมชาติ ยังมีช้างเหลือเป็นมรดกตกทอดให้คนไทยได้เห็น โดยเฉพาะผืนป่าตะวันออก ที่มีจำนวนช้างเหลืออยู่มาก

จากข้อมูลพบว่าสถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบัน มีช้างเลี้ยงอยู่ประมาณ 4,000 เชือก และช้างป่าราว 3,000 ตัว แม้จำนวนช้างจะเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่สถานการณ์ช้างไทยก็ยังน่าเป็นห่วง ทั้งผืนป่าถูกทำลาย แหล่งหากินของช้างลดน้อยลด เนื่องจากจาปัญหาความแห้งแล้ง สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ช้างป่าต้องลงจากเขามาหากินในพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ทำให้เกิดปัญหาระหว่างคนกับช้าง รวมถึงถูกคุกคามจากกระบวนการค้าและล่าสัตว์ป่าสัตว์ป่า

ปัญหาของช้างป่า คือจำนวนประชากรช้างป่า จะกระจายกันอยู่ตามผืนป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าผืนเล็กๆไม่ต่อเนื่องกัน ทำให้ช้างตกอยู่ในสภาพคล้ายติดเกาะ ไม่สามารถข้ามไปมาระหว่างพื้นที่ได้ ส่งผลให้เกิดการผสมพันธุ์ภายในหมู่เครือญาติ (Inbreeding) ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดลักษณะด้อย เกิดโรคทางพันธุกรรม นำไปสู่การเสียชีวิตและการสูญพันธุ์ในที่สุด

การตัดไม้ ทำลายป่าไม้เพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม การที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรเพื่อส่งออก เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้เกิดการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เผาป่า เพื่อความต้องการพื้นที่สำหรับใช้เพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ในเขตพื้นที่ป่า

การปศุสัตว์ในปัจจุบันนอกจากจะมีการเลี้ยงสัตว์เป็นระบบฟาร์มซึ่งมีระบบการจัดการเป็นอย่างดีแล้ว การเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่ คือ การเลี้ยงโดยปล่อยให้สัตว์เข้าไปหากินเองในป่า ซึ่งอาจเข้าไปแย่งหรือทำลายอาหารของสัตว์ป่า และอาจติดโรคจากสัตว์ป่าหรืออาจนำโรคติดต่อไปสู่สัตว์ป่าด้วย

รวมทั้งโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ป่า ที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ป่าย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่า และสัตว์ป่า เช่น การสร้างเขื่อนซึ่งเป็นการแยกป่าธรรมชาติออกจากกัน การตัดถนนผ่านป่าก็เช่นกันแล้วยังเป็นการทำให้มนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าได้ง่ายขึ้นด้วย

ทั้งหมดได้ส่งผลทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้าง ซึ่งเกิดขึ้นมานานนับตั้งแต่คนเข้าไปในพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหากินของช้าง เกิดปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องฆ่าช้าง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น

ประเด็นของการเกิดข้อขัดแย้ง คือ ปัญหาการแย่งใช้พื้นที่ราบริมแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และแหล่งหลบภัยที่สำคัญของช้าง ในฤดูฝนที่ยังมีอาหารสมบูรณ์ ช้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งอาหารและน้ำขาดแคลน ช้างจึงต้องเข้ามาหากินผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์

ปัญหานี้ได้เกิดกับหลายพื้นที่ แต่ที่เห็นรุนแรงและต่อเนื่องในช่วงนี้ คือ ในพื้นที่ในภาคตะวันออก ปัจจุบัน เกิดความขัดแย้งค่อนข้างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตไปแล้ว ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ตราด สระแก้ว สำหรับที่จังหวัดจันทบุรี มีปัญหาต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน หลังจากแหล่งอาหารขาดแคลนจากความแห้งแล้ง ทำให้ช้างป่าเกเร 3 ลงมาทำร้ายชาวบ้านใน จ.จันทบุรี เสียชีวิตไปแล้ว 7 ราย โดยที่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จนในที่สุดเพื่อความอยู่รอด ชาวบ้านได้มีการลงขันกัน จัดหา ผัก ผลไม้มาเทกองไว้ให้ช้างป้ากิน เพื่อป้องกันการเข้ามาทำลายสวนผลไม้ และเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

อย่างไรก็ตาม เหตุสะเทือนขวัญก็ยังคงเกิดขึ้น เมื่อล่าสุดวันที่ 12 มีนาคม 2557 เกิดอุบัติรถยนต์ชนช้างป่า ที่ลงมาหาอาหารกิน บริเวนถนน บ้านบึง-แกลง จังหวัดระยอง เป็นทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน รวมทั้งช่างป่า ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส และสุดท้ายก็ตายลงในที่สุด ...

ด้าน นายพิทักษ์ ยิ่งยง หัวหน้าพิทักษ์ป่าสีระมัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เผยถึงกรณีที่ช้างป้าถูกรถชนในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่าสลดใจอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ได้ นำกำลังเจ้าหน้าที่ออกตามหาช้างป่าที่เหลืออีก 2 ตัว ทราบว่าเป็นช้างป่าเพศผู้ เนื่องจากเกรงว่าช้างป่าจะออกมาช่วยเพื่อนของมันตามธรรมชาติของช้างและอาจจะทำร้ายประชาชนได้

ส่วนช้างป่าที่ถูกรถชนบาดเจ็บสาหัสเป็นช้างป่าเพศผู้เช่นเดียวกัน คาดว่าช้างป่าทั้ง 3 ตัวนี้ออกมาจากป่าเขาอ่างฤาไน ลงมาหากินในพื้นที่นี้มานานแล้ว แต่เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามตัวไม่พบ ครั้งนี้คาดว่าคงเดินข้ามถนนลงมากินอาหารในสวนปาล์ม สวนสับปะรด ตั้งแต่เมื่อกลางดึกจนกระทั่งใกล้รุ่งเช้าจะเดินกลับเข้าผืนป่าถิ่นอาศัย ขณะเดินข้ามถนนซึ่งปกติช้างป่าจะเดินเรียงเป็นแถว ช้างป่าตัวที่ถูกชนน่าจะเดินอยู่ท้ายสุด ทำให้รถยนต์ที่วิ่งมาด้วยเร็วสูงคงมองไม่เห็นเนื่องจากตัวช้างมีสีดำ

ดร.สุชาติ โภชฌงค์ ผู้อำนวยการส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์ช้างป่าในพื้นที่ป่าภาคตะวันออกนั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน, อุทยานแห่งชาติ เขาชะเมา, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว, อุทยานแห่งชาติ เขา 15 ชั้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ช้างอาศัยอยู่จะเป็นพื้นที่ราบประมาณ 70%

สำหรับพิกัดที่เจ้าหน้าที่พบช้างป่านั้น ไม่ใช่พบตัวช้าง โดยเป็นเพียงร่องรอยของช้างป่า ที่เข้ามาหากินในป่าดังกล่าวเท่านั้นที่มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ แต่ปัจจุบันหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆเริ่มเข้าไปบุกรุกพื้นที่อาศัย-กินของช้างป่า เช่น กิจกรรมของมนุษย์ ,แปลงปลูกป่าที่ไม่ใช่อาหารของช้าง ทำให้ช้างป่าต้องหนีไปหากินยังแหล่งอื่น

ขณะนี้ช้างป่ามีประมาณ 5 กลุ่ม ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าบริเวณดังกล่าวมีจำนวน 350 ตัวและเริ่มขยายออกมาสู่ผืนป่าชุมชนสร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและพื้นที่ทำกิน จนไม่สามารถออกไปทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้นจะต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ที่ช้างป่าอาศัยอยู่ให้มีความอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม เช่น ย้ายสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ออกมาอยู่ด้านนอกแทน

นอกจากนั้น จะต้องหาพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ไว้รองรับจำนวนช้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการหาพื้นที่ไว้รองรับช้างป่าดังกล่าว แต่ที่มองว่าเหมาะสม คือ บริเวณผืนป่าจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการออกแบบพื้นที่ให้ชัดเจนก่อน เช่น มีรั้วไฟฟ้ากั้นระหว่างหมู่บ้าน กับแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเพื่อไม่ต้องการให้มีการแย่งพื้นที่ซึ่งกันและกันอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาช้างป่าในปัจจุบัน ยังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องช้างโดยตรง ทำให้ไม่มีการจัดการที่มีระบบระเบียบแบบแผนที่เหมาะสม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับช้างป่าในปัจจุบันคือ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีภาระหน้าที่มากมายหลายด้าน ทำให้การจัดการช้างป่าในปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ การขาดแคลนบุคลากร การมีบุคลากรไม่เพียงพอทำให้การดำเนินงานไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ การขาดแคลน ในการดำเนินงานทำ

รวมถึงแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ที่เพียงพอในการจัดทำแผนแม่บท ส่งผลให้การดำเนินงานเกี่ยวกับช้างป่าขาดทิศทางที่แน่นอน มีเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และบางครั้งเกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการขาดการประชาสัมพันธ์ให้เห็นคุณค่าของช้างป่า การประชาสัมพันธ์จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ ปัญหาของช้างป่า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์จากสาธารณชนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

ความจริง “คน” กับ “ช้าง” อาศัยอยู่ร่วมกันมานานอย่างสันติ หากไม่มีการล้ำเส้นของกันและกัน รู้จักพื้นที่ของตัวเอง หากินในขอบเขตที่กำหนด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีมาตรการจัดการที่ดี เชื่อว่า ไม่ถึงกับต้องแบ่งแยกกันอยู่ว่า นี่ที่ของคน หรือที่ของช้าง ...ปัญหาน่าจะยุติได้




“ม.จ.รังษี” ประทานโล่ และเกียรติบัตรพร้อมเหรียญพิทักษ์ช้างเนื่องใน “วันช้างไทย” ให้อนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี
“ม.จ.รังษี” ประทานโล่ และเกียรติบัตรพร้อมเหรียญพิทักษ์ช้างเนื่องใน “วันช้างไทย” ให้อนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี
ประจวบคีรีขันธ์ - หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ท่านหญิงนักอนุรักษ์ ประทานโล่ และเกียรติบัตร พร้อมเหรียญพิทักษ์ช้างเนื่องในวันช้างไทย ให้แก่หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ชาวบ้าน และสื่อมวลชนที่ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฯ และสัตว์ป่าที่กุยบุรี พร้อมรับสั่งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกส่วนให้ช่วยกันดูแลรักษาสัตว์ป่าทั้งช้าง และกระทิง ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในป่ากุยบุรี พร้อมเผยยังทรงสงสัยถึงสาเหตุการตายที่แท้จริงของกระทิงทั้ง 24 ตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น