xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ประจวบ จับการ์ดม็อบยางนำอาวุธเข้าที่ชุมนุม ได้ผู้ต้องหา 4 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - ตำรวจประจวบคีรีขันธ์จับการ์ดม็อบยาง ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์นำระเบิดเพลิง พร้อมอาวุธปืนเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม ได้ผู้ต้องหา 4 คน ขณะที่คนบางสะพานน้อย เดือด! ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้ถนนสายรองแทนเพชรเกษม รวมตัวเรียกร้องให้ม็อบยางพาราเปิดถนนเพชรเกษม ด้านกลุ่มม็อบยางลั่นรอจนกว่าจะบรรลุผลจึงจะเปิด ยอมถอย 100 บาท/กก.หันปรับธงเข้าถกไตรภาคีเน้น 2,520 บาท เกษตรกรต้องได้ทุกคน

วันนี้ (30 ต.ค.) พล.ต.ต.ธเนษฐ สุนทรสุข ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แถลงผลตั้งจุดตรวจเข้มแข็งเพื่อคัดกรองสิ่งผิดกฎหมายและอาวุธที่อาจมีผู้นำเข้าไปในบริเวณการชุมนุมบริเวณบ้านศรีนคร บนถนนเพชรเกษม กม.ที่ 415+500 หมู่ที่ 7 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อป้องกันเหตุจากการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งปักหลักชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ว่า หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงนามประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในช่วงที่มีการชุมนุมของภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ เมื่อคืนวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ 4 คน ขณะขับรถจักรยานยนต์มุ่งหน้าไปยังจุดชุมนุมที่บ้านศรีนคร พร้อมปืน 9 มม.1 กระบอก กระสุนปืนอีก 10 นัด ระเบิดปิงปอง และระเบิดขวด

สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ประกอบด้วย รายที่ 1 สิบเอกวิษณุ จันทร์สงฆ์ อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 132/1 ม.1 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยของกลางอาวุธปืนพกสั้นขนาด 9 มม.ซีแซด หมายเลขทะเบียน กท.54213457 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนขนาด 9 มม.จำนวน 10 นัด โดยจับกุมได้เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2556 เวลา 23.00 น.

รายที่ 2 เป็นเยาวชน อายุ 16 ปี ให้การว่าจำบ้านเลขที่ไม่ได้ หมู่ 1 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใน 2 ข้อหา คือ 1.ทำให้มีและใช้ซึ่งวัตถุระเบิด (ลูกระเบิดปิงปอง) และระเบิดขวดโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ 2.ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดปิดกั้นหรือเข้าในรัศมี 1 กิโลเมตร และให้ออกจากพื้นที่ถนนทางหลวงหมายเลข 4 กิโลเมตร 415 บริเวณหน้าอนามัยบ้านศรีนคร ม.7 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบฯ โดยจับกุมได้ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2556 เวลา 23.00 น.

รายที่ 3 นายเอกพล ยันตะลี อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 84/8 ม.6 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

รายที่ 4 นายกิตติคุณ คำพร อายุ 27 ปี บ้านเลขที่ 270/5 ม.6 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

ผู้ต้องหารายที่ 3 และ 4 ถูกจับกุมในข้อหาห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดปิดกั้นหรือเข้าในรัศมี 1 กิโลเมตร และให้ออกจากพื้นที่ถนนทางหลวงหมายเลข 4 กิโลเมตรที่ 415 บริเวณหน้าอนามัยบ้านศรีนคร โดยจับกุมได้เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2556 เวลาประมาณ 23.00 น.พร้อมด้วยของกลาง รถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าเวฟ สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน งฉล 709 ชลบุรี

ทั้งนี้ พฤติการณ์ของผู้กระทำผิดทั้ง 4 รายได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ พร้อมของกลาง มุ่งหน้าไปยังจุดชุมนุมหน้าอนามัยบ้านศรีนคร พอถึงที่เกิดเหตุได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจค้นพบของกลางดังกล่าว จึงได้จับกุมพร้อมแจ้งข้อหา ยึดของกลาง ดำเนินคดีตามกฎหมาย

“จากการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 4 คนนี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการชุมนุมในครั้งนี้ มีผู้ชุมนุมบางคนที่ได้ชุมนุมโดยมีสิ่งของผิดกฎหมาย ซึ่ง ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ จะได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ด้วยความอดทนอดกลั้น ปฏิบัติตามหลักสากล และภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมให้มีความเรียบร้อยต่อไป”

วันเดียวกัน นายสมมุติ สวัสดิ์วิบูลย์ รองนายกเทศมนตรีตำบลบางสะพาน นายพิสิทธิ์ พัฒน์ทอง กำนันตำบลบางสะพาน พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลายร้อยคนได้เดินทางไปที่ถนนสายบางสะพาน-บางสะพานน้อย บริเวณสี่แยกสามเจ้า ระหว่างหมู่ที่ 2 กับหมู่ที่ 5 ต.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประท้วงกรณีการใช้ถนนเส้นดังกล่าวเป็นสายสำรองในการระบายรถขึ้นลงภาคใต้กับกรุงเทพมหานคร แทนการใช้ถนนเพชรเกษมที่เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ ยังคงปิดถนนอยู่ที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 415 บ้านศรีนคร หมู่ที่ 7 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นวันที่ 5 แล้ว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยราคาพืชผลการเกษตรยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีราราตกต่ำ

นายสมมุติ สวัสดิ์วิบูลย์ รองนายกเทศมนตรีตำบลบางสะพาน กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หลังมีการปิดถนนเพชรเกษม และใช้ถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านแทน ทำให้การเดินทางของคนในพื้นที่ได้รับความลำบาก อีกทั้งรถบรรทุกหนักทำให้ถนนเกิดความเสียหายมาก เพราะถนนเส้นดังกล่าวเป็นถนนทางหลวงชนบท ใช้ประโยชน์สำหรับในท้องถิ่นเท่านั้น อีกทั้งการทำธุรกิจเกิดความเสียหาย เด็กนักเรียนเดินทางไปโรงเรียนไม่ได้ ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ไม่มีใครมาท่องเที่ยว ดังนั้นต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายพิสิทธิ์ พัฒน์ทอง กำนันตำบลบางสะพาน กล่าวว่า หลังจากปิดถนนเพชรเกษมและมาใช้เส้นทางสายรอง ได้เกิดอุบัติเหตุจำนวนมากเกือบ 100 คดี มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้ในแต่ละคืนต้องนำกองร้อยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านมาช่วยดูแลด้านการจราจรบนถนน แทนที่จะได้ออกตรวจแก้ปัญหาด้านยาเสพติดในหมู่บ้าน นอกจากนี้ในช่วงกลางคืน รถที่วิ่งโดนเหล็กเรือใบทิ่มยางรถจำนวนหลายสินคัน ชุด ชรบ.ต้องช่วยกันถอดและนำไปปะแล้วนำมาใส่ให้ทุกคืน จนไม่ได้หลับได้นอนกัน ถึงขณะนี้ชาวบ้านสุดที่จะอดกลั้น จึงออกมาเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้นึกถึงความเดือดร้อนของประชาชนคนไทยด้วยกัน และเปิดถนนเพชรเกษมเพื่อคลายความเดือดร้อน

ต่อมาเวลา 14.00 น.วันเดียวกันรถบรรทุก 6 ล้อที่บรรทุกสับปะรดเพื่อจะไปส่งโรงงานเต็มคัน ได้ติดหล่มกลางถนนสายรอง หมู่ที่ 2 ต.บางสะพาน เนื่องจากถนนเสียหายหลายช่วงหลายจุด ล่าสุดเจ้าหน้าที่จึงต้องห้ามรถบรรทุกทุกชนิด วิ่งบนถนนสายรองแล้ว ทำให้การขนส่งสินค้าภาคใต้หยุดชะงักอีกครั้ง ส่วนรถเล็ก รถกระบะ และรถเก๋ง ยังสามารถเดินทางได้อย่างช้าๆ

ทางด้านนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า การชุมนุมของชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน จะยังคงปักหลักชุมนุมกันต่อเนื่อง และหลังจากที่มีการประชุมกับแกนนำทั้ง 16 คน เมื่อคืนวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ในประเด็นของเรื่องราคายางที่เรียกร้อง 100 บาทต่อกิโลกรัมนั้น โดยส่วนตัวตนเห็นว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยากมาก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องปรับธงกันใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่เงินช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ ที่ทางกลุ่มเรียกร้องให้เกษตรกรทุกคนทุกพื้นที่ทั้งมีเอกสารสิทธิ และไม่มีเอกสารสิทธิได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม ซึ่งรวมไปถึงคนกรีดยางด้วย โดยให้เป็นไปตามกลไกในการเข้าร่วมเป็นไตรภาคีตามที่ตกลงกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะยังไม่มีการเปิดถนนหากการเจรจายังไม่บรรลุผล

ด้าน พล.ต.ท.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การพูดคุยกับเกษตรกรชาวสวนยางที่เรียกร้องให้ปรับราคายางพาราเป็นกิโลกรัมละ 100 บาท และเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมนั้น จากที่พูดคุยกับ พล.ต.อ.ประชา คิดว่าไม่น่ามีความเป็นไปได้ ซึ่งล่าสุดชาวเกษตรกรได้เปลี่ยนท่าทีการเรียกร้องเป็นเรื่องการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิต และผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินทำกินให้เป็นไร่ละ 2,520 บาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง โดยจะต้องพิจารณาอีกครั้ง

“เดิมชาวสวนยางเรียกร้องว่ายางทุกต้นที่ปลูกบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ต้องได้รับการดูแล ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่มากเกินไป เป็นการเอาเปรียบรัฐบาล และสำหรับข้อเรียกร้องให้ย้าย ผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ และไม่ต้องดำเนินคดีกับแกนนำนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ เพราะการออกมาชุมนุมทำความเดือดร้อนให้ประชาชนภาคใต้ ทั้งการปิดถนน และนำตะปูเรือใบมาโรย ซึ่งแกนนำต้องรับผิดชอบ โดยขณะนี้ได้ออกหมายจับแกนนำบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับการเจรจาต้องให้ผู้ว่าราชการดำเนินการ พร้อมยืนยันการสั่งการสลายการชุมนุมเป็นทางเลือกสุดท้าย”




กำลังโหลดความคิดเห็น