xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยพบชาวตรังทำนาเพียงแค่ 1.39% ของพื้นที่เกษตร อีกทั้งยังได้ผลผลิตต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ผลการวิจัยเรื่องการทำนาของจังหวัดตรัง จากศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง พบมีเพียง 1.39 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรเท่านั้น รวมทั้งยังมีผลผลิตออกมาต่ำ อันเนื่องมาจากปัญหาด้านสภาพพื้นที่ และการจัดการการผลิต

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ได้ทำการวิจัยเรื่องการทำนาของจังหวัดตรัง โดยพบว่ามีเพียงร้อยละ 1.39 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งจังหวัด หรือประมาณ 26,407 ไร่เท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นสวนยางพารา และไม้ผล ทั้งนี้ พื้นที่นาที่มีอยู่ทั้งหมดจะเป็นนาน้ำฝน มีผลผลิตเฉลี่ย 347 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยของภาคใต้ และของประเทศ คือ 405 และ 427 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ พื้นที่นาส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอนาโยง โดยมีลักษณะของการทำนาเพื่อบริโภคในครัวเรือนมากกว่าการนำไปขาย

สำหรับพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรชาวตรังนิยมปลูก ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ เล็บนกปัตตานี ขาวน้ำจืด เข็มทอง ปิ่นแก้ว ช่ออารีย์ เล็บนกช่อ เบาขี้ควาย กอขวัญ มาเลย์แดง เบาแดง นางเอก ช่อขวัญ นางแก้ว จำปาทอง จำปาเหลือง และนางพญาขาว นอกจากนี้ ยังพบพันธุ์แนะนำบ้างเล็กน้อย เช่น กข13 ชัยนาท 1 และปทุมธานี1

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่ใส่ปุ๋ย เนื่องจากเห็นว่าข้าวเจริญเติบโตดีแล้ว แต่ก็มีบางรายที่ใส่ปุ๋ย 1 ครั้ง โดยเลือกใส่เฉพาะส่วนที่เห็นว่าข้าวเจริญเติบโตไม่ดี โดยใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0หรือสูตร 16-20-0

ขณะที่การควบคุมวัชพืช การป้องกันกำจัดโรค แมลง และศัตรูข้าว เกษตรกรชาวตรังส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้สารเคมี และจะกำจัดวัชพืชโดยการใช้มือถอน ส่วนโรค และแมลงไม่มีการระบาด สำหรับศัตรูข้าวที่พบได้แก่ หอยเชอรี ปูนา และหนูนา โดยหอยเชอรี เกษตรกรจะมีวิธีการป้องกันการทำลายด้วยการใช้ต้นกล้าที่มีอายุ 40-45 วัน มาปักดำ ส่วนการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะนิยมใช้รถเกี่ยวนวด ซึ่งมีอัตราค่าใช้จ่าย 550-600 บาทต่อไร่ และยังคงเหลือการเก็บเกี่ยวด้วยมือ โดยใช้แกระ (เครื่องมือพื้นบ้าน) เพียงแค่เล็กน้อย

ทั้งนี้ ผลจากการสุ่มเก็บตัวอย่างผลผลิตข้าว ร่วมกับการสัมภาษณ์เกษตรกรชาวตรัง รวม 52 ตัวอย่าง พบว่า โดยภาพรวมระดับผลผลิตข้าวที่ได้จากการสุ่มเก็บตัวอย่างจัดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของดิน คือ ได้ผลผลิตระหว่าง 218-498 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งที่ศักยภาพของดินในพื้นที่ที่เหมาะสมจะต้องได้ผลผลิตมากกว่า 550 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งอาจเนื่องมาจากปัญหาด้านสภาพพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาน้ำฝน และการจัดการการผลิต เช่น การใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง และที่มาของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเก็บจากฤดูกาลที่ผ่านมา รวมทั้งการใช้ปุ๋ย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น