xs
xsm
sm
md
lg

ปักธง! รถไฟเร็วสูงลงสถานีเดิมพิษณุโลก ยกรางลอยฟ้า 3 ชั้นขึ้นเชียงใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - สนข.ฟันธงใช้สถานีเดิมรับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ยกรางลอยฟ้าขึ้น 3 ชั้นผ่านเมืองเมืองแคว ส่วนรถไฟเดิม อยู่ชั้น 2 ย้ำต้องเวนคืนที่ดินกว่า 100 ไร่ตอนเหนือสถานีเต็งหนาม ทำโรงจอดซ่อมบำรุง

วันนี้ (31 ต.ค. 56) นายสาธิต มาลัยธรรม รองผู้จัดการโครงการกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร พร้อมคณะ ได้เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชนและแจกแบบสำรวจความคิดเห็นการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ตามโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ที่หอประชุมอำเภอเมืองพิษณุโลก โดยเชิญประชาชนในพื้นที่ตามแนวทางรถไฟ-นักธุรกิจ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 300 คน

นายสาธิตเปิดเผยว่า เป็นการมาบอกเล่าและรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพราะจะมีแนวเวนคืนที่ดินช่วงทางโค้งรถไฟความเร็วสูง เพราะต้องตัดเส้นตรง ส่วนใหญ่เป็นช่วงก่อนถึงตัวเมืองพิษณุโลก ขณะที่ตอนเหนือจะสร้างสถานีปลายทาง เพราะรถไฟความเร็วสูงจะต้องมีที่จอดรถพักนอน เก็บโรงซ่อมบำรุง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ซ่อมบำรุงสภาพรถ และบริเวณจอดรถ

ขณะที่โรงซ่อมจะอยู่ตอนเหนือจากสถานีเต็งหนาม ประมาณ 2-3 กิโลเมตร ซึ่งต้องเวนคืน หรือซื้อพื้นที่แถบถนนวงแหวนเลี่ยงเมืองด้านทิศเหนือ ประมาณ 100 กว่าไร่

นายสาธิตยืนยันว่า สถานีรถไฟความเร็วสูงที่พิษณุโลก จะใช้สถานีเดิม เนื่องจากพิษณุโลก มีปัญหาด้านจราจร จากถนนตัดผ่านรางรถไฟ คือ รถไฟ แบ่งเมืองเป็น 2 ฝั่ง ทำให้ช่วงที่เปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน จึงช่วยแก้ปัญหาจารจรไปด้วย จึงออกแบบรางรถไฟเดิม (ร.ฟ.ท.) ยกระดับชึ้นชั้น 2 และยกรถไฟไฮสปีดเทรนขึ้นระดับชั้น 3

โดยรถไฟเดิมจะเริ่มยกระดับขึ้นหลังผ่านสถานีบึงพระมาแล้ว ส่วนรถไฟความเร็วสูงจะยกระดับก่อนถึงสถานีบึงพระ เพื่อข้ามถนนเลี่ยงเมืองด้านใต้ และลดระดับลงเมื่อเข้าเขตการบิน (กองบิน 46) เพื่อไม่ให้รบกวนการบิน จากนั้นรถไฟทั้ง 2 ระบบ จะยกตัวขึ้นพร้อมๆกัน เพื่อขึ้นจอดสถานีพิษณุโลก โดยออกแบบให้ใช้ร่วมกันทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟเดิม

นายสาธิตบอกอีกว่า สาเหตุที่ไม่เลือกสถานีบึงพระเพราะมีแต่แท็งก์น้ำมันจะต้องเวนคืนจำนวนมาก ประกอบกับทหารอากาศไม่ให้ใช้พื้นที่จึงต้องพิจารณาที่ดินของการรถไฟเดิมที่มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่

นายสาธิตเปิดเผยอีกว่า แนวรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ศึกษาอยู่ 5 เส้นทาง ทางเลือกที่ 4 มีคะแนนต่ำสุด ส่วนทางเลือก 5 กับ 1 คณะกรรมการเห็นชอบเหมือนกัน คือ ลงสถานีพิษณุโลก พร้อมสั่งให้ไปพิจารณาทางเลือกในเฟส 2 กรณีมุ่งหน้าขึ้นเชียงใหม่ต่อไป ดังนั้นจึงต้องพิจารณาแนวทาง 1 กับ 5 ปัจจุบันยังไม่ฟันธงว่า ขึ้นไปศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย หรืออุตรดิตถ์

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กำลังรอการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หาก EIA ผ่าน สนข.ก็จะนำเรื่องเข้ากระทรวงคมนาคม เพื่อขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล ตามโครงการ 2.2 ล้านล้านบาท คาดว่าช่วงที่รอ EIA กับงบประมาณผ่านพร้อมๆ กัน จากนั้นในปี 2557 จะเป็นเรื่องการประกวดราคา ระบบควบคุมรางรถไฟความเร็วสูง ทั้งจากจีนและประเทศต่างๆ

อนึ่ง แผ่นพับประชาสัมพันธ์ “สร้างอนาคตประเทศไทย ก้าวไกลด้วยรถไฟความเร็วสูง” ชุดที่ 3 ตุลาคม 2556 ระบุไว้ว่า รถไฟความเร็วสูง จากบางซื่อ-สถานีพิษณุโลก ใช้แนวเส้นทางรถไฟเดิมจาก กทม.-อยุธยา เป็นโครงสร้างยกระดับ 61 กม. จากสถานีพิษณุโลกจะตัดแนวเส้นทางใหม่ไปสุโขทัยแล้วตรงไปลำปาง เข้าสู่เส้นทางเดิมปลายทางเชียงใหม่ ระยะทาง 669 กม. มีสถานีอยุธยา สถานีลพบุรี สถานีนครสวรรค์ สถานีพิจิตร สถานีพิษณุโลก สถานีสุโขทัย สถานีศรีสัชนาลัย สถานีลำปาง สถานีลำพูน สถานีเชียงใหม่ วิ่งด้วยดัวยความเร็ว 250 กม/ชม. กรุงเทพ-พิษณุโลก ใช้เวลาเดินทาง 1.4 ชั่วโมง ระยะทาง 386 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 640-1,700 บาท, กรุงเทพ-เชียงใหม่ เวลาเดินทาง 3.2 ชั่วโมง ระยะทาง 669 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 1,100-2,900 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น