พัทลุง - อบจ.พัทลุง เดินหน้าให้ความรู้เรื่องการกำจัดหนูนาที่ถูกต้อง หลังเกษตรกรในพื้นที่เดือดร้อนหนัก 1,900 ครัวเรือน โดยถูกหนูนากัดกินนาข้าวเสียหาย ทั้งนี้ หนู 1 คู่ สามารถมีลูกหลานได้ถึง 1,400 ตัวในเวลา 1 ปี จึงบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรณรงค์กำจัดเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
วันนี้ (5 เม.ย.) นายสมชาย อินทร์ปาน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดงานการจัดการหนูนาอย่างถูกต้องเหมาะสม ตามโครงการรณรงค์กำจัดหนูนา ปี 2556 ที่ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ที่ 6 ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเกิดความตระหนักในการร่วมกันควบคุมปริมาณหนูนา ไม่ให้มีปริมาณมากจนเกิดการระบาดเป็นบริเวณกว้าง และการกำจัดหนูนาอย่างถูกต้อง และเหมาะสม
โดยในงานจัดให้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “อบจ.พัทลุง กับการพัฒนาการเกษตร” ถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการหนูนาอย่างถูกต้องและเหมาะสม และเทคนิคการกำจัดหนูนาให้ได้ผลสำเร็จ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องหนู โดยเฉพาะมีเกษตรกร และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
นายสนิท พลปัถพี หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า การจัดอบรมถ่ายทอดความรู้การจัดการหนูนาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นการจัดกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการรณรงค์กำจัดหนูนา ปี 2556 ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ได้สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุงดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเกิดความตระหนักในเรื่องการควบคุมกำจัดหนูนา และรณรงค์กำจัดหนูนาไม่ให้เพิ่มปริมาณการระบาดเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากหนู 1 คู่ สามารถมีลูกหลานได้ถึง 1,400 ตัว ในเวลา 1 ปี หากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ไม่มีศัตรูธรรมชาติ และเกษตรกรไม่ได้มีการป้องกันกำจัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ด้านนายวิมล สิงหะพล หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวเสริมว่า หนูนาระบาดใน จ.พัทลุง เมื่อปลายปี 2555 ในพื้นที่ อ.ควนขนุน และ อ.เมืองพัทลุง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,900 ครัวเรือน พื้นที่นาเสียหาย 25,000 ไร่ เพื่อลดปัญหาการระบาดของหนูนา จึงได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ขึ้นในวันนี้ และหลังจากการจัดงานวันนี้แล้ว จะมีการรณรงค์ป้องกันกำจัดหนูนากันอย่างต่อเนื่อง โดยการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งการขุด ดัก ล้อมตี และใช้สารเคมี ส่วนด้านวิชาการได้รับการสนับสนุนจากกรมวิชาการเกษตร และศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสงขลา เป็นอย่างดี และจะทำงานร่วมกันกับพี่น้องเกษตรกรตลอดไปจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน