ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ทำการวิจัยสัตว์ทะเลในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้รับทราบข้อมูลทางวิชาการเพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นในการดำรงชีวิต และการเลือกบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย หลังจากเกิดเหตุท่อน้ำมันของ ปตท. แตก และทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบไหลลงสู่ทะเล 50,000 ลิตร ทำให้ประชาชาชนต่างวิตกกังวลในการที่จะบริโภคอาหารทะเล
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเล ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประมาณ 18 กม. ทำให้น้ำมันดิบประมาณ 50,000 ลิตร รั่วไหลลงสู่ทะเล และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรชีวภาพชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ประกอบกับกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจพบสารปรอทในน้ำทะเลบริเวณอ่าวพร้าว ซึ่งเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2556 มีค่าสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานถึง 29 เท่า ทำให้ประชาชนวิตกกังวลถึงอันตรายที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารทะเลในจังหวัดระยอง ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา
ดร.แววตา ทองระอา สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางสถาบันฯ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้รับทราบข้อมูลทางวิชาการเพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นในการดำรงชีวิต และการเลือกบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
สิ่งแรกที่ควรจะรู้จัก คือ น้ำมันดิบ ซึ่งเป็นปิโตรเลียมที่มีสถานะเป็นของเหลวเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ มีส่วนผสมที่ซับซ้อนของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่างๆ ปะปนกันอยู่ มีธาตุสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลักอยู่ 2 ชนิด คือ คาร์บอน 82-87% และไฮโดรเจน 12-15% นอกนั้นเป็นสารอื่นๆปะปนอยู่ในปริมาณน้อย ได้แก่ กำมะถัน 0.05-5% ออกซิเจนน้อยกว่า 2% ไนโตรเจนน้อยกว่า 0.1%
ในน้ำมันดิบยังพบว่ามีโลหะเจือปนอยู่ด้วยตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่ที่พบ คือ นิกเกิล และแวนาเดียม ส่วนโลหะอื่นที่พบมีอยู่ด้วย ได้แก่ ทองแดง ตะกั่ว เหล็ก สังกะสี แคดเมียม แมงกานีส โมลิบดีนัม ไทเทเนียม อะลูมิเนียม โครเมียม โคบอลต์ ยูเรเนียม ดีบุก แบเรียม เงิน สารหนู เป็นต้น โลหะเหล่านี้จะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิดของน้ำมันดิบขึ้นอยู่กับลักษณะทางธรณีเคมีของชั้นหิน และแอ่งน้ำ ซึ่งโลหะในน้ำมันดิบนั้นนอกจากพบตามธรรมชาติแล้ว บางส่วนอาจถูกเติมลงไปในกระบวนการผลิต การขนส่ง และการเก็บรักษา
จากการรั่วไหลของน้ำมันดิบในจังหวัดระยอง ทำให้คนส่วนใหญ่กลัวว่าโลหะหนักในน้ำมันดิบโดยเฉพาะสารปรอทจะมีการปนเปื้อนในอาหารทะเล ซึ่งตามปกติแล้วในอาหารทะเลไม่ว่าจะเป็นปลา ปู กุ้ง กั้ง และหอย มีโลหะหนักสะสมอยู่ในตัวในปริมาณแตกต่างกันตามแหล่งที่อยู่อาศัยและพฤติกรรมการกินอาหาร ถึงแม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลก็ตาม เนื่องจากโลหะหนักมีการปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล และดินตะกอนโดยเฉพาะส่วนใหญ่มาจากน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่แล้ว โลหะหนักเป็นสารมลพิษที่มีอันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีความคงตัว ไม่สามารถสลายตัวได้โดยกระบวนการธรรมชาติ และสะสมได้ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต มีทั้งชนิดที่เป็นพิษ และมีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์ และสัตว์น้ำ
แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ สัตว์น้ำสามารถสะสมโลหะหนักไว้ในเนื้อเยื่อโดยผ่านทางห่วงโซ่อาหารจากการกินต่อกันเป็นทอดๆ จากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคลำดับต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดก็คือ มนุษย์นั่นเอง ดังนั้น การบริโภคอาหารทะเลที่มีโลหะหนักอยู่สูงเกินระดับมาตรฐานก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะที่เคยเกิดมาแล้วในประเทศญี่ปุ่น จากการบริโภคอาหารทะเลที่มีการปนเปื้อนสารปรอทในระดับสูงทำให้เกิดโรคมินามาตะ
ความเสี่ยงในการบริโภคอาหารทะเลจากจังหวัดระยอง
ดร.แววตา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทางสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ทำการศึกษาภาวะความเสี่ยงของโลหะหนักต่อสุขภาพของผู้บริโภคอาหารทะเลในบริเวณชายฝั่งทะเล จังหวัดระยอง โดยเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลด้วยอวนลากแผ่นตะเฆ่ตั้งแต่บริเวณหนองแฟบ ถึงปากคลองบ้านตากวนรวม 3 ครั้ง ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2550-2551 ได้ตัวอย่างปลา กุ้ง หอย และหมึก จำนวน 31 ชนิด รวมทั้งสิ้น 369 ตัวอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลา ผลการศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักที่เป็นพิษ 3 ชนิด คือ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม พบว่าโลหะหนักในสัตว์ทะเลส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค พบการปนเปื้อนโลหะหนักในอาหารทะเลสูงเกินระดับมาตรฐานเพียงร้อยละ 2.4 ของตัวอย่างทั้งหมด (9 ตัวอย่างจ ากทั้งหมด 369 ตัวอย่าง)
โดยโลหะหนักที่ตรวจพบสูงเกินระดับมาตรฐาน คือ แคดเมียม ซึ่งพบในหอยเชลล์เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ หมึก สำหรับหอยเชลล์ที่มีแคดเมียมสูงเกินมาตรฐานนั้นเป็นส่วนของเนื้อเยื่อหอยทั้งหมด แต่ถ้าแยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นเอ็นหอย พบว่า มีค่าไม่สูงเกินมาตรฐาน ดังนั้น การบริโภคหอยเชลล์จึงควรเลือกบริโภคเฉพาะส่วนที่เป็นเอ็นหอยจะปลอดภัยมากกว่า ส่วนปลาทะเลทุกชนิดที่ศึกษามีความปลอดภัยในการบริโภค
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการติดตาม และเฝ้าระวังการปนเปื้อนโลหะหนักโดยเฉพาะสารปรอทในอาหารทะเลในจังหวัดระยอง ภายหลังจากเกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบ ซึ่งจากการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค หรือความเสี่ยงจากการได้รับสารปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมในอาหารทะเลเกินกำหนดหรือไม่นั้น เมื่อนำข้อมูลการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละชนิดในอาหารทะเลดังกล่าวข้างต้นมาเปรียบเทียบกับค่าความปลอดภัยของโลหะหนักต่อสุขภาพอนามัยของคน พบว่า การปนเปื้อนโลหะหนักในอาหารทะเลบริเวณดังกล่าวยังไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคถึงแม้ว่าจะอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ภาวะความเสี่ยงนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการบริโภคอาหารทะเลซึ่งจะทำให้เกิดการสะสมในร่างกายจนเกิดอันตรายได้ รวมทั้งกลุ่มอายุประชากรด้วย เช่น เด็ก ผู้ใหญ่ สตรีมีครรภ์ เพราะร่างกายจะมีความต้านทานในการได้รับอันตรายจากสารโลหะหนักแตกต่างกัน ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจ ะรายงานผลการตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนักโดยเฉพาะปรอทในอาหารทะเล จังหวัดระยอง ภายหลังจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงทะเลว่ายังมีความปลอดภัยในการบริโภค แต่ก็มีผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยโดยแท้จริง ทำให้พ่อค้าแม่ค้าในจังหวัดระยองขาดรายได้จากการจำหน่ายอาหารทะเล
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังมั่นใจว่าอาหารทะเลในจังหวัดระยอง ยังคงมีความปลอดภัยในการบริโภคอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้ว สัตว์น้ำสามารถรับโลหะหนักรวมทั้งสารพิษอื่นๆเ ข้าสู่ร่างกายโดยทางตรงคือ ซึมผ่านทางผิวหนัง และทางอ้อมโดยผ่านห่วงโซ่อาหาร แต่สัตว์น้ำก็มีกลไกในการขับสารพิษออกจากร่างกาย และการสะสมโดยผ่านทางห่วงโซ่อาหารเป็นทอดๆ นั้น อาจต้องใช้เวลานานพอสมควรซึ่งอาจจะเป็นปี หรือหลายปีก็ได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องมีการเฝ้าระวัง และติดตามตรวจสอบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
บริโภคอาหารทะเลอย่างไรให้ปลอดภัย
ดร.แววตา ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับคำแนะนำในการบริโภคอาหารทะเลให้ปลอดภัยในขณะนี้ ควรเลือกบริโภคปลา เพราะจากผลการศึกษาพบว่า ปลามีความปลอดภัยในการบริโภคมากที่สุด เนื่องจากปลาสามารถเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ได้ โดยเฉพาะควรเลือกบริโภคส่วนของเนื้อปลา ส่วนของตับ และไตควรหลีกเลี่ยงในการบริโภคเพราะมีการสะสมสารพิษสูง
ส่วนหอยนั้นมักพบมีการสะสมโลหะหนักหลายชนิดในระดับสูง เนื่องจากหอยเป็นสัตว์ที่อาศัยติดอยู่กับที่ และกินอาหารโดยการกรอง จึงสามารถกรองเอาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในน้ำเข้าไปสะสมอยู่ในตัวมันได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการปนเปื้อนของสารปรอทในน้ำทะเลสูง การบริโภคปลาก็อาจเป็นอันตรายมากกว่าสัตว์ทะเลอื่น เพราะปรอทที่สะสมในตัวปลาจะเป็นสารประกอบปรอทอินทรีย์ที่มีพิษมากที่สุด ซึ่งพบในปลามากกว่าสัตว์ทะเลชนิดอื่น
สำหรับสัตว์ทะเลทุกชนิดควรหลีกเลี่ยงบริโภคส่วนที่เป็นอวัยวะภายใน ให้บริโภคเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อ นอกจากนี้ ไม่ควรบริโภคอาหารทะเลชนิดเดิมซ้ำๆ กันอย่างต่อเนื่อง ควรบริโภคอาหารให้มีความหลากหลายชนิดเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมสารพิษในร่างกาย เพราะผลกระทบ หรืออันตรายจากพิษของโลหะหนัก หรือสารเคมีอื่นๆ ต่อสุขภาพนั้นขึ้นอยู่กับอัตราการบริโภคด้วย ซึ่งหากได้รับสารดังกล่าวในปริมาณไม่มากนัก ร่างกายของเราจะสามารถขับสารพิษออกสู่ภายนอกได้ทัน และจะไม่เกิดการสะสมต่อไป