xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ นักการเมือง ชำแหละจำนำข้าว "ใครล้มใครรวย?"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - นักการเมือง ตัวแทนชาวนา เจ้าของโรงสี ตั้งวงเสวนาหาทางออกโครงการรับจำนำข้าว สรุปเจ๊งมากว่ารวย เพราะชาวนาตัวจริงได้รับประโยชน์น้อย เนื่องจากทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนสำรวจพื้นที่ ถึงการออกใบประทวน แนะรัฐใช้สติ ไม่พาประเทศล่มจม ขาดความเชื่อถือในสายตาชาวโลก

วันนี้(8 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.อุบลราชธานี ว่าสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเสดประเทศไทย ร่วมกับนักวิชาการอิสระ ตัวแทนสำนักงานการค้าภายใน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เจ้าของโรงสี เสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีตัวแทนชาวนา และนักศึกษาเข้าร่วมฟังจำนวนมาก

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินราย ถามนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่าชาวนาได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ซึ่งนายสมคิดยืนยันว่า ตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นากรัฐมนตรี ทำโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาอุบลราชธานี และทั่วประเทศได้ประโยชน์ ในกระเป๋ามีเงินใช้จ่ายมากขึ้น โดยขอให้แยกระหว่างเรื่องทุจริต เพราะเป็นปัญหาของโรงสีและพ่อค้า แต่เบื้องต้นยืนยันว่ามีประโยชน์กับชาวนา ดังนั้นไม่ใช่มีการทุจริตแล้วต้องยกเลิกโครงการ รัฐบาลต้องไปแก้ปัญหาเรื่องทุจริตเอาเอง

และที่เกรงว่าการรับจำนำข้าวไว้ทุกเม็ด ทำให้ตลาดค้าข้าวเสียหาย รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากอุ้มไว้นั้น ต้องมองเป็นกลยุทธ์ทางการค้า เพราะการเก็บข้าวไว้จำนวนมาก เมื่อโลกเกิดภัยพิบัติข้าวเป็นสิ่งจำเป็น ราคาจะสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด ถึงเวลานั้นรัฐบาลสามารถระบายข้าวออกมาได้ โดยไม่ขาดทุนตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย

การที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติหรือกขช. เสนอให้รัฐบาลลดราคารับจำนำข้าว ถือว่าไม่เข้าใจวิถีชีวิตชาวนา เพราะโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลเข้าใจดีว่าต้องขาดทุน แต่เพราะต้องการโอบอุ้มชาวนาให้มีชีวิตดีขึ้น และการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลก็เหมือนเอาเงินจากประซ้ายไปไว้ในกระเป๋าขวา เงินไม่ได้หายไปไหน ประเด็น คือ รัฐบาลจะเลือกช่วยใครเท่านั้น

ขณะที่นายศุภชัย ศรีหล้า รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.อุบลราชธานี กล่าวว่า รัฐบาลคิดเอาใจคนกลุ่มเดียวเพื่อหวังคะแนนเสียง โดยไม่สนใจประเทศจะเสียหายหรือจะล้ม การเอาใจโดยต้องเอาเงินกว่า 6 แสนล้านบาทมาทุ่ม และปัจจุบันขาดทุนแล้วกว่า 2.6 แสนล้านบาทนั้น ถ้าเอาเงินจำนวน 2.6 แสนล้านบาท ไปสร้างโรงเรียนตามชนบท ผู้ปกครองก็ไม่ต้องจัดผ้าป่าซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนให้ลูกหลาน หรือเอามาสร้างระบบชลประทาน ส่งน้ำเข้านาเกษตรกร ก็ไม่ต้องประสบภัยแล้งซ้ำซาก

หากรัฐบาลยังเดินหน้ารับจำนำข้าว โดยไม่ดูข้อเท็จจริงในตลาดค้าข้าว จะทำให้ประเทศขาดทุนสะสมไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาทในฤดูรับจำนำ 2556/2557 และการทำเช่นนี้เหมือนรัฐบาลจับชาวนาไว้เป็นตัวประกัน ทั้งที่ชาวนาตัวจริงนำข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำไม่ถึงร้อยละ 30 เพราะชาวนาอีสานมีที่นาขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ปลูกไว้กินเอง จะมีเหลือไว้เข้าโครงการรับจำนำน้อยมาก

และการทุจริตเกิดตั้งแต่กระบวนการขึ้นทะเบียนพื้นที่เพาะปลูก ไปถึงขั้นตอนการออกใบประทวน ทำให้ปริมาณการรับจำนำข้าวมีมากจนผิดปกติใน 3 ฤดูกาลที่ผ่านมา และปัจจุบันประเทศได้สูญเสียตลาดค้าข้าวในตลาดโลกไปแล้ว เพราะพ่อค้าข้าวไทยจำเป็นต้องสั่งซื้อข้าวกัมพูชา ข้าวอินเดียที่มีคุณภาพเดียวกัน แต่มีราคาถูกกว่าส่งให้กับคู่ค้า

การที่รัฐบาลรวบรวมข้าวไว้ทุกเม็ด เพื่อหวังใช้กำหนดราคาข้าวโลกเป็นแนวคิดที่ผิด เพราะไม่เหมือนการทำธุรกิจผูกขาด ที่ครอบครัว "ชินวัตร" เคยทำ แต่เนื่องจากการปลูกข้าวไม่ได้ทำเฉพาะประเทศไทย มีอีกหลายประเทศเป็นคู่แข่ง การเก็บข้าวไว้จำนวนมาก นอกจากไม่สามารถกำหนดราคาข้าวได้แล้ว ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมสภาพ จึงมองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุนที่เสียไป

รัฐบาลควรหาวิธีอื่นมาช่วยชาวนา เช่น การประกันราคา ที่เพิ่มส่วนต่างให้ชาวนามีกำไรคุ้มกับเงินทุนที่ลงไป รัฐไม่ต้องแบกรับภาระมาก ปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ทุกฝ่ายได้ประโยชน์เหมือนเดิม

ด้านนายบู๊เฮียง รุ่งรัชกานนท์ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีข้าวเอกไพบูลย์ อุบลราชธานี กล่าวถึงการหักค่าความชื้นที่สูงขณะนี้ เพราะกระบวนการเก็บเกี่ยวไม่เหมือนอดีต ซึ่งใช้คนเก็บเกี่ยว กว่าจะนำมาขายให้โรงสีข้าวก็แห้งสนิท แต่ปัจจุบันชาวนาจ้างรถเกี่ยวข้าวแล้วนำมาขายเลย ทำให้ข้าวยังมีความชื้นสูง

ข้อสงสัยว่าโรงสีเอาเปรียบชาวนานั้นปัจจุบันทำได้ยาก เพราะมีโรงสีเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ชาวนาจะนำข้าวเข้าโครงการมีการโทรศัพท์สอบถามกันว่า โรงสีไหนมีพฤติกรรมอย่างไร ถ้าโรงสีไหนไม่ดี สังคมชาวนาก็จะร่วมกันลงโทษ ไม่เอาข้าวเข้าร่วมโครงการ

สำหรับการประกันราคาข้าวกับการรับจำนำอะไรดีกว่ากันนั้น ต้องดูจากกายภาพของภูมิภาคที่ไม่เหมือนกัน เช่น ภาคอีสานเกษตรกรมีที่นา 50 ไร่มีราวร้อยละ 10 ที่นา 20 ไร่ร้อยละ 20 ที่นา 5-10 ไร่ร้อยละ 70 อย่างไรก็ตามไม่เห็นด้วยที่จะมีการยกเลิกโครงการ เพียงแต่รัฐบาลต้องวางระบบการบริหารจัดการข้าวทั้งในและนอกประเทศ จะช่วยลดความเสียหายได้ เพราะการประกันราคาข้าวก็มีทุจริต แต่ทุจริตแบบกระจายรายได้ถึงมือชาวนา ส่วนการรับจำนำเป็นการทุจริตแบบกระจุกอยู่กับคนบางกลุ่มเท่านั้น

ขณะที่น.ส.ปาริชาติ พงค์พันเทา นักวิชาการพานิชย์ชำนาญการ สำนักงานการค้าภายในจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า พบการทุจริตโดยนำข้าวมาสวมสิทธิเพียงแห่งเดียวที่อ.พิบูลมังสาหาร อยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับเจ้าของโรงสี สำหรับปัญหาอื่นยังไม่พบ

ส่วนนายอุบล อยู่หว้า นักวิชาการอิสระ และผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศชาติเสียหาย เพราะตั้งราคารับจำนำข้าวเกินความจริงของราคาตลาดโลก จึงทำลายกลไกของโรงสีที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ที่ไม่สามารถซื้อข้าวได้เลย สหกรณ์ไม่ได้ประโยชน์ และขาดความเข้มแข็ง เพราะมีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการน้อยมาก

รวมทั้งยังทำให้หนี้สาธารณะสูงจนเป็นภาระให้กับทุกคนในประเทศ ถ้ารัฐบาลยังใช้จ่ายเงินแบบนี้ต่อไป อนาคตประเทศจะมีหนี้สูงถึง 60% ของจีดีพี เครดิตของประเทศในตลาดโลกลดลง ซึ่งรัฐบาลคงเริ่มรู้สึ จึงต้องออกมาพูดถึงวินัยทางการเงินการคลังในช่วงหลังบ่อยขึ้น การแก้ปัญหา คือ รัฐบาลต้องพูดความจริงกับประชาชน และต้องมีนโยบายช่วยชาวนาที่ชัดเจน ต้องให้ข้อมูลการรับจำนำมากกว่านี้

ทั้งนี้ มีตัวอย่างการแก้ปัญหาราคาข้าว ซึ่งระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ในจ.กาญจนบุรี ได้เชิญโรงสีมาพบกับชาวนา โดยอบต.เป็นเจ้าภาพติดตั้งเครื่องตรวจวัดความชื้น เครื่องชั่งน้ำหนัก ทั้งสองฝ่ายก็ซื้อขายข้าวได้ในราคาเป็นธรรม ประเทศไม่ต้องมาแบกรับภาระ แต่รัฐกลับพยายามเอาชาวนาเข้าไปอยู่ในโครงสร้างที่ถูกเอาเปรียบ ติดอยู่ในกับดักของพ่อค้า ชาวนาจึงออกจากปัญหานี้ไม่ได้ สิ่งที่รัฐควรทำ คือ ทำอย่างไรไม่ให้ชาวนาถูกโกง ให้ชาวนาได้รับเงินจริง

ขณะที่ผู้เข้าร่วมฟังได้แสดงความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือ เป็นชาวนารายย่อย มีกำลังผลิตไว้กินเองในครอบครัว มีเหลือขายน้อยมาก เพราะชาวนาอีสานทำนาปีละ 1 ครั้ง ที่ทำได้ปีละ 2 ครั้ง ต้องอยู่ในเขตชลประทานที่มีอยู่ราว 10-15% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด จึงไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ แต่กลับเสียประโยชน์ เพราะเมื่อไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ก็จะไม่ได้รับการแจกพันธุ์ข้าวไว้เพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป

สำหรับจ.อุบลราชธานี มีโรงสีข้าวที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการปีการผลิต 2555/2556 จำนวน 41 แห่ง มีปริมาณข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการกว่า 3.09 แสนตัน ส่วนข้าวนาปรังฤดูกาลผลิต 2556 มีโรงสีเข้าร่วม 10 แห่ง ข้าวเข้าร่วมโครงการ 39,000 ตัน จากผลผลิตรวม 70,870 ตัน

โดยการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่ช่อง Sangsook วีเคเบิ้ลทีวี โสภณเคเบิ้ลทีวี ราชธานีเคเบิ้ลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75 MHz และสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี

กำลังโหลดความคิดเห็น