ประจวบคีรีขันธ์ - รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ประชุมร่วมกับสัตวแพทย์จากทั้งกรมอุทยานฯ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ สัตวแพทย์กรมปศุสัตว์ และ ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี สรุปประเด็นหลัก “สารพิษ-โรคติดต่อ” คร่าชีวิตกระทิง 13 ตัว พร้อมตั้งคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการ ตรวจสอบหาสาเหตุการตาย พร้อมเก็บตัวอย่าง “ดิน น้ำ พืช และเนื้อเยื่อ” ส่งพิสูจน์คาดรู้ผลในเดือนมกราคมปีหน้า
วันนี้ (23 ธ.ค.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์กรณีการพบซากกระทิงกุยบุรี ในเขตโครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ติดกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า หลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ พร้อมเครือข่าย องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี เช่น ฝ่ายปกครองอำเภอกุยบุรี ทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ทหารพราน WWF ประเทศไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านในพื้นที่ ฯลฯ ได้สนธิกำลังตรวจสอบพื้นที่ 6 ตร.กม.จนถึงวันนี้พบซากกระทิงเพิ่มอีก 5 ตัว ซึ่งจากเดิมพบไปแล้ว 8 ตัว รวมทั้งหมด 13 ตัว แต่ละตัวไม่พบร่องรอยกระสุนปืน หรือถูกฆ่า เขา และเนื้อกระทิงอยู่ครบทุกตัว คาดว่ากระทิงแต่ละตัวน่าจะตายในช่วงปลายเดือน พ.ย.
ส่วนตัวที่มีสภาพเน่าเปื่อยไม่สามารถตรวจสอบได้น่าจะตายมาแล้ว 2 เดือน โดยพื้นที่ที่พบซากกระทิงกุยบุรีทั้งหมดนั้น พบในบริเวณรอบโครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราดำริ (บริเวณโครงการกุญชร) ทั้งหมด อยู่ตอนใต้ของบริเวณหน้าผาทางด้านทิศตะวันตก โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้เก็บหลักฐานทางกายภาพ และชีวภาพ ทั้งน้ำ ดิน พืช อาหารสัตว์ แร่ธาตุดิน รวมทั้งการตรวจสภาพพื้นที่แวดล้อมข้างเคียง และร่องรอยแต่ละแห่งเพื่อประมวลหาสาเหตุการตาย
สำหรับพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โครงการกุญชร) เดิมที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำไร่สับปะรดของชาวบ้านก่อนจะประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ มาแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่สารเคมี หรือสารพิษทางการเกษตรอาจยังตกค้างในพื้นที่บริเวณดังกล่าว จึงต้องมีการตรวจสอบพื้นที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง
นายธีภัทร กล่าวว่า จะมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่อีกประมาณ 3,750 ไร่ นอกจากนี้ ทางกรมอุทยานฯ จะจำกัดพื้นที่ไม่ให้ฝูงกระทิง หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีการแบ่งโซนพื้นที่ตรวจสอบเป็น 4 โซน โซนจุดชมช้าง-กระทิง บริเวณหน้าผา, โซนกันชน, โซนโครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โซนกุญชร) และโซนเกษตรกรม ที่ชาวบ้านทำการเกษตร ส่วนซากกระทิงทั้งหมดนั้นได้ทำการโรยปูนขาว และฝังไว้เพื่อตรวจสอบกระเพาะอาหาร และชิ้นส่วนของพืชที่กระทิงได้กินเข้าไป ซึ่งต้องรอผลทางวิชาการ คาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนมกราคมปีหน้า
เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ ได้มีการประชุมการกำหนดแนวทางหาสาเหตุการตายของกระทิงในป่ากุยบุรี โดยมีผู้ร่วมประชุม ทั้ง นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายปรีชา วิทยพันธุ์ หน.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมคณะสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ ตัวแทนสถาบันสุขภาพสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ม.เกษตรศาสตร์ ม.หิดล
โดยที่ประชุมได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความเป็นไปได้ของสาเหตุการตายถึง 13 ตัว ของฝูงกระทิงในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีการสรุปถึงสาเหตุของการตายคือ ทั้งเรื่องตายเองโดยธรรมชาติ ตายจากสัตว์ผู้ล่า ตายจากสารพิษในสภาพแวดล้อม และโรคติดต่อ และมีการสรุปวิเคราะห์ถึงประเด็นหลักการตาย 2 ประเด็นทั้งจากสารพิษ และโรคติดต่อ
โดยที่ประชุมมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบสาเหตุการตายของกระทิงทั้งหมด โดยมีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานคณะกรรมการฯ รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ตรวจสอบเรื่องสารพิษ และโรคระบาด คาดว่าจะมีผลสรุปออกมาภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า
ทั้งนี้ ทางคณะสัตวแพทย์ จากสถาบันและมหาลัยต่างๆ คาดว่าจะเริ่มลงมาในพื้นที่เพื่อเก็บพวกพืชอาหารที่สัตว์กิน รวมทั้งเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนเพื่อนำมาวิเคราะห์หาข้อมูลการตายของฝูงกระทิง ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็จะต้องเริ่มลงมือเก็บตัวอย่างน้ำ ดินโป่ง พืช สาหร่าย เพิ่มเติมเช่นกัน และสิ่งสำคัญจะต้องเก็บถุงที่บรรจุหิน ดิน ทราย ที่นำมาใช้ทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่อุทยานฯกุยบุรี และในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ออกให้หมด