ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านใน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รื้อฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวใต้ด้วยการสืบสานประเพณีลงแขกเก็บข้าวด้วยแกะ ที่ปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็น ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง ทำนาเพียงแค่ 1 ไร่ สามารถเก็บไว้กินได้ทั้งปี
วันนี้ (11 ก.พ.) ชาวบ้านในพื้นที่บ้านควนลัง ม.3 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นำโดย นายประเสริฐ ศรีระสันต์ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลควนลัง ร่วมกันรื้อฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านในภาคใต้ ด้วยการรื้อฟื้นประเพณีลงแขกเก็บข้าว (เกี่ยวข้าว) ด้วยแกะ ซึ่งเป็นวิธีการเก็บข้าวของชาวนาในภาคใต้ตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยจะใช้แกะเก็บทีละรวงแล้วนำมามัดเป็นเลียงโดยใช้ต้นข้าวมัดแทนเชือก
ซึ่งปัจจุบัน การลงแขกเก็บข้าวด้วยแกะมีให้เห็นน้อยมากโดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าวสำหรับเก็บไว้กินเองในครัวเรือนตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านในชนบท ซึ่งการลงแขกเก็บข้าวในครั้งนี้ มี คุณยายนุ่น ชุมสุวรรณ อายุ 94 ปี ชาวบ้านรุ่นแรก และรุ่นบุกเบิกของตำบลควนลังถือไม้เท้ามาลงแขกเก็บข้าวด้วย แม้ร่างกายจะไม่สะดวก และก็ยังเก็บข้าวด้วยแกะอย่างชำนาญ
นายประเสริฐ กล่าวว่า การลงแขกเก็บข้าวด้วยแกะจะได้ข้าวเต็มรวงทุกเม็ด และมีคุณภาพเพราะเลือกเก็บเฉพาะข้าวที่สุกเต็มที่ไม่เหมือนกับการใช้เคียว หรือใช้รถเกี่ยว และการเก็บข้าวด้วยแกะยังเป็นเอกลักษณะที่มีเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น นอกจากนี้ การลงแขกเก็บข้าวยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ความสามัคคีขึ้นของชาวบ้าน และสะท้อนวิถีชีวิตชาวนา และชาวชนบทได้เป็นอย่างดี เพราะในสมัยก่อนการลงแขกเกี่ยวข้าวบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมหากมีชาวบ้านมาช่วยมากแสดงว่าเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ และเป็นที่รักของเพื่อนบ้าน หรือหากใครที่มีข้าวอยู่ในห้องข้าว (ยุ้งข้าว) มากแสดงว่าเป็นคนขยันทำมาหากิน หรือผู้ที่มีฐานะทางสังคม
นายประเสริฐ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับแปลงนาที่รื้อฟื้นลงแขกเก็บข้าวในครั้งนี้ตนได้ลงมือปลูกเพียง 1 ไร่ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผลผลิตที่ได้สามารถกินได้ทั้งปีโดยไม่ต้องซื้อ และใน 1 ปี จะปลูก 2 ฤดูกาลคือ ข้าวนาปี ปลูกในช่วงเดือนอ้าย หรือช่วงเดือนพฤศจิกายน ใช้พันธุ์ข้าวสังข์หยด และข้าวนาปรัง จะปลูกในช่วงเดือน 6 หรือประมาณเดือนพฤษภาคม จึงอยากให้ทุกคนหันมายึดวิถีชีวิตแบบพอเพียงตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยที่ปลูกข้าวไว้กินเอง ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อตามโลก เพราะความพอเพียงเป็นแก่นแท้และรากเหง้าที่แท้จริงของคนไทย