xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบสวนยาง ปัดข้อเสนอ ยัน5ข้อเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ชุมนุมสวนยางเสียงแตก ทั้งยืนกรานข้อเรียกร้อง 5 ข้อ-ยอมรับข้อเสนอเจรจากับรัฐบาล แกนนำบางคนขอถอนตัว ปูดชาวสวนประจวบคีรีขันธ์ ไม่มีเอกสารสิทธิ์แค่ 35 ราย ภาค 7 ออกหมายจับ 11 แกนนำ ด้านชาวสวนยางพิษณุโลกครวญ "ภทบ.5" หมดสิทธิ์รับชดเชย

    วานนี้(29 ต.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ ยังคงปักหลักชุมนุมที่ริมถนนเพชรเกษม กม. 415-416 และตั้งเวทีปราศรัยข้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) บ้านศรีนคร หมู่ 7 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นวันที่ 4 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือราคาผลยางพารา และมอบเงินปัจจัยการผลิตให้กับชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

    เวลา 08.30 น. นายสมพร ปัจฉิมเพชร นายอำเภอบางสะพานน้อย เจรจากับนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่าย พร้อมแกนนำที่เวทีปราศรัย แต่ไม่มีข้อยุติ หลังนายสมพรขอให้ภาคีเครือข่ายรับข้อเสนอปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาทกับผู้ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา แต่นายทศพลยืนยันข้อเสนอเดิมทั้ง 5 ข้อ  

    เวลา 09.30 น. แกนนำภาคีเครือข่ายได้ประชุมหาข้อสรุป โดยโทรศัพท์พุดคุยกับพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลรับเงื่อนไข ก็พร้อมจะเปิดถนนทันที แต่หากใช้เวลาถึง 1 เดือนถือว่าล่าช้าเกินไป ผู้ชุมนุมไม่สามารถยอมรับได้ ดังนั้นขอคำตอบว่าจะช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิได้หรือไม่ภายในเวลา 18.00 น. วันที่ 29 ตุลาคม

    ต่อมา นายทศพลแถลงว่าได้รับโทรศัพท์จากพล.ต.อ.ประชา ให้ภาคีเครือข่ายตั้งตัวแทนไปเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ตามที่รัฐบาลเสนอว่าจะให้ผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือโดยเท่าเทียมกัน แต่ภาคีเครือข่ายไม่ยอมรับ ยังคงขอยืนยันข้อเรียกร้องว่า 1.ต้องได้ราคายางกิโลกรัมละ 100 บาท ปาล์มน้ำมัน 6 บาท 2.ย้ายพล.ต.ต.ธเนตฐ สุนทรสุข ผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ 3.ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการรับรองสิทธิทำกินให้เกษตรกรโดยเร็ว และ 4.ต้องไม่เอาผิดกับผู้ชุมนุม

    ด้านพล.ต.ต.ธเนตฐ กล่าวว่า การย้ายตนไม่ทราบว่าจะเป็นประโยชน์ต่อใคร เพราะอยู่จ.ประจวบคีรีขันธ์ มา 1 ปี ไม่เคยกลั่นแกล้งใคร การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 5 กันยายน ถ้าเขาคิดว่าไม่ได้ทำงานตามหน้าที่ ก็ให้ตั้งทนายฟ้องได้

    ขณะที่นายจำลอง ดีทองอ่อน แกนนำภาคีเครือข่าย กล่าวว่า ได้ประกาศยุติบทบาทผู้ประสานงานของจ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะส่วนตัวต้องการใช้หลักเจราจาเพื่อหาทางออก และยุติการปิดถนน ที่สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่
          
    ทั้งนี้ ตำรวจปราบจลาจล จากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 และภาค 8 สนธิกำลังกว่า 5,000 นาย เตรียมพร้อมในอ.บางสะพาน และอ.บางสะพานน้อย บางส่วนจัดกำลังป้องกันการปิดถนนบางสะพาน-หนองหัดไท ซึ่งเป็นถนนสายรอง

    ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.หารือแล้ว ขอใช้การเจรจาผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งชาวสวน ผู้ค้า และตัวแทนรัฐบาล

    นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลยึดแนวทางชดเชยปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท โดยจ่ายเงินไปแล้ว 578 ล้านบาท ชาวสวนกว่า 23,600 ราย ทั้งนี้กำลังเร่งสำรวจพื้นที่ปลูกยางอีก 500,000 ราย จากชาวสวนที่ขึ้นทะเบียนไว้ 1,190,000 ราย โดยไม่สามารถแทรกแซงราคา 100 บาทได้ เพราะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด
    
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) แถลงว่า จากการข่าวยืนยันว่าการชุมนุมที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีหลักฐานเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.)ที่แยกอุรุพงษ์ โดยกลุ่มที่วางแผนเป็นกลุ่มเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และเตรียมเข้ามากรุงเทพมหานคร คัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งขณะนี้การชุมนุมเป็นแบบดาวกระจาย เพื่อดึงให้เจ้าหน้าที่กระจายกำลังไปดูแล และทดสอบยุทธวิธีของตำรวจ
       
    ล่าสุดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ชุมนุม 11 ราย ตามความผิดพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 และพ.ร.บ.ทางหลวง ประกอบด้วย นายสมชาย บุณยภูษิต นายจำลอง ดีอ่อน นายพีระพงศ์ แก้วนวล ซึ่ง 3 คนนี้มีคดีค้างเก่า นายจรูญ พูนยิ้ม นายอภิรณ บัวสาย นายมนัส บุญพัฒน์ นายวัชรพลเพิ่ม นายทวีศิลป์ ประทีป นายวิเชียร ศรียุทธไกร และชายไม่ทราบชื่อตามภาพถ่าย 2 ราย

    ที่ จ.พิษณุโลก ส.อ.วิชัย อยู่ยังเกตุ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ กล่าวว่า การตรวจสอบสวนยางพาราเพื่อรับเงินชดเชยปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท ทำเฉพาะที่ดินส.ป.ก.4-01 ซึ่งมี 117 ราย 2,980 ไร่ ซึ่งความจริงชาวบ้านยื่นขอรับเงินชดเชย 5,537 ไร่ แต่เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ มีแต่ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่(ภบท.5) ทำให้ไม่สามารถร่วมโครงการได้ ต้องไปขอใบอนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่งคิดว่ายากมาก   
       
    แหล่งข่าวจากสำนักงานเกษตรจังหวัด กล่าวว่า มีผู้ปลูกยางพารา 5,094 ราย หรือ 6,611 แปลง พื้นที่ 121,026 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 90,804 ไร่ มีเอกสารสิทธิ์ 42,612 ไร่

    นายสุรพล ฝันเชียร ผู้อำนวยการสำนักงานสงเคราะห์กองทุนสวนยาง(สกย.)จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ผู้ที่ถือภบท.5 ถือว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ เว้นแต่ได้รับการรับรองจากกรมป่าไม้ และถ้ารัฐบาลจะจ่ายให้รายที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ก็ต้องขยายวงเงินเพิ่ม จากเดิมที่ตั้งไว้ 21,000 ล้านบาทให้กับผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ 9.9 ล้านราย 8.6 ล้านไร่
          
กำลังโหลดความคิดเห็น