ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ประชาชนระบุประชุมโครงการ “กระเช้าลอยฟ้า” เชื่อมโยงไนท์ซาฟารี ดอยปุย-ดอยผาดำข้อมูลน้อย ไม่เห็นภาพ ชี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ด้านคณะทำงานแจง แค่เริ่มศึกษาไม่ตั้งธงว่าต้องทำ ด้านอาจารย์วิศวะ มช.ชี้เป็นโครงการยาวที่สุดในโลกแต่ไม่น่าชื่นชม เพราะยิ่งไกลยิ่งมีปัญหาเยอะ หวั่นแค่ 6 เดือนทั้งสำรวจ-ออกแบบ-ทำอีไอเอไม่น่าทัน
วันนี้ (26 พ.ย.) ผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วนต่างแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายในการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาสำรวจและออกแบบกระเช้าลอยฟ้า (Cable Car) เชื่อมโยงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ดอยปุย-ดอยผาดำ จ.เชียงใหม่ ซึ่งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) จัดขึ้นที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่เห็นว่ายังมีข้อมูลนำเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มากพอ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และประชาชนในพื้นที่ รับฟังการชี้แจงข้อมูลจากตัวแทนบริษัท เทสโก้ จำกัด และภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาสำรวจและออกแบบโครงการ ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยคณะทำงานได้แจ้งถึงขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วย 1.ศึกษา สำรวจเส้นทางการสร้างกระเช้าลอยฟ้าที่เหมาะสม และศึกษาความเหมาะสมของโครงการครอบคลุมทั้งด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การลงทุน และสังคม
2. ออกแบบก่อสร้างโครงการ และกิจกรรมต่อเนื่องในการก่อสร้าง และ 3. การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งระบุว่าหากมีการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าดังกล่าว จะเป็นเส้นทางยาวที่สุดในโลก
ภายหลังชี้แจงข้อมูลได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่ระบุว่ารายละเอียดของโครงการยังมีน้อยเกินไป ไม่เห็นภาพว่าโครงการจะมีลักษณะอย่างไร หรือจะดำเนินการในพื้นที่ใดบ้าง รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลว่าหากก่อสร้างจริงแล้วการบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร อีกทั้งต้องการให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมทั้งในขั้นตอนดำเนินการและการบริหารจัดการภายหลังด้วย
ดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ จ.เชียงใหม่เป็นเมืองอันดับ 2 ของประเทศ อีกทั้งเชียงใหม่ไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2549 จึงจำเป็นที่จะต้องมีโครงการเพื่อเป็นจุดดึงดูดให้คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวให้มากขึ้น
ขณะที่นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จำเป็นจะต้องสร้างจุดขายใหม่ขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นได้ในอนาคต ซึ่งการสร้างกระเช้าลอยฟ้าถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเกื้อหนุนด้านการท่องเที่ยว จึงอยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้าง และพิจารณาว่าโครงการมีความเหมาะสมหรือมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด
ส่วนรองศาสตราจารย์ ดร.สามัคคี บุณยะวัฒน์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรับผิดชอบในส่วนของการรับฟังความคิดเห็น และการสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยหลังจากการประชุมครั้งนี้จะลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่อีกครั้งเพื่อนำเสนอทางเลือกในการออกแบบก่อสร้าง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และแนวทางการแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังเป็นเพียงการนำเสนอแนวคิดเท่านั้น เรื่องการก่อสร้างยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน หากประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย หรือโครงการไม่คุ้มค่ากับการลงทุนก็จะตกไป โดยไม่มีการตั้งธงว่าต้องสร้างแน่นอน ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถนำเสนอความคิดเห็นและข้อห่วงใยให้คณะทำงานนำไปประกอบการพิจารณาได้
ทั้งนี้ นายวัลลภ นามวงศ์พรหม กรรมการประชาสัมพันธ์วัดพระธาตุดอยสุเทพ กล่าวว่า กระเช้าลอยฟ้าเป็นสิ่งที่อยู่ในใจคนเชียงใหม่มานาน หากดำเนินการในลักษณะที่เคยเป็นมาก็น่าจะถูกต่อต้านแน่นอน ส่วนความจำเป็นในการก่อสร้างคงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม ตนตั้งข้อสังเกตว่าสถานที่ในเส้นทางของกระเช้าลอยฟ้าสามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นการจะอ้างว่าจำเป็นต้องก่อสร้างเพราะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงพื้นที่คงไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสม
ขณะที่ น.ส.ทัทยา อนุสสรราชกิจ ตัวแทนจากภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการของโครงการ เนื่องจากเป็นการกำหนดนโยบายมาจากรัฐ ไม่ได้สอบถามความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังทราบว่าโครงการเป็นส่วนหนึ่งของอีกหลายโครงการ ที่สำนักงานพัฒนาพิงคนครเตรียมที่จะดำเนินการในเชียงใหม่ โดยไม่เคยเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ
ขณะเดียวกันยังเห็นว่า การให้เหตุผลว่าพื้นที่อื่นก็มีการก่อสร้างกระเช้านั้นเป็นเหตุผลที่ไม่เหมาะสม เพราะเชียงใหม่มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ ต่างจากพื้นที่อื่นที่ยกตัวอย่างมา ซึ่งจำเป็นต้องสร้างกระเช้าเป็นจุดขาย ส่วนการเคลื่อนไหวในลำดับต่อไปนั้น ทางภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองเตรียมจะขอเปิดสภาพลเมือง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันหารือและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์ชูโชค อายุพงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การที่โครงการระบุว่ากระเช้าลอยฟ้าเชื่อมโยงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี-ดอยปุย-ดอยผาดำ จะเป็นกระเช้าลอยฟ้าที่มีเส้นทางยาวที่สุดในโลกนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าดีใจเลย เพราะโดยทั่วไปกระเช้าลอยฟ้าที่มีการก่อสร้างในต่างประเทศล้วนแล้วแต่จะก่อสร้างให้เส้นทางค่อนข้างสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ผ่านจุดชมวิวที่มีความสวยงามและหลากหลายเพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน
ซึ่งต้องยอมรับว่าตามโครงการนี้เส้นทางกระเช้าลอยฟ้าจะผ่านแต่ผืนป่าดอยสุเทพเป็นหลัก ไม่ได้มีวิวที่หลากหลาย และมีระยะทางค่อนข้างไกล ซึ่งอาจจะสร้างความตื่นตาตื่นใจได้ในช่วงต้นๆ เท่านั้น และไม่น่าจะสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางมาซ้ำอีก ดังนั้นในแง่ขอความคุ้มค่าการลงทุนจึงอยากให้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ขณะที่ในส่วนของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าโครงการจะระบุว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและหลากหลาย แต่ยืนยันได้ว่าไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย
“ทั้งนี้ การก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าที่ระบุว่ามีเส้นทางยาวที่สุดในโลกนั้น ยิ่งมีเส้นทางยาวเท่าไหร่ ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบมากตามขึ้นไป ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงใดก็ตาม”
รองศาสตราจารย์ชูโชคกล่าวว่า นอกจากนี้ ระยะเวลาที่เหลือเพียง 6 เดือนของการศึกษา สำรวจ และออกแบบโครงการนั้น น่าเป็นห่วงว่าจะไม่เสร็จทันตามกรอบเวลา ทั้งการสำรวจออกแบบ และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงการนี้จะทำอะไรและตรงไหนบ้าง ซึ่งการจะทำอะไรสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการให้ข้อมูลรายละเอียดต่อประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และครบถ้วน เพื่อประกอบการตัดสินใจ