xs
xsm
sm
md
lg

“พิงคนคร” ปลุกผีสร้างกระเช้าลอยฟ้าดอยสุเทพ นักอนุรักษ์ยันค้านถึงที่สุดพร้อมยื่นศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปลอดประสพ สุรัสวดี เมื่อครั้งโชว์แบบจำลองกระเช้าลอยฟ้า เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเชิงดอยสุเทพ หลายปีก่อน
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักอนุรักษ์ยันจุดยืนคัดค้าน หลัง “พิงคนคร” ปลุกผีเดินหน้าดันโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าเชื่อมโยงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี-ดอยปุย-ดอยผาดำ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ้างส่งเสริมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ โดยจ้าง “ม.เกษตรฯ-บ.เทสโก้” ให้ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชี้เป็นการทำลายผืนป่าอุดมสมบูรณ์ใกล้เมืองเชียงใหม่ที่สุดอย่างร้ายแรง แถมเป็นการจัดการท่องเที่ยวที่ไร้ความยั่งยืน และอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.อุทยานฯ เตรียมจับตรวจสอบโครงการและพร้อมยื่นขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง ขณะที่ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 4 ตำบลในพื้นที่รอบโครงการยกคณะดูงานกระเช้าลอยฟ้า “ลังกาวี-หาดใหญ่” แล้ว มีแนวโน้มสูงพร้อมสนับสนุน

จากกรณีที่สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) หรือ สพค.เตรียมเดินหน้าผลักดันโครงการกระเช้าลอยฟ้าเชื่อมโยงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี-ดอยปุย-ดอยผาดำ ซึ่งพื้นที่ดำเนินการอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย เพื่อส่งเสริการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยคณะสิ่งแวดล้อม ร่วมกับบริษัทเทสโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาในการศึกษาระหว่างเดือนสิงหาคม 2556-มิถุนายน 2557 รวม 360 วัน ซึ่งจะมีการปฐมนิเทศโครงการการศึกษาสำรวจและออกแบบกระเช้าลอยฟ้าเชื่อมโยงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี-ดอยปุย-ดอยผาดำ ในวันที่ 26 พ.ย. 56 นั้น

นายนิคม พุทธา เลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการนี้ โดยระบุว่าพื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย ซึ่งเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ผืนใหญ่ที่อยู่ใกล้เมืองเชียงใหม่มากที่สุด

อีกทั้งวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติก็เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคงสภาพเดิมที่อุดมสมบูรณ์เอาไว้ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ป่า แม้ว่าจะมีวัตถุประสงค์ในเรื่องของการนันทนาการและการท่องเที่ยวด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลักแต่อย่างใด ทั้งนี้เห็นว่าการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะเป็นการทำลายและเปลี่ยนแปลงสภาพตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถทำให้คืนสภาพกลับมาดีได้ดังเดิมอีกแล้ว

ขณะเดียวกัน นายนิคมมองว่าการสร้างกระเช้าลอยฟ้านั้นเป็นการตอบสนองการท่องเที่ยวในแง่ของการตลาดมากกว่าอย่างอื่น ด้วยการสรรหาสิ่งแปลกใหม่ให้ดูตื่นตาตื่นใจ และสร้างจุดขายใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างประเทศให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเท่านั้น แต่หากมองในแง่ของการจัดการการท่องเที่ยวแล้ว ถือว่าโครงการนี้เป็นการจัดการการท่องเที่ยวที่แย่และไม่มีความยั่งยืนเลยแม้แต่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและไม่ได้เป็นการตอบสนองคนท้องถิ่นแล้ว เอาเข้าจริงการสร้างกระเช้าลอยฟ้ายังไม่ได้เป็นการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ใดๆ เกี่ยวกับพืชพันธุ์ สัตว์ป่าและธรรมชาติเลยแม้แต่น้อย จะมีก็แต่เพียงการนั่งกระเช้าลอยฟ้าชมวิวเท่านั้น

นอกจากนี้ นายนิคมระบุว่า หากมีการดำเนินการโครงการนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งหากมีการตรวจสอบพบมีการดำเนินการที่ไม่ชอบอาจจะมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป โดยเบื้องต้นยังไม่ได้มีการพูดคุยหารือกันในกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ แต่จะมีการศึกษาข้อมูลและหารือกันเพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องนี้

ทั้งนี้ เบื้องต้นอยากเรียกร้องให้ชาวเชียงใหม่และภาคประชาชนช่วยกันจับตามองการดำเนินโครงการนี้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าโครงการนี้น่าจะมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทยย้ำด้วยว่า โครงการนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะตอกย้ำให้เห็นถึงการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้เพราะผืนป่าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุยนั้นถือเป็นทรัพยากรส่วนรวมของประชาชนทุกคนในประเทศ ซึ่งหน่วยงานรัฐมีหน้าที่แต่เพียงการดูแลรักษาทรัพยากรดังกล่าวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าผู้มีอำนาจรัฐและหน่วยงานรัฐมักจะชอบคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของทรัพยากร และสามารถที่จะนำไปใช้ทำประโยชน์ใดๆ ก็ได้ตามใจชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด และภาคประชาชนจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เกิดความตระหนักในประเด็นนี้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 22-24 พ.ย. 56 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ได้มีการจัดพาคณะผู้นำท้องถิ่น ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ 4 ตำบล รอบพื้นที่โครงการ ได้แก่ ตำบลสุเทพ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลบ้านปง และตำบลหนองควาย อำเภอหางดง เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับกระเช้าลอยฟ้าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งตามรายงงานข่าวเบื้องต้นระบุว่า กลุ่มผู้นำท้องถิ่นทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน มีแนวโน้มสูงที่จะสนับสนุนโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าในครั้งนี้

สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าในพื้นที่ดอยสุเทพนั้น ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามที่จะผลักดันโครงการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2548 โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณเชิงดอยสุเทพ โดยในช่วงปี 2549 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ซึ่งนายปลอดประสพมีบทบาทอยู่มาก ได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เทสโก้ จำกัด ร่วมกันจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นต่อโครงการออกแบบรายละเอียดกระเช้าไฟฟ้าลอยฟ้า เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมบริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

ครั้งนั้นการออกแบบเส้นทางและสถานีขึ้น-ลงกระเช้าลอยฟ้า มีการกำหนดเส้นทางเป็นวงรอบ 5 เหลี่ยมด้านไม่เท่า เชื่อมโยงพื้นที่งานมหกรรมพืชสวนโลกฯ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อุทยานช้าง จุดผ่านชมสัตว์ และหมู่บ้านแม่เหียะในระยะทางรวม 6.53 กิโลเมตร และมีสถานีขึ้น-ลง 5 แห่ง ได้แก่ สถานีที่ 1 ราชพฤกษ์ สถานีที่ 2 เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สถานีที่ 3 อุทยานช้าง สถานีที่ 4 จุดผ่านชมสัตว์ และสถานีที่ 5 จุดชมวิวหมู่บ้านแม่เหียะ โดยสถานีที่ 1 ห่างจากสถานีที่ 2 ระยะทาง 763 เมตร สถานีที่ 2 ห่างจากสถานีที่ 3 ระยะทาง 721 เมตร สถานีที่ 3 ห่างจากสถานีที่ 4 ระยะทาง 2,052 เมตร และสถานีที่ 4 ห่างจากสถานีที่ 5 ระยะทาง 1,114 เมตร อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดได้มีการระงับโครงการดังกล่าวไว้ จนกระทั่งมีการผลักดันโครงการนี้อีกครั้งโดยสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
นายนิคม พุทธา เลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น