กมธ.ศึกษาแก้ปัญหายางพารา วุฒิสภา แนะ 5 ประเด็นแก้ยางราคาตก งดเก็บเงินสงเคราะห์ชั่วคราว พร้อมหนุนใช้ยางในประเทศเป็นวาระแห่งชาติ เฉ่ง “นายกฯ ปู” ไม่จริงใจ เมินนำผลวิจัยมาขยายผล ห่วงม็อบรุนแรง ชี้รัฐบาลใช้คนน่าเชื่อถือ มีความรู้เจรจาหาข้อสรุปชาวสวนยาง
ที่รัฐสภา วันนี้ (30 ส.ค.) คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการจัดการปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และแนวทางการส่งเสริมการพัฒนายางพาราทั้งระบบ วุฒิสภา นำโดย นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ประธานกรรมาธิการ, พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สรรหา รองประธานคณะกรรมาธิการฯ, นายสุรียา บันจอร์ ส.ว.สตูล และนายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี นำแนวทางการพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ และปัญหาการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยาง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 โดยมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการใน 5 ประเด็น คือ
1. รัฐบาลจะต้องให้ข้อมูลที่ขัดเจนเกี่ยวกับตัวเลขต้นทุนการผลิต และการดำเนินการแทรกแซงราคาผลผลิตการเกษตรต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการเหลื่อมล้ำระหว่างกัน และต้องระบุให้ชัดว่าจะสามารถให้ราคาขายยางพาราได้เท่าไหร่ รวมถึงนำฐานข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาใช้ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อเกษตรกร ซึ่งตอนนี้ยังมีความคลุมเครืออยู่
2. รัฐบาลควรพิจารณางดเก็บเงินสงเคราะห์ (Cess) ชั่วคราว เพื่อยกระดับราคายางพาราที่เกษตรกรจะได้รับสูงขึ้น 2-3 บาทต่อกิโลกรัม 3. กำหนดแนวทางส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเพิ่มการใช้ยางพาราให้สูงขึ้น โดยนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมในวัสดุการทำถนนของหน่วยงานทื่เกี่ยวข้อง และควรเพิ่มอัตราการแปรรูปยางพาราให้มากขึ้นจาก 15% ขณะที่มีการส่งออกถึง 85% จึงไม่อยากให้พึ่งพิงการส่งออกอย่างเพียงอย่างเดียว โดยให้นำยางพารามาใช้ในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ความต้องการในตลาดโลกก็จะสูงขึ้น ซึ่งแนวทางการนำยางพารามาทำถนน กรรมาธิการฯ ก็ได้เสนอแนวทางต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ มีเพียงแต่นายกรัฐมนตรีเข้ามารับฟังปัญหาเมื่อวานนี้แล้วกล่าวเพียงว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ
4. รัฐบาลควรมีเงินสำรองเพื่อใช้ในกลุ่มเกษตรกร ให้เป็นผู้รับซื้อยางไว้ก่อน แล้วนำไปแปรรูปเก็บไว้ แล้วจึงนำออกมาจำหน่ายในช่วงเวลาที่ราคาดีขึ้น แทนที่รัฐบาลรับซื้อตรงๆ เพื่อให้กลไกตลาดไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก ดีกว่าการแทรกแซงราคายาง สุดท้ายจะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ และการทุจริต และเพื่อลดปัญหาสต๊อกล้นจนเกิดปัญหากลไกตลาด
5. รัฐบาลควรฟังข้อคิดเห็นเสนอแนะจากรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนที่สะท้อนปัญหาเกษตรกร รวมทั้งนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะส่งแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปยังรัฐบาลเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ เชื่อว่าสถานการณ์สามารถคลี่คลายได้หากรัฐบาลนำแนวทางนี้ไปศึกษาอย่างจริงจัง และนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน รวมถึงการลงไปพูดคุยกับประชาชนที่เดือดร้อน
พล.ต.ท.มาโนชกล่าวว่า ทางวุฒิสภาได้เห็นความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติสอบถามโดยเฉพาะข่าวการชุมนุมใหญ่ที่มีการปิดถนนที่ จ.นครศรีธรรมราช วุฒิสภาจึงมีความห่วงใยถึงปัญหานี้ เพราะเห็นว่าผู้ชุมนุมเดือดร้อนจริงๆ และเกษตรกรมีเหตุผลในการเรียกร้อง แต่เชื่อว่าในที่สุดจะสามารถคุยกันได้ และรัฐบาลต้องจริงใจหาตัวแทนคนกลางที่มีความรู้ มีความน่าเชื่อถือและมีความรับผิดชอบมาเป็นคนกลางเข้าไปเจรจากับชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบ โดยเชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมพร้อมรับฟังเหตุผลหากตัวแทนของรัฐมีเหตุผลที่ดีพอ ทุกคนจะเข้าใจ และเรียกร้องเจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้กำลังต่อกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะจะทำให้สถานการณ์บานปลายได้
นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ ยังเห็นว่าประเทศไทยมีนักวิจัยศึกษาเกี่ยวกับการแปรรูปยางพาราจำนวนมาก แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้นำการวิจัยเกี่ยวกับยางพารามาใช้ประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น เพราะหากเราไม่สามารถแปรรูปยางพาราได้ หนทางในการแข่งขันในตลาดโลกก็ดูมืดมน ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.5 ล้านครัวเรือน หากเทียบกำไรที่ได้ 10 บาทต่อกิโลกรัมนั้นจะเฉลี่ยรายได้ต่อปี 7 หมื่นบาท ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี เมื่อเทียบเศรษฐกิจปัจจุบันจะไม่สามารถอยู่ได้ เมื่อเทียบกับภาระของแต่ละครัวเรือน
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ที่ชาวสวนยางจะชุมนุมปิดถนนทั้งประเทศในวันที่ 3 กันยายนนี้จะรุนแรง และเป็นกังวลหรือไม่ พล.ต.ท.มาโนชกล่าวว่า เป็นห่วงเพราะการชุมนุมสร้างความเดือนร้อนให้คนสัญจรไปมา และจะทำให้สูญเสียรายได้กว่า 500 ล้านบาทต่อวันในการขนส่งสินค้า แต่ก็เข้าใจว่าคนที่มาชุมนุมมีความเดือดร้อนจริงๆ ซึ่ง 3 วันที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะต้องรีบจัดการเรื่องดังกล่าวให้เรียบร้อย โดยจากที่ดูสัญญาณแล้วพอมองได้ว่ารัฐบาลมีแนวโน้มในการจะไม่เกิบเงิน CESS จากเกษตรกรชาวสวนยาง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การไขปัญหาราคายางที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ในการจับมือประเทศคู่ค้าในการต่อรองราคา รวมถึงการโค่นยางเก่านั้นถือเป็นการตัดสินในผิดพลาดกระทบปัญหาราคายางหรือไม่ พล.ต.ท.มาโนชกล่าวว่า การจับมือกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้วเพื่อกำหนดกลไกราคาด้วยกัน แต่กรณีนี้เราอาจเสียเปรียบเจอคู่ค้าที่ไม่ซื่อสัตย์ เพราะในขณะที่เราลดการผลิตแต่คู่ค้ากลับแร่งการผลิต ทั้งนี้ยังมองว่าจากการรับซื้อยางพาราที่ผ่านมาทำให้มียางเก็บไว้ในสต๊อกจำนวนมาก ทำให้ตลาดโลกกดราคายางพาราในประเทศไทย เพราะคิดว่าอย่างไรเราก็ต้องขายในราคาที่ถูก
“แต่หากรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ขายยางในสต๊อก และนำมาใช้แปรรูปหรือใช้ทำถนนแทน อย่างน้อยก็เป็นการนำยางพารามาใช้ในประเทศได้ แม้จะมีต้นทุนที่แพงกว่า แต่สภาพการใช้ง่ายก็คุ้มค่า ทั้งนี้ หากเรานำยางพารามาใช้ในประเทศก็จะทำให้ยางมีความต้องการในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และทำให้ราคาสูงตามหลักการอุปสงค์อุปทาน และเป็นไปตามกลไกตลาด”