xs
xsm
sm
md
lg

เอแบคโพลล์ชี้ ปชช.ผิดหวัง-หมดศรัทธารัฐสภา จี้ปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอแบคโพลล์สำรวจความเห็นประชาชน 17 จังหวัด ส่วนใหญ่ 80% รู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรมความวุ่นวายและไม่มีมารยาทของ ส.ส. ในขณะประชุมสภาฯ 65% หมดศรัทธา ชี้เป็นการโต้เถียงกันมากกว่าประชุม เชื่อการประชุมพิจารณาเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม จี้ปฏิรูปคุณธรรม-จริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา

น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “สภาอันทรงเกียรติกับการปฏิรูปด้านคุณธรรม จริยธรรมในสายตาประชาชน” จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,127 ตัวอย่าง โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 ติดตามข่าวสารการประชุมสภาผู้แทนราษฏร

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 65.1 รู้สึกหมดศรัทธาต่อรัฐสภา สภาผู้ทรงเกียรติของไทย ในขณะที่ ร้อยละ 20.9 ระบุยังศรัทธาเหมือนเดิม และร้อยละ 14.0 ไม่รู้สึกอะไร

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้เป็นการอภิปรายในเนื้อหาสาระหรือเป็นการโต้เถียงกันมากกว่า พบว่า ร้อยละ 89.0 คิดว่าเป็นการโต้เถียงกันมากกว่า มีเพียงร้อยละ 11.0 คิดว่ามีเนื้อสาระมากกว่า

ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.3 คิดว่าประเด็นการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานเพื่อผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 18.7 คิดว่าอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมมากกว่า

เมื่อสอบถามถึงความเป็นกลางของประธานรัฐสภา พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.6 คิดว่าประธานรัฐสภามีความเป็นกลาง ในขณะที่เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.4 คิดว่าไม่เป็นกลาง

ที่น่าสนใจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 รู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรมความวุ่นวายและไม่มีมารยาทของ ส.ส. ในขณะประชุมสภาฯ เพราะประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับตำแหน่งในฐานะผู้แทนประชาชนทั่วทั้งประเทศ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ประชาชนในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม มารยาท ความรุนแรง และความขัดแย้ง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามที่ประชาชนไว้ใจและคาดหวังไว้ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 19.4 ไม่รู้สึกอะไร

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.1 รู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรมของ ส.ส.ที่ดูภาพวาบหวิวในขณะประชุมสภาฯ เพราะ แสดงถึงความไม่จริงใจและไม่ใส่ใจในการประชุม เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 17.9 ไม่รู้สึกอะไร

และกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 86.9 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถึงเวลาแล้วกับการปฏิรูปรัฐสภาด้านคุณธรรม จริยธรรม มีเพียงร้อยละ 10.4 ระบุเฉยๆ และร้อยละ 2.7 ไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

น.ส.ปุณฑรีก์กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าประชาชนรู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรม มารยาท และคุณธรรม จริยธรรมของกลุ่มคนผู้ทรงเกียรติที่ดำรงตำแหน่งในฐานะผู้แทนประชาชนทั่วทั้งประเทศจากเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในการประชุมสภาฯ ในขณะนี้ ดังนั้นถ้าฝ่ายการเมืองและทุกภาคส่วนถือเอาหลักคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นแก่นสำคัญของชีวิต ประเทศชาติคงจะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้อีกเยอะ แต่ในความเป็นจริงและผลสำรวจที่ศึกษาครั้งนี้กลับพบว่า ผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากนำเอาเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นเพียง “กันชน” เพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี ดูเป็นผู้มีคุณธรรมในสังคม ถ้าหากวันหนึ่งเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมกลายเป็น “กันชนที่หายไป” แล้ว สังคมไทยจะเสื่อมและเสียหายยากจะเยียวยาฟื้นฟูได้

ดังนั้น ทางออกที่น่าพิจารณาคือ รัฐบาลและฝ่ายการเมืองน่าจะถือเอาเรื่อง คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแก่นสำคัญของชีวิตด้านนี้ โดยเริ่มจากสรรหาคนดีแท้จริงมาอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมและจริยธรรม จัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอต่อการทำให้เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชนและสังคมระดับกว้าง

นอกจากนี้ เสนอให้ผู้ที่จะมีอำนาจในระดับชุมชนท้องถิ่นถึงระดับชาติทั้งฝ่ายข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองเข้าศูนย์ฝึกอบรมและได้รับการฟังเทศนา สั่งสอนจากวิทยากรทั้งทางโลกและทางธรรมโดยเป็นคณะบุคคลที่ผู้เข้ารับการอบรมให้ความเชื่อถือ ศรัทธา และมีระบบติดตามประเมินผลพฤติกรรมคณะบุคคลที่ผ่านการอบรมเหล่านั้นตลอดช่วงเวลาที่พวกเขามีอำนาจ


กำลังโหลดความคิดเห็น