สธ.สุ่มตรวจอาหารทะเลที่บ้านเพและตำบลแกลง 8 ชนิด ทั้งหอย ปลาสด พบปนเปื้อนสารปรอทน้อย ไร้สารพีเอเอช ยังรอผลตรวจโลหะหนักอีก 3ชนิดคือ ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู จะทราบผลทั้งหมดสัปดาห์หน้า ส่วนการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพผู้ที่เสี่ยงสัมผัสสารในน้ำมันดิบ เก็บปัสสาวะตรวจทั้งหมด 1,522 คน รู้ผลตรวจแล้ว 252 คน ยังไม่พบรายใดผิดปกติ
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพประชาชน จากปัญหาน้ำมันดิบไหลลงทะเลที่จังหวัดระยอง ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ประชุมผู้เกี่ยวข้องด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับบริษัทปตท. เพื่อวางแผนเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และผู้เสี่ยงสัมผัสกับสารที่อยู่ในน้ำมันดิบ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในอาหารทะเล น้ำบริโภคทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลประเภทหอย แมลงภู่สด ปลาสด จำนวน 8 ตัวอย่างจากตลาดเพ และตำบลแกลง ส่งตรวจหาสารโพลีไซคลิคอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือสารพีเอเอช (PAH: Polycyclic Aromatic Hydrocarbon)และโลหะปนเปื้อน 4รายการ ได้แก่ สารปรอท ตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู ขณะนี้ทราบผล 2รายการ คือ 1.สารพีเอเอช ไม่พบทุกตัวอย่าง 2.สารปรอท ไม่พบในหอย ส่วนในปลาพบระหว่าง 0.019-0.203มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 พ.ศ.2529ที่กำหนดให้อาหารทะเลมีปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สารปรอทที่ตรวจพบในปลาทะเลนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากสามารถพบได้ในธรรมชาติและปนเปื้อนในอาหารได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลก็ตาม ส่วนที่เหลืออีก 3รายการคือ ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู รวมทั้งน้ำบริโภคอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะทราบผลทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับผลการเฝ้าระวังการสัมผัสสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะสารอนุพันธ์ของเบนซีน หรือสารที-ที มิวโคนิก แอซิด ในปัสสาวะ (t-t muconic acid in urine)ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ปฏิบัติงานเก็บ ทำลายคราบน้ำมันดิบทุกคน ประชาชนในพื้นที่ และบุคคลอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน อาสาสมัคร ผู้บริหาร ที่เข้าไปในพื้นที่อ่าวพร้าว ขณะนี้ได้เก็บปัสสาวะตรวจแล้ว 1,522คน ทราบผลแล้ว 252คน พบว่าค่าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดทุกตัวอย่าง ซึ่งสธ.ได้ขึ้นทะเบียน วางแผนติดตามตรวจสุขภาพต่อเนื่องในอีก 1ปี และทุก 5ปีทุกราย และหากรายใดที่มีค่าเกินค่ามาตรฐาน ก็จะตรวจเลือด วิเคราะห์การทำงานของตับไตต่อไป
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งมีหน่วยปฐมพยาบาล ปฎิบัติงานดูแลที่อ่าวพร้าวต่อเนื่องทุกวัน จนถึงวันนี้ ให้บริการตรวจรักษารวม 414 ราย พบอาการที่เกี่ยวข้องกับสารเบนซีน เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เจ็บคอ ผื่นคัน รวม 190ราย ส่วนด้านสุขภาพจิตพบบางส่วนมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับบ้าง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป หลังเหตุการณ์ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และอสม. เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อไป 2 สัปดาห์