xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาเชียงรายดิ้นหนีตาย เงินจำนำข้าวไม่ออก หันปลูกพืชอื่นต่อลมหายใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ชาวนาเมืองพ่อขุนดิ้นหาทางแก้ปัญหารัฐบาลไม่ยอมจ่ายเงินจำนำข้าว แถมเจอภัยแล้งซ้ำ หันปลูกพืชอื่นหาเงินต่อลมหายใจ บางส่วนรวมกลุ่มปลูกมะเขือญี่ปุ่นส่งโรงงาน บางรายใช้นาปลูกอ้อย ก่อนตัดทำน้ำอ้อยสดขายริมทางแทน

หลังชาวนาทั่วประเทศขนข้าวเข้าโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงขณะนี้ชาวนาส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับเงินนั้น กลุ่มเกษตรกรในหลายพื้นที่เริ่มปรับตัวหาทางรอดแทนการรอคอยเงินจำนำข้าวจากรัฐบาล

เช่น กลุ่มเกษตรกร ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย ประมาณ 100 คนจับกลุ่มกันหาวิธีการปลูกพืชยังชีพในฤดูแล้งแทนการปลูกข้าวนาปรัง โดยหันมาปลูกมะเขือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพืชอายุสั้น และใช้น้ำน้อยแทน

นายพล คำวัง อายุ 67 ปี เกษตรกร ต.ริมกก กล่าวว่า ตนมีอาชีพหลักคือทำนา แต่ปีนี้ภัยแล้งมาเร็ว ทำให้ข้าวนาปรังที่ปลูกไว้ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาขาดน้ำและเริ่มแห้งตาย จึงได้ไปขอเช่าที่ดินริมฝั่งแม่น้ำกก เนื้อที่ประมาณ 1.5 ไร่ พื้นที่บ้านเวียงกือนา หมู่ 2 ต.ริมกก ปลูกมะเขือญี่ปุ่น เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยโดย รดน้ำเพียง 1 ครั้งต่อ 5-6 วัน ส่วนช่วงกลางวันก็นำถุงพลาสติกคลุมดินป้องกันไม่ให้น้ำระเหย

นายพลกล่าวว่า ที่ผ่านมาตนปลูกมะเขือ 1,700 ต้น เก็บผลผลิตได้ภายใน 45 วัน ขายให้โรงงานมะเขือกระป๋องที่มารับซื้อถึงสวนราคากิโลกรัมละ 7 บาท ปัจจุบันมะเขือให้ผลผลิตวันละ 90-100 กิโลกรัม สร้างรายได้ให้สัปดาห์ละประมาณ 5,000 บาท ระยะเวลาเก็บผลผลิตประมาณ 3 เดือน

“ถือว่าคุ้มค่าดีกว่าปลูกพืชชนิดอื่น จนสามารถนำไปใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี และเมล็ดพันธุ์ข้าวนาปี รวมไปถึงเงินค่าข้าวที่นำเข้าร่วมโครงการรับจำนำแต่ยังไม่ได้รับเงินอีกด้วย”

ด้านนางสมบัติ ทองดี อายุ 49 ปี ชาวบ้านโป่งช้าง ต.เชียงเคี่ยน อ.เทิง จ.เชียงราย ก็หันมาคั้นน้ำอ้อยขายริมถนนเชียงราย-เทิง โดยระบุว่าเดิมมีที่นาประมาณ 3 ไร่ ทำนาของตัวเองและรับจ้างคนอื่นด้วย ซึ่งไม่คุ้มค่า จึงได้นำที่ดินมาปลูกอ้อย ซึ่งหลังปลูกได้ 1 ปีก็สามารถตัดอ้อยมาหนีบด้วยเครื่องหนีบอ้อยที่ซื้อมาในราคา 7,000 บาท และเครื่องยนต์ที่ใช้กับรถไถนาอีก 1 ตัว ในราคา 8,500 บาท ปัจจุบันตัดต้นอ้อยได้ประมาณ 50-100 ต้น นำมาหนีบจนได้น้ำอ้อยประมาณ 150-200 ขวด ขายขวดละ 10 บาท ได้วันละกว่า 200 ขวด ทำให้สามารถยังชีพอยู่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น