xs
xsm
sm
md
lg

“วราเทพ” ลงสุราษฎร์ฯ ตามจำนำข้าวขณะที่ปัญหาราคายางย้ำช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชุมร่วมกับเกษตรกรนาข้าว 14 จังหวัดภาคใต้ ย้ำจำนำข้าวภาคใต้โปร่งใส ส่วนปัญหาการชุมนุมชาวสวนยาง 3 ก.ย.นี้เชื่อชาวสวนยางมาเพราะความเดือดร้อนจริง ย้ำจับตาการเมืองแทรก ในขณะเดียวกัน 2 พ่อลูกชาวสวนยางพาราถูกอุทยานฯ ทำลายต้นยางบุกยื่นหนังสือถึงนายกฯ พร้อมขู่หากเรื่องเงียบเตรียมบุกเผาตัวประท้วงที่ทำเนียบ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (31 ส.ค.) นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุม โครงการรับจำนำข้าว ปี 2555/56 และ 2556/57 ที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี โดยได้มอบนโยบาย ให้แก่ข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 1,000 คน พร้อมเร่งทำความเข้าใจในการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเป็นปีที่ 3 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เกิดความโปร่งใส่ และลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

จึงต้องดำเนินการชี้แจ้งทำความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน การทำประชาคม และการออกหนังสือรับรองให้แก่เกษตรกรในส่วนของข้าวหอมไชยา หรือข้าวพันธุ์ พื้นเมืองที่มีคุณลักษณะพิเศษ รัฐบาลสนับสนุนให้มีการบริโภคมากขึ้นทั้งใน และต่างประเทศ โดยกรมการข้าว จะสนับสนุนในเรื่องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เกิดคุณภาพที่ดี สร้างชื่อเสียง และการยอมรับ พร้อมขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัญหาของชาวสวนยาง นายวราเทพ กล่าวว่า หลังหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเสนอมาตรการผ่านคณะกรรมการ กสย.มาแล้ว ทาง ครม ก็จะพิจารณาตามที่เสนอมา โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ที่ได้ขออนุมัติผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง คณะรัฐมนตรีไปแล้ว คือ เรื่องของการช่วยเหลือผู้ปลูกยางเรื่องค่าใช้จ่ายไร่ละ 1,260 บาท วันนี้ (31 ส.ค.) มีมาตรการเพิ่มขึ้นมาจากประชุมเมื่อวาน คือ การลด หรือชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุน CESS จากผู้ส่งออกยางออกนอกราชอาณาจักร ประมาณกิโลกรัมละ 2 บาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งผู้ปลูกยางน่าจะพอใจ

ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติไม่ว่าพืชตัวใดก็ตาม ตามที่มีการตั้งข้อครหาว่าทำไม่รัฐบาลจึงทุ่มเทงบประมาณให้แก่ผู้ปลูกข้าวเป็นแสนล้าน แต่ผู้ปลูกยางทำไม่ช่วยไม่ได้ ต้องเรียนว่า มาตรการช่วยเหลือแต่งต่างกัน จะเอาตัวเงินมาวัดจำนวนเงินต้องเท่ากันเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากขั้นตอนการดูแลข้าวกับยางมีความแตกต่างกัน รายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกรก็ต่างกัน ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวพืชแต่ละชนิดก็ต่างกัน

“เราพยายามอธิบายด้วยเหตุผล และข้อมูลมากกว่าเรื่องของความรู้สึก ไม่อยากให้เอาความรู้สึก หรือการแบ่งแยกคนภาคโน้นภาคนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุนจากภาคใดมากหรือน้อยก็ตาม ไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรต้องอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียบเป็นธรรม มาตรการที่ออกมาตอนนี้พี่น้องเกษตรกรบางส่วนอาจยังไม่พอใจ แต่ถ้ามีการพูดคุยกันรับฟังความคิดเห็นกัน มากกว่าอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าประเด็นการเมือง ปัญหาจึงจะแก้ไขได้ ส่วนการชุมนุมไม่อยากมองว่ามีเบื้องหลังหรือไม่ แต่เรามองเจตนารมณ์ของเกษตรกร ไม่ว่าภาคใดก็ตามเป็นเรื่องความเดือดร้อนต้องการของเกษตรกรจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นายวราเทพ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในครั้งนี้ นายโสภณ ดีหนู วัย 72 ปี พร้อมด้วย น.ส.ภัณฑิลา ดีหนู อายุ 38 ปี ลูกสาว อาชีพสวนยางพาราอำเภอเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ได้เข้ายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรมหลังเกิดเหตุถูกเจ้าหน้าที่อุทยานใต้ร่มเย็นจำนวนหนึ่งบุกเข้าตัดโค่นต้นยางพารา ที่มีอายุกว่า 7 ปี จำนวนกว่า 500 ต้น ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ได้ร้องเรียนมานานกว่า 8 เดือน แต่เรื่องเงียบหาย พร้อมระบุว่าวันนี้ครอบครัวตนเดือดร้อนหนัก ไม่มีที่ทำกินเข้าพื้นที่ไม่ได้ ทั้งที่ที่ดินครอบครองมาตั้งแต่ปี 2505 แต่อุทยานฯ ได้ประกาศทับที่ทำกินเมื่อปี 2534 หากภายใน 30 วันไม่มีความคืบหน้าขอยอมไปเผาตัวตายที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อประท้วงต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น