xs
xsm
sm
md
lg

จำนำข้าวรัฐบาลไม่กระทบชาวนาสุไหงปาดี เตรียมฟื้นนาร้างลดรายจ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นราธิวาส - ชาวนาในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี ไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นการปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายในท้องถิ่นตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่บางพื้นที่เตรียมปลูกข้าวในแปลงนาร้างเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

วันนี้ (11 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงงานว่า นายจำนง ตันสุรีย์ เกษตรอำเภอสุไหงปาดี กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี ไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการจำนำข้าว เนื่องจากเกษตรกรชาวนาทั้งหมดปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายในท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่า ในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี มีเกษตรกรชาวนาประมาณ 300 ครัวเรือน มีพื้นที่นา จำนวน 2,470 ไร่ ในพื้นที่ ต.สุไหงปาดี ต.โต๊ะเด็ง ต.ปะลุรู และตำบลสากอ

โดยเป็นการทำนาปี มีพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกในพื้นที่ร้อยละ 50 คือ พันธุ์ชัยนาท 1 และร้อยละ 40 คือ พันธุ์ซีบูกันตัง หรือข้าวซ้อมมือสายพันธุ์ท้องถิ่น อีกร้อยละ 10 คือ ข้าวพันธุ์อื่นที่นำมาทดลองปลูกในพื้นที่ ในแต่ละครั้งจะได้ผลผลิตประมาณ 570 กิโลกรัมต่อไร่ โดยขณะนี้ข้าวพันธุ์ซีบูกันตัง ได้รับความนิยมจนผลผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่การปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวนาได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำนาในพื้นที่ได้พบปัญหาเกี่ยวกับศัตรูพืช ประเภทหนูนา และนกกระจิบที่มากัดกินเมล็ดข้าวพันธุ์ซีบูกันตัง ที่กำลังตั้งท้องจนได้รับความเสียหาย ซึ่งได้ประสานขอรับการช่วยเหลือจากจังหวัดไปแล้ว ขณะที่ชาวนาได้แก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการใช้ภูมิปัญหาท้องถิ่นโดยทำหุ่นไล่กา และผูกริบบิ้นในแปลงนา เพื่อไม่ให้นกกระจิบเข้ามาทำลายเมล็ดข้าว

ทั้งนี้ สำหรับชาวนาในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ทำในลักษณะผสมผสานกับการทำสวนยาง และสวนผลไม้ โดยส่วนใหญ่จะยึดแนวทางการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่ตกต่ำ รวมถึงปัญหาการรับจำนำข้าวของรัฐบาลแต่อย่างใด

ด้านนายไพโรจน์ เภาประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ต.สุไหงปาดี กล่าวว่า จากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เตรียมบุกเบิกพื้นที่นาร้างกว่า 700 ไร่ ที่อยู่ในพื้นที่หมู่ 3 และหมู่ 11 ต.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพื่อการทำนาสำหรับบริโภคในครัวเรือนกันอีกครั้ง หลังปล่อยแปลงนาให้รกร้างมากว่า 14 ปี ซึ่งภายหลังจากที่ทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ก็ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการขุดลอกคูคลองเพื่อระบายน้ำออกจากแปลงนาก่อนปรับสภาพดิน และให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการทำนา ซึ่งตั้งเป้าว่าจะมีเกษตรกรในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50 ครัวเรือนเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ มั่นใจว่าหากสามารถดำเนินโครงการปลูกข้าวในพื้นที่นาร้างได้อย่างเป็นรูปธรรมจากเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีความรู้ด้านการทำนาที่สืบทอดกันมาแล้ว ก็จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้มากขึ้น เนื่องจากนำผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือน และส่วนต่างที่เหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
   

กำลังโหลดความคิดเห็น