พัทลุง - ชาวนาใน ต.ชัยบุรี หันปลูกข้าวขายเมล็ดพันธุ์ ทั้งพันธุ์ข้าวขาวชัยนาท และข้าวขาวพิษณุโลก โดยขายให้แก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุงราคา กก. ละ 16.75 บาท หรือเกวียนละ 16,750 บาท สูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกันถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พัทลุง ว่า ที่ ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 34,082 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 31,550 ไร่ นอกจากนั้น เป็นแหล่งน้ำ คูคลอง ภูเขา และพื้นที่อยู่อาศัย โดยสภาพพื้นที่มีลักษณะลาดต่ำไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมขังเป็นเวลานานในฤดูฝน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มริมทะเลสาบสงขลา ดินเป็นดินเหนียวปนทรายซึ่งเหมาะแก่การทำนา
โดยพื้นที่ราบมีพื้นที่ประมาณ 50% ของพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งอยู่ในหมู่ที่ 1, 6, 8, 10, 11 และ 12 เหมาะสำหรับปลูกข้าว และพืชไร่ ส่วนพื้นที่ราบลุ่มมีพื้นที่ประมาณ 50% ของพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งอยู่ในหมู่ที่ 2, 3, 4, 5, 7 และ 9 เหมาะสำหรับปลูกข้าวนาปี และนาปรัง ซึ่ง ต.ชัยบุรี ถือเป็นแหล่งอู่นาข้าวของ จ.พัทลุง ที่เกษตรทำนาสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตในปริมาณที่สูง โดยผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 850 -1,000 กก. ต่อไร่
นายฤทธิ์ หนูแดง ประธานกลุ่มทำนา ต.ชัยบุรี เปิดเผยว่า การทำนาขายเมล็ดพันธุ์ถือว่าให้ผลผลิตที่คุ้มค่า แม้ขั้นตอนการปลูก และผลิตจะยุ่งยากก็ตาม ซึ่งในพื้นที่ ต.ชัยบุรี มีการรวมกลุ่มทำนาขายเมล็ดพันธุ์มานานหลายปี โดยการปลูกข้าวพันธุ์ข้าวขาวชัยนาท และข้าวขาวพิษณุโลก ซึ่งที่ให้ผลผลิตที่คุ้มเหมาะแก่พื้นที่ และสร้างรายได้ดีให้แก่เกษตรในแต่ละฤดูกาล ซึ่งชาวนาสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง โดยหลังจากตัดสิ่งเจือปนออกแล้ว ขายให้แก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุงในราคา กก. ละ 16.75 บาท เท่ากับเกวียนละ 16,750 บาท สูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกันถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ด้าน นายสุพัฒน์ มูลเมฆ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า ทางท้องถิ่นได้เข้ามาส่งเสริมปัจจัยการผลิต และการทำนาให้เกษตรทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ย และปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะสม รวมทั้งการกำจัดศัตรูข้าวตั้งแต่เริ่มการผลิตจนถึงการเก็บเกี่ยว เพราะพื้นที่ ต.ชัยบุรี เป็นพื้นที่ลุ่ม ตามคันนามักจะรกร้าง จนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนูนา ทำให้ในแต่ละปีมีหนูนา และหอยเชอรีระบาดกัดกินต้นข้าวจำนวนมาก
อบต.ชัยบุรี จึงได้อนุมัติงบประมาณในการช่วยเหลือชาวนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำนาของเกษตรเป็นไปตามระบบ และสามารถให้ผลผลที่สูง สร้างรายได้อย่างดีให้แก่เกษตร ลดการเป็นหนี้สินได้มาก โดยดูจากสถิติดัชนีการกู้เงินจากแหล่งเงินทุนของชาวบ้านที่นี่ พบว่าเงินกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้านนั้นชาวบ้านไม่ได้กู้ยืมกันแต่อย่างใด ถือว่าการทำนาของชาวนาที่ประสบความเสร็จด้วยดี