xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไม่สงบฉุดยอดเติบโต ทลฉ.ปี 56 ดิ่งเหลือ 3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.ทลฉ. ชี้การเมือง และผลกระทบต่อเนื่องจากอุทกภัยใหญ่ช่วงปลายปี 54 ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในปี 56 ที่ทำให้มีอัตราขยายตัวเพียง 3% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7% ส่วนแนวโน้มในปีนี้คาดอาจเติบโตได้ถึง 5% แต่ต้องวัดกันที่ปัจจัยความสงบภายในประเทศว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ชี้แม้ไทยจะได้เปรียบเรื่องความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความมั่นคงด้านแรงงาน แต่หากการเมืองไม่นิ่งก็อาจผลักให้ทุนญี่ปุ่นตัดสินใจย้ายฐานผลิต และลงทุนในโครงการใหม่สู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เผยถึงผลการดำเนินงานของท่าเรือฯ ในปี 2556 ที่ผ่านมาว่า มีอัตราเติบโตเพียง 3% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอดทั้งปี 7% โดยมีจำนวนตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่าประมาณ 5.93 ล้านทีอียู จากขีดความสามารถสูงสุดที่สามารถรับตู้สินค้าได้ถึง 7.8 ล้านทีอียู

และหากโครงการพัฒนาท่าเรือฯ ในเฟสที่ 2 ถูกยกระดับการให้บริการจนเต็มขีดความสามารถ ก็จะรองรับตู้สินค้าได้มากถึง 10 ล้านทีอียู โดยในปี 2556 ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มีรายได้จากการดำเนินงานกว่า 7 พันล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงานในปี 2557 คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนไม่น้อยกว่า 5% จากทิศทางการนำเข้าสินค้าที่เริ่มมีมากขึ้น ขณะที่สินค้าส่งออกยังมีการเติบโตไม่มากนักจากปัจจัยความไม่สงบทางการเมือง และสถานการณ์การประท้วงของผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ ภายในประเทศ จึงทำให้คู่ค้าไม่มั่นใจว่าหากสั่งซื้อสินค้าจากไทยแล้วจะสามารถขนส่งสินค้าได้ทันตามกำหนดที่ตกลงกันไว้หรือไม่

“ในไตรมาสแรกของปีนี้ เห็นได้ชัดเจนว่ายอดการขนถ่ายสินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังเติบโตขึ้นถึง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งก็เป็นไปตามปัจจัยการนำเข้าที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเกิดความสงบ ก็เชื่อว่าทิศทางการผลิต และการส่งออกของเราก็จะโตตาม และหากเป็นเช่นนั้นเป้าหมายตลอดทั้งปีที่ตั้งไว้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมจะเติบโตจากปีไม่น้อยกว่า 5% ก็เป็นไปได้ไม่ยากนัก”

ร.อ.สุทธินันท์ ยังเผยว่า สาเหตุที่ทำให้ผลการดำเนินงาน และจำนวนตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่าเรือแหลมฉบังในปี 2556 ไม่เติบโตตามเป้าหมาย นอกจากจะเกิดจากผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อช่วงปลายปี 2554 แล้ว ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็มีผลต่อการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าจากไทยของคู่ค้าต่างประเทศเช่นกัน

“หากอนาคตข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็เชื่อว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน โดยเฉพาะทุนญี่ปุ่น ที่เข้ามาในไทยเยอะจากความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงทางแรงงาน และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมบางชนิด เช่น รถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งการออกโมเดลรถยนต์ใหม่แต่ละตัวกลุ่มทุนจะพิจารณาจากความมั่นคงของฐานการผลิต ซึ่งที่ผ่านมา ไทยค่อนข้างได้เปรียบ แต่เมื่อเกิดการประท้วงภายในประเทศในหลายจุด และยืดเยื้อก็อาจทำให้กลุ่มทุนที่จะลงทุนใหม่ย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้านได้” ร.อ.สุทธินันท์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น