xs
xsm
sm
md
lg

แรงงาน-ลูกจ้าง-พนักงาน ประสานเสียงขอเพิ่มเงินออมชราภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปส.เผยผลสำรวจของความต้องการเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ผู้ประกันตนร้อยละ 72 ขอให้เปิดช่องเลือกรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ หนุนปรับเพดานอัตราเงินเดือน-อัตราเงินสมทบเฉพาะในส่วนลูกจ้าง ชี้อยากมีเงินออมชราภาพเพิ่มขึ้น เตรียมเสนอบอร์ด สปส.พิจารณา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สปส.ได้สำรวจความต้องการของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เกี่ยวกับความต้องการเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th ระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค.2556 ในทุกกลุ่มอายุจำนวน 900 คน ซึ่งผลสำรวจสรุปได้ว่า ผู้ประกันตนร้อยละ 89 เห็นว่าเมื่อส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ อยากให้ สปส.เปิดโอกาสให้สามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ หรือเงินบำนาญชราภาพก็ได้ และร้อยละ 72 อยากให้ สปส.เปิดโอกาสสามารถเพิ่มเงินออมชราภาพได้มากขึ้น โดยการปรับเพดานอัตราเงินเดือนของผู้ประกันตนจากปัจจุบันกำหนดไว้สูงสุดที่ 15,000 บาทต่อเดือน ให้เพิ่มเพดานเงินเดือนผู้ประกันตนเป็น 25,000 บาท

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันผู้ประกันตนร้อยละ 50 ยินดีจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น หาก สปส.จะปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบเฉพาะในส่วนของเงินออมชราภาพ และร้อยละ 65 ต้องการส่งเงินสมทบเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 โดยให้ สปส.ยังคงเก็บเงินสมทบจากฝายนายจ้างในอัตราร้อยละ 5 เท่าเดิม เพื่อจะได้เก็บเป็นเงินออมชราภาพ ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ต้องส่งเงินสมทบเอง ซึ่ง สปส.กำหนดฐานเพดานเงินเดือนสูงสุดไว้ที่ 4,800 บาท และให้ส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ได้ขอให้ สปส.จัดเก็บเงินสมทบโดยกลับไปใช้ฐานเงินเดือนครั้งสุดท้ายในช่วงที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนออกจากงานทำงานได้เงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 750 บาท เมื่อออกจากงานและมาสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ก็ให้ สปส.จัดเก็บเงินสมทบในอัตราเดือนละ 750 บาทเช่นเดิม เพื่อที่เมื่ออายุครบ 55 ปี จะได้มีเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อ สปส.ใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาทมาคำนวณเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยนำเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายมาคูณด้วยร้อยละ 20 บวกจำนวนร้อยละที่เพิ่มให้อีกร้อยละ 1.5 ต่อปี ถ้าส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเงินชราภาพจำนวนไม่มาก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

จะนำเสนอผลสำรวจนี้ต่อคณะอนุกรรมการของสปส.ที่ดูแลสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เพื่อพิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ต่อไป ซึ่งข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้จะมีการดำเนินการหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ด สปส.ส่วนความเห็นของผู้ประกันตนที่เสนอว่าเมื่อส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ อยากให้ สปส.เปิดโอกาสให้สามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ หรือเงินบำนาญชราภาพก็ได้นั้น หากบอร์ด สปส.เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว อนาคตก็คงจะต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคมกันต่อไป” นพ.สุรเดช กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น