xs
xsm
sm
md
lg

พบซากกระทิงป่ากุยบุรีตายเพิ่มอีก 1 ตัวเป็น 13 ตัวแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบซากกระทิงป่ากุยบุรีตายเพิ่มอีก 1 ตัว รวมเป็น 13 ตัวแล้ว หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ในฐานะนักอนุรักษ์ ย้ำให้ทุกหน่วยเร่งหาข้อเท็จจริง

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมคณะ และนายสัตวแพทย์ด็อกเตอร์วงศ์อนันต์ ณรงค์วานิชการ หัวหน้ากลุ่มชีวเคมีและพิษวิทยา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ นายสัตวแพทย์สาโรจน์ จันทร์ลาด ประจำสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่ติดตามปัญหากระทิงป่ากุยบุรีตายต่อเนื่องถึง 8 ตัว ตั้งแต่วันที่ 2-22 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยพบว่ากระทิงป่าทุกตัวตายบริเวณโดยรอบโครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านทิศใต้ หรือโครงการกุญชรทั้งหมด ซึ่งแต่ละตัวไม่พบรอยกระสุนปืน หรือร่องรอยการถูกทำร้าย โดยที่เขา หัว และเนื้อกระทิงอยู่ครบทุกตัว และพบว่ากระทิงตัวที่ 2 และ 6 มีร่องรอยถูกกัดบริเวณคอ และสะโพก สันนิษฐานน่าจะถูกสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือ หมาไน สุนัขจิ้งจอก ล่ากินเป็นอาหาร โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่า กระทิงทุกตัวน่าจะตายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำในห้วยลึก และลำห้วยสาขาบริเวณโดยรอบโครงการกุญชร 12 จุด พร้อมทั้งดินโปร่ง ต้นไมยราบยักษ์ไร้หนาม ฯลฯ ส่งตรวจยังสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจพิสูจน์แล้ว โดยผลจะออกภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์นั้น

โดยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายสรัชชา สุริยกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานฯ นายปรีชา วิทยพันธุ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี (POWER of Kuiburi) ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ บ้านรวมไทย ทหารพราน ตชด.ฝ่ายปกครอง อส.กุยบุรี เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ WWF มูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ กำนันตำบลหาดขาม ผู้ใหญ่บ้านรวมไทย ประมาณ 150 นาย สนธิกำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่ 6 ตารางกิโลเมตร หรือเกือบ 4 พันไร่ อย่างละเอียดชนิดปูพรมเชิงลึกเพื่อพิสูจน์ทราบ และเก็บหลักฐานตัวอย่างดิน น้ำ พืชอาหารสัตว์ รวมทั้งการตรวจสภาพพื้นที่แวดล้อมข้างเคียง และร่องรอยแต่ละแห่งเพิ่มเติม เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลหาสาเหตุการตายของกระทิงต่อไป โดยหลังจากเจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการลาดตระเวนหลายชั่วโมงจนช่วงเย็นวานนี้ ก็มีรายงานว่า พบซากกระทิงป่ากุยบุรีตายเพิ่มอีก 4 ตัว รวมเป็น 12 ตัวแล้ว

จากการเข้าตรวจสอบพิกัดที่พบซากกระทิง โดยตัวที่ 9 อยู่ที่บริเวณเชิงเขาไทรเอน เป็นกระทิง เพศผู้ ตัวใหญ่ น้ำหนักราว 1,500 กิโลกรัม ส่วนเขาทู่เล็กน้อย คาดว่าจากการต่อสู้กันเอง ส่วนขาหน้าพับงอทั้ง 2 ข้าง ลักษณะซากเน่าเปี่อย และทรุดตัว ตัวที่ 10 พบบริเวณห้วยเขาตะเพ็ง ด้านเหนือ เพศผู้ ตายอยู่ในลำห้วย น้ำหนักตัวใกล้เคียงกัน แต่ซากเน่าเปื่อยมาก ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวล ถัดไปอีกประมาณ 200 เมตร ที่บริเวณด้านใต้ พบซากกระทิงตัวที่ 11 เป็นกระทิงเพศผู้ ตัวใหญ่ ส่วนเขามีรอยแตกหัก ส่วนกีบขาเริ่มหลุด พบร่องรอยสัตว์ผู้ล่าอย่าง หมาไน สุนัขจิ้งจอก โดยรอบ แต่ไม่มีการกัดกินซากดังกล่าว และตัวที่ 12 พบว่า เป็นกระทิงเพศผู้เช่นเดียวกัน แต่ซากเหลือแต่เพียงกระดูกเท่านั้น และมีร่องรอยการกัดแทะกระดูด คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วเกือบ 2 เดือน จึงน่าจะเป็นกระทิงที่ตายอีกตามธรรมชาติ และไม่ใช่การตายในชุดเดียวกับที่พบทั้ง 11 ตัวก่อนหน้านี้ โดยรองอธิบดีฯ ได้สั่งการให้เก็บหัวกระทิงที่ยังมีเขาทั้ง 2 ข้างอยู่ครบ กลับไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานอุทยานกุยบุรีด้วย

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบการตายของกระทิงแบบต่อเนื่องในรอบ 20 วันที่ผ่านมานั้น โดยเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใย และมอบหมายให้ผมลงมาติดตามปัญหา โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างแน่นอน ขณะนี้จะยังไม่ตัดที่จะทำให้กระทิงตายประเด็นใดๆ ทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคระบาด แหล่งน้ำ สารพิษ หรือแม้แต่พืชที่เป็นพิษ

โดยมีการพูดคุยกับทางอุทยานฯ และนายอำเภอกุยบุรี กำนันตำบลหาดขาม ผู้ใหญ่บ้านรวมไทย และชมรมท่องเที่ยวกุยบุรี ที่ให้บริการพานักท่องเที่ยวชมช้าง และกระทิง และเห็นด้วยในการปิดพื้นที่ที่บริเวณจุดที่พบการตายของกระทิง ห้ามไม่ให้พานักท่องเที่ยวเข้ามาโดยเด็ดขาด แต่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมช้าง และกระทิงได้ เฉพาะที่จุดชมช้างและกระทิง และบริเวณโป่งสลัดไดเท่านั้น เป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบโรค

อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าไปสัมผัสกับซากกระทิง จะต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทุกคนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จนกว่าจะรู้ข้อเท็จจริงว่ากระทิงตายด้วยสาเหตุใดกันแน่

นายสัตวแพทย์ด็อกเตอร์วงศ์อนันต์ ณรงค์วานิชการ หัวหน้ากลุ่มชีวเคมีและพิษวิทยา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กล่าวเบื้องต้นว่า มีเหตุผลหลายอย่างที่อาจจะทำให้กระทิงตายพร้อมๆ กันได้ โดยจะยังไม่ตัดประเด็นสงสัยใดทิ้ง แต่จะเก็บข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำไปประชุมหารือร่วมกับทีมสัตวแพทย์กับกมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อไป

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ซึ่งออกลาดตระเวนบริเวณพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พบซากกระทิงนอนเสียชีวิตอยู่ในพื้นที่บริเวณด้านหลังป้ายโครงการพระราชดำริฯ อีก 1 ตัว สภาพเน่าเปื่อยเหมือนกับตัวอื่นๆ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี ได้ทำการระบุพิกัดลงในแผนที่พร้อมบันทึกข้อมูล และรอการเข้ามาตรวจสอบของทีมสัตวแพทย์อีกครั้งที่จะเข้าไปชันสูตรซากระทิง พร้อมกันนั้น เจ้าหน้าที่ชุดทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ทหารพราน และเจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กุยบุรี ได้รับคำสั่งจากนายปรีชา วิทยพันธุ์ หน.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ให้เข้าไปสำรวจพื้นที่ชั้นในเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของฝูงกระทิง และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ว่ามีความปกติหรือไม่ โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 คืน 3 วัน

ด้านนายศรีสวัสดิ์ บุญมา กำนันตำบลหาดขาม กล่าวว่า รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่มีกระทิงเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาหลายวันที่ผ่านมา รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ก็ต่างอยากทราบสาเหตุว่าจริงๆ แล้วกระทิงตายยกฝูงในลักษณะเช่นนี้เกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ซึ่งมั่นใจว่าคงไม่ได้เจ็บป่วยตายอย่างแน่นอน

“วันนี้ผมทราบว่าทีมสัตวแพทย์กำลังมีการประชุมกันอยู่ที่กรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อวิเคราะห์ถึงข้อมูล และปัญหาที่เกิดขึ้น ผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาข้อเท็จจริงให้ได้ เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชน เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก และยังเป็นโครงการพระราชดำริ ที่พระองค์ท่านพลิกฟื้นขึ้นมาจากไร่สับปะรด และกลายเป็นป่าจนมีสัตว์ป่า ทั้งช้าง และกระทิงเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านในหมู่บ้านก็มีรายได้เสริมจากการพานักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมช้าง และกระทิงตามมา”

ด้านหม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ในฐานะนักอนุรักษ์ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์เศร้าสลด ที่เจ้าหน้าที่รายงานให้ทราบว่า วันนี้มีกระทิงตายเพิ่มถึง 13 ตัวแล้วในวันนี้ จึงอยากให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ วิเคราะห์ หาข้อมูลให้เร็วมากขึ้นกว่านี้ เพราะเกิดความน่าสงสัยมากกว่า ทำไมกระทิงที่ตายจึงเป็นกระทิงที่สมบูรณ์ทั้งนั้น และตอนนี้จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะมาตรการป้องกันไม่ให้กระทิงเสียชีวิตไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะคงต้องเร่งระดมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ในโครงการพระราชดำริ และแนวเขตติดต่อ เพราะท่านหญิงมีความเป็นห่วงเป็นอย่างมากต่อสถานการณ์ที่กระทิงตายในลักษณะแบบนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น