xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“พิงคนคร” เจ๊ ด.ปั้นมากับมือ “ปลอด”ต่อจิ๊กซอว์ฮุบ“สวนสัตว์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ในโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมศูนย์ประชุม เมื่อปลายปี 2555
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-แกะรอยแผนฮุบ “สวนสัตว์เชียงใหม่” ปั้นสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ ดึงงบอุ้ม “เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี-ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ” เผย เจ๊ ด.ปลุกปั้นมากับมือ ขณะที่ “ปลอดประสพ” ร่วมต่อจิ๊กซอว์ สะพัดวางตัว “สมชาย - เกษม” คุม

เรื่องราวของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร(องค์การมหาชน) หรือ สพค.ที่มี “เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” อยู่ในสังกัด และกำลังอยู่ในระหว่างทดลองกิจการเป็นระยะเวลา 5 ปี อาจไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้างเท่าใดนัก จนกระทั่งผู้มีอำนาจฝ่ายการเมือง วางแผนเดินเกมโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาด้วย ทำให้เกิดกระแสต้านจากคนที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของ สพค.องค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดมา ภายใต้จุดมุ่งหมายในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ที่เชื่อมโยงหรือต่อเนื่องกับเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยว กับทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานแล้ว

จุดเริ่มต้นของ สพค.มาจากการประชุมระดมความคิดเห็นแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกแห่งล้านนา (The Glory of Lanna Heritage) เมื่อ 21 ตุลาคม 2555 ที่โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จ.เชียงใหม่ ที่มีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ ที่ขณะนั้นยังอยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิทางการเมืองอยู่ นั่งเป็นประธาน ขนาบซ้าย-ขวาด้วยนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ,นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ,นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และตัวแทนหลายหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม

และกล่าวได้ว่า ว่า การจัดตั้ง สพค.ขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จนั้น นางเยาวภา ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทและผลักดันอยู่อย่างมาก

วางตัวคนสนิท“สมชาย-เกษม” นั่งบริหาร “พิงคนคร”

และระหว่างที่กำลังพยายามโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ เข้ามาอยู่ใต้ชายคา สพค.อยู่ มีรายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ด และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร(องค์การมหาชน) ที่ทำหน้าที่รักษาการในช่วงของการก่อตั้งสำนักงานได้หมดวาระลงเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา แต่ยังคงรักษาการต่อจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่นั้น มีกระแสข่าวร่ำลือกันหนาหูว่า กำลังมีการปูทางให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สามีของนางเยาวภา เข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารพิงคนคร

ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการฯ ก็ได้วางตัวคนใกล้ชิดและไว้วางใจได้อย่างนายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ ที่ยอมลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ เปิดทางให้นางเยาวภา หวนคืนสู่การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทันทีที่พ้นโทษแบนทางการ ขึ้นนั่งเก้าอี้นี้

เพราะว่ากันว่า สพค.ที่ปลุกปั้นขึ้นมานี้ ได้เงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 มากถึงประมาณ 800 ล้านบาท

“ปลอด”ต่อจิ๊กซอว์ฮุบสวนสัตว์ฯ

ขณะที่การเดินแผนฮุบสวนสัตว์เชียงใหม่ ถูกเปิดเผยออกมาหลังนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ ให้ไปอยู่ภายใต้ สพค.

นายปลอดประสพ ระบุในที่ประชุมว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ตัวเองรับผิดชอบ และได้มีการแจ้งให้นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ในเวลานั้น) ทราบแล้ว พร้อมทั้งสั่งการให้องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์(อสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาและดำเนินการในข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการถ่ายโอนหน่วยงาน และนำเข้าคณะกรรมการ อสส.เพื่อพิจารณามติ แล้วเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณา

วันถัดมา (28 มิ.ย.) นายธนภัทร พงษ์ภมร ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้ทำบันทึกข้อความ เรียนถึงผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่อง รายงานผลการเข้าพบรองนายกรัฐมนตรี(ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี) ที่ทำการทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการส่งตัวแทนจากสวนสัตว์เชียงใหม่ เข้าประประชุมและให้ข้อมูลของสวนสัตว์เชียงใหม่ ต่อนายปลอดประสพ พร้อมกับระบุทำนองว่า “ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร (การโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่) ขออย่าได้นำไปลงข่าวสื่อต่างๆ เพราะถ้าสื่อสารผิดจะทำให้รัฐบาลเสียหาย

นับจากนั้นเป็นต้นมา ถือได้ว่า กระบวนการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ ไปอยู่ใต้สังกัด สพค.เริ่มนับหนึ่งแล้วอย่างเงียบๆ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างเลย จนกระทั่งเวลาผ่านไปร่วมเดือน จึงมีข่าวหลุดออกมาทางสื่อว่า เรื่องนี้เตรียมที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ อสส.

และสุดท้ายทุกอย่างก็เป็นตามคาด เมื่อคณะกรรมการ อสส.มีมติเห็นชอบให้โอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ เข้าสังกัด สพค. ท่ามกลางความมึนงง สงสัย และคำถามมากมายของพนักงาน และลูกจ้างของสวนสัตว์เชียงใหม่ ที่ส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยทราบเรื่องราวมาก่อน รวมทั้งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านคัดค้านการโอนย้ายในครั้งนี้

ชี้งุบงิบโอนย้าย-หวั่นกลายสภาพเป็น“ละครสัตว์”

แหล่งข่าวพนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า บุคลากรส่วนใหญ่ของสวนสัตว์เชียงใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการโอนย้าย เพราะไม่เคยมีการให้รายละเอียดใดๆ หรือสอบถามความต้องการของบุคลากรในองค์กรเลย ที่สำคัญคือ วัตถุประสงค์ของสวนสัตว์เชียงใหม่แตกต่างกับ สพค. ที่มุ่งเน้นธุรกิจการค้า การท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ภารกิจหน้าที่ของสวนสัตว์เชียงใหม่ที่ทำอยู่ในทุกวันนี้เป็นเรื่องของการอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่า

และถ้าสวนสัตว์เชียงใหม่ ต้องไปอยู่ภายใต้การดูแลของ สพค.ก็คงจะมีสภาพที่ไม่ต่างไปจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่ปัจจุบันยังไม่ผ่านการประเมินและยอมรับว่า เป็นสวนสัตว์จาก WAZA (World Association of Zoos and Aquariums) องค์กรที่ดูแลและประเมินกิจการสวนสัตว์ทั่วโลก

เพราะเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มุ่งเน้นเชิงการค้า การท่องเที่ยว มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ป่าและงานวิจัย รวมทั้งล่าสุดพบว่ามีการนำเสือมาจัดแสดงโชว์ความสามารถด้วย ซึ่งหลายประเทศในยุโรปไม่ให้การยอมรับ และมองว่า เป็นการกระทำที่เป็นคณะละครสัตว์มากกว่าสวนสัตว์ ทั้งเป็นการทรมานสัตว์ด้วย

ขณะที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้รับการยอมรับและผ่านการประเมินต่างๆ ของ WAZA ทุกอย่าง หากถูกโอนย้าย ก็คงไม่เหลือสภาพการเป็นสวนสัตว์ที่มีการพัฒนา และประวัติศาสตร์มานาน รวมทั้งภารกิจทางด้านการอนุรักษ์และศึกษาวิจัย คงจะถูกลดความสำคัญลง ก่อนแทนที่ด้วยเป้าหมายเชิงการค้าพาณิชย์

นอกจากนี้การโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อสัญญาและข้อตกลงการวิจัย ราวถึงจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ระหว่างองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับประเทศจีน เพราะเป็นข้อตกลงสัญญาที่ทำกันระหว่างรัฐกับรัฐ

แต่ทุกวันนี้ทางการจีนยังไม่ทราบเรื่องการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่เลย

เรื่องนี้อาจจะมีกระทบผลต่อรายละเอียดและข้อตกลงในสัญญาการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยก็เป็นได้ ตลอดจน“หลินปิง”ลูกแพนด้า ก็อาจไม่ได้กลับมาที่สวนสัตว์เชียงใหม่อีก เมื่อส่งกลับประเทศจีนแล้ว

แหล่งข่าว บอกด้วยว่า ทุกวันนี้ สพค. ยังอยู่ในระหว่างช่วงของการทดลองกิจการ ทั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นระยะเวลา 5 ปี หากไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีผลกำไร ก็จะมีการพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเหมาะสมต่อไปด้วย

“สวนสัตว์ฯเรามุ่งงานอนุรักษ์-ศึกษาวิจัยสัตว์ป่า แต่ สพค.มุ่งเรื่องธุรกิจ และแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การโอนย้ายสวนสัตว์ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาทดลองเพียงเพราะความเพ้อฝันของคนบางคนเท่านั้นด้วย และหากเกิดความเสียหายขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ”

ถามตรง!? โอนแล้วล้มเหลว ใครรับผิดชอบ

นายทนง นทีพิทักษ์ อดีตผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และอดีตรองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แสดงความเห็นว่า เท่าที่ทราบเบื้องต้นมองว่า ยังไม่ได้มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบาย จุดประสงค์หรือวิธีการดำเนินงานใดๆ ในการโอนย้ายสวนสัตว์ฯที่ชัดเจนเลย ทั้งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการให้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่ครบถ้วนชัดเจนต่อสาธารณะเสียก่อน แล้วให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าสมควรจะดำเนินการอย่างไร ไม่ใช่ดำเนินการอย่างเร่งรีบ รวบรัดและไม่โปร่งใส ซึ่งอยากจะเน้นย้ำให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและมีข้อมูลรอบด้าน

นายทนง ย้ำว่า หลักดั้งเดิมตั้งแต่ก่อตั้งสวนสัตว์เชียงใหม่ ก็คือ การดูแล อนุรักษ์สัตว์นานาชนิดที่ถือเป็นสมบัติของประชาชน และส่วนรวม ไม่ให้สูญพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและอำนวยบริการแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มุ่งเน้นผลกำไร

“ยอมรับว่าเป็นห่วง หากถูกโอนย้าย จะยังคงมีวัตถุประสงค์เดิมหรือไม่ และถ้าสมมติว่าการดำเนินงานของสวนสัตว์เชียงใหม่หลังการโอนย้าย เกิดไม่ประสบความสำเร็จขึ้นมา ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ”

นักอนุรักษ์หวั่นขัด กม.-ปลุกผีเมกะโปรเจกต์“ผลาญงบ”

นายนิคม พุทธา เลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย แสดงความเห็นว่า สวนสัตว์เชียงใหม่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน รวมทั้งมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ผูกพันกับคนเชียงใหม่ เป็นแหล่งสำหรับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นสมบัติของประเทศชาติให้ประชาชน นักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจ โดยเฉพาะคนเชียงใหม่ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ พักผ่อนหย่อนใจ มุ่งเน้นการให้ความรู้และบริการประชาชนมากกว่าที่ธุรกิจการค้า หรือทำตลาดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติเป็นหลัก

เมื่อเปรียบเทียบกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ สพค. จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีระบบวิธีคิดแบบธุรกิจการค้าครอบงำ และมีการหาประโยชน์เชิงการค้าจากสัตว์ป่า

ดังนั้น โดยส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วย กับความพยายามที่จะมีการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ ไปอยู่ภายใต้ สพค.

เขามองว่า การพยายามจะเร่งรีบ รวบรัดโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่อาจจะมีความผิดจากการใช้ประโยชน์ทางการค้าจากสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ที่กำหนดว่า การดำเนินกิจการสวนสัตว์ในเขตอุทยานแห่งชาติต้องให้เจ้าพนักงานของรัฐดำเนินการเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าจะโอนย้ายให้ได้จริงๆ ก็เห็นว่า ต้องไม่เร่งรีบจนเกินไป ควรศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ และรอบด้านเสียก่อน ทั้งข้อกฎหมาย ความสมัครใจขององค์กร และบุคลากร รวมทั้งให้ความสำคัญกับความคิดเห็นมุมมองของคนท้องถิ่นด้วย

แต่ดูจากความพยายามที่จะโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ ไปอยู่ภายใต้ สพค. ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้เช่นกันว่า จะมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นโครงการเมกะโปรเจกต์อื่นๆ อีกหลายโครงการขึ้นมาอีกครั้ง เช่น โครงการอุทยานช้าง โครงการกระเช้าลอยฟ้าดอยสุเทพ เป็นต้น

ซึ่ง เป็นการผลาญทำลายทรัพยากรและสมบัติของประเทศ เพียงเพื่อสนองประโยชน์ของบางกลุ่มและการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

แรงต้านเริ่มกระหึ่ม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระแสคัดค้านการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่เริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมแล้ว ทั้งการตั้งแฟนเพจ “ค้านการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์” ซึ่งมีผู้คนเข้าเป็นแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้“เกย์นที” นายนที ธีระโรจนพงษ์ เลขาธิการกลุ่มเชียงใหม่อารยะ ก็นำเครือข่ายออกมาเคลื่อนไหว เพราะไม่ต้องการเห็นความล้มเหลวซ้ำซาก หลังจากมีบทเรียนมาแล้วทั้งจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ ที่ สพค.บริหารจัดการอยู่

ล่าสุดเมื่อ 14 สิงหาคม 56 กลุ่มพนักงานและลูกจ้างสวนสัตว์เชียงใหม่ได้นัดรวมตัวทำบุญขอพรสิ่งศักดิ์ที่วัดกู่ดินขาว ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อเป็นการแสดงออกคัดค้านการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่

นายวิมุต ชมพานนท์ นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ 3 ตัวแทนกลุ่มพนักงานและลูกจ้างของสวนสัตว์เชียงใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ บอกว่า หากไม่สามารถหาที่พึ่งจากทางใดได้ ก็จะพิจารณาถึงมาตรการทางกฎหมาย เช่น การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รวมไปถึงการยื่นถวายฎีกา เพื่อยับยั้งแผนการฮุบสวนสัตว์เชียงใหม่

การเคลื่อนไหว การออกมาคัดค้านทั้งหมดของกลุ่มพลังต่างๆ ไม่ได้มีอะไรมากกว่า เพื่อไม่ให้สวนสัตว์เชียงใหม่ ซ้ำรอย “เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี” ที่ “ปลอดประสพ” เป็นแม่งานสำคัญตั้งแต่สมัยเป็นปลัดกระทรวงทรัพย์ เพื่อสนองแนวคิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่กลับขาดทุนมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ ที่ยังปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง กันอยู่


นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์  เมื่อครั้งเดินทางประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งที่ในเวลานั้น ไม่ได้มีตำแหน่งอะไร และนี่ คือ จุดเริ่มต้นของ สำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน)
นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือเกย์นที  เลขาธิการกลุ่มเชียงใหม่อารยะ นำขบวนออกมาคัดค้านการรวมหน่วยงานทั้งหมดเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของ” พิงคนคร”
สวนสัตว์เชียงใหม่ ก็ต้องถูกโอนย้ายไปอยู่ภายใต้สำนักงานพัฒนาพิงคนคร(องค์การมหาชน) หรือ สพค. ด้วย ทั้งที่ลำพังตัวเองก็มีรายได้และบริหารจัดการกันเองได้
5555 พนักงาน ลูกจ้างสวนสัตว์เชียงใหม่ ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร(องค์การมหาชน)
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น