นราธิวาส - ข้าวหอมกระดังงา เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของ จ.นราธิวาส กำลังเป็นที่นิยมของตลาดไทย และมาเลเซีย ไม่เพียงพอต่อการบริโภค เกษตรจังหวัดเตรียมส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูก
วันนี้ (11 ก.พ.) สำนักงานเกษตร จ.นราธิวาส และสำนักงานเกษตรอำเภอตากใบ ลงพื้นที่อบรมถ่ายทอดความรู้ในการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมกระดังงา ข้าวพันธุ์พื้นเมือง จ.นราธิวาส ให้แก่เกษตรกร ณ บ้านโคกอิฐ-โคกใน ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จากสภาพพื้นที่ของ อ.ตากใบ มีความเหมาะสมในการปลูกข้าว และมีเกษตรกรบางส่วนประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ในการทำนาของเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ดังนั้น ภาครัฐได้เห็นความสำคัญของการทำนาจึงมีนโยบายให้ความรู้ และอบรมแก่เกษตรกรในการทำนาปลูกข้าวหอมกระดังงา ยังสามารถแปรสภาพเป็นข้าวซ้อมมือได้ ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมของตลาดก็จะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการจำหน่ายได้หลายทาง และสามารถแก้ปัญหาในเรื่องของราคาตกต่ำได้อีกทางหนึ่ง
นายเสรีย์ แป้นคง เกษตร จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ข้าวหอมกระดังงา เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของ จ.นราธิวาส เมื่อก่อนชาวบ้านปลูกเพื่อบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันได้มีการนำมาแปรรูปผลิตเป็นข้าวซ้อมมือ ทำให้ผลผลิตที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภค และจำหน่าย โดยทางจังหวัด ได้กำหนดแนวทางในการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมกระดังงาขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ ในขั้นตอนแรกคือ การลดต้นทุนการผลิตข้าวหอมกระดังงาลง เพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ให้มากขึ้น โดยให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยพืชสด เพื่อลดต้นทุนสำหรับการเพิ่มผลผลิต ให้นักวิชาการเกษตรประจำตำบลเข้ามาถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ
ซึ่งเป็นการเพิ่มผลผลิตที่ชาวบ้านไม่ต้องลงทุน และมีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น และขั้นตอนที่ 2 การขยายพื้นที่ปลูกที่ อ.ตากใบ ประมาณ 2,600 กว่าไร่ ซึ่งยังไม่เพียงพอ อ.ตากใบ ถือเป็นพื้นที่แรกที่มีการปลูกข้าวหอมกระดังงามากที่สุดในจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ ทางเกษตรกรที่ปลูกพันธุ์ข้าวอื่นอยู่ ในพื้นที่ที่เหมาะสมสามารถนำพันธุ์ข้าวของตัวเองมาแลกเป็นพันธุ์ข้าวหอมกระดังงาได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอได้จัดไว้ หากชาวบ้านต้องการขยายพื้นที่ปลูกออกไปสามารถมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ หรือนักวิชาการส่งเสริมเกษตร เพื่อเข้าไปตรวจสอบดูว่าพื้นที่นี้สามารถปลูกข้าวได้หรือไม่
ส่วนในด้านการตลาดชาวบ้านได้แปรรูปข้าวหอมกระดังงา ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ในประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย ผลผลิตข้าวหอมกระดังงาไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทำให้ต้องมีการพัฒนาข้าวหอมกระดังงาให้เป็นข้าวประจำถิ่นของจังหวัดนราธิวาส เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกต่อไป