xs
xsm
sm
md
lg

สัตวแพทย์คาดกระทิงป่ากุยบุรีถูกสารพิษ พบตายเพิ่มรวมเป็น 8 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ออกตรวจสอบพบซากกระทิงเสียชีวิตเป็นตัวที่ 8 ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี นายสัตวแพทย์สำนักงานปศุสัตว์ประจวบคีรีขันธ์ คาดเบื้องต้นอาจได้รับสารพิษ เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำ 12 จุด พร้อมเลือดวัวชาวบ้านที่ป่วย และถุงยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ ส่งตรวจสอบที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เป็นการด่วนแล้วเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา

วันนี้ (20 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีพบกระทิงเสียชีวิตในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่วันที่ 2-20 ธันวาคม 2556 ว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ได้พบกระทิงเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ตัว รวมเป็นขณะนี้ทั้งหมด 8 ตัวแล้ว

หลังจาก นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี จึงได้สั่งการให้นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายปรีชา วิทยพันธุ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หาสาเหตุการเสียชีวิตของกระทิงทั้งหมด

ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี สัตวแพทย์สำนักงานปศุสัตว์ประจวบคีรีขันธ์ ปศุสัตว์อำเภอกุยบุรี อส.กุยบุรี ปลัดอำเภอกุยบุรี ทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ และเจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย ผู้ใหญ่บ้านรวมไทย พร้อมชาวบ้านกว่า 40 นาย ได้แบ่งกำลังออกเดินปูพรมเพื่อตรวจสอบพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบซากกระทิงเพศผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอยู่ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีก 1 ตัว ซึ่งทางสัตวแพทย์คาดเสียชีวิตมาเกือบ 2 สัปดาห์ เพราะสภาพเน่าหมดแล้ว แต่ไม่พบร่องรอยบาดแผลถูกยิงแต่อย่างใด จึงนับเป็นกระทิงตัวที่ 8 ที่เสียชีวิต

นายสัตวแพทย์ สาโรจน์ จันทร์ลาด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบตั้งแต่ตัวแรกจนถึงตัวนี้พบว่า สภาพของกระทิงที่เสียชีวิตมีสุขภาพที่สมบูรณ์ น้ำหนักกว่า 1,500 กิโลกรัมขึ้นไป และคาดว่าจะเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งขณะนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะได้รับสารพิษเข้าไป อาจจะเป็นจากแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงก็เป็นได้ ทำให้ในวันนี้เจ้าหน้าที่จึงออกเก็บตัวอย่างน้ำตามจุดต่างๆ รวม 12 จุด ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 24 ขวดๆ ละ 1500 ซีซี รวมทั้งดินโป่งที่มีการทำเพิ่มเติมในพื้นที่ และถุงยาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการปลูกพืชผลทางการเกษตรทั้งสับปะรด ยางพารา ตลอดจนปาล์มน้ำมัน ที่อยู่ติดกับพื้นที่โครงการพระราชดำริ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ตลอดจนเก็บตัวอย่างเลือดของวัวชาวบ้านในพื้นที่ที่พบว่าป่วย 13 ตัว นำส่งอย่างเร่งด่วนที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุการตายของกระทิง 8 ตัว ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าผลน่าจะออกก่อนปีใหม่

ด้านนายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จัดเจ้าหน้าที่ออกป้องกันไม่ให้ช้างป่า และกระทิง ตลอดจนสัตว์อื่นๆ เข้ามาใช้แหล่งน้ำที่คาดว่าทำให้กระทิงเสียชีวิต และได้รับรายงานเบื้องต้นจาก นายปรีชา วิทยพันธุ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี แจ้งให้ทราบว่า กำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี ทหารพราน และเจ้าหน้าที่ WWF ประเทศไทย ที่ออกเดินป่าสำรวจติดตามกระทิงที่หายออกไปจากพื้นที่นานกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดกลับมาแล้ว และได้รายงานว่า ขณะนี้พบร่องรอยของฝูงกระทิงจำนวนมากอยู่ในป่าชั้นในทางด้านทิศตะวันตก มีทั้งแหล่งน้ำ และแหล่งอาหาร

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราไม่พบร่องรอยของการล่ากระทิงในจำนวน 8 ตัวที่เสียชีวิต แต่สิ่งสำคัญคงต้องรอผลจากการตรวจสอบของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งทางเราเก็บตัวอย่างน้ำไปให้ตรวจสอบแล้วในวันนี้

หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล หลังได้รับทราบปัญหากระทิงที่เสียชีวิตได้เดินทางมายังอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยมี นายพงษ์พันธุ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี และนายปรีชา วิทยพันธุ์ หัวหน้าอุทยานฯ กุยบุรี ได้รายงานถึงสภาพกระทิงที่เสียชีวิตในเบื้องต้นให้ได้รับทราบ และได้มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ และขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ ร่วมกันออกติดตามในพื้นที่ดูอย่างต่อเนื่องว่า ยังจะมีกระทิงเสียชีวิตเพิ่มเติมในพื้นที่อีกหรือไม่ และสาเหตุของการเสียชีวิตที่วันนี้มีตัวเลขถึง 8 ตัวแล้ว ซึ่งส่วนนี้ ทางสัตวแพทย์ก็คงต้องหาข้อมูล และส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของกระทิงที่แท้จริงเกิดจากสาเหตุใด




กำลังโหลดความคิดเห็น