xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละวัดเถื่อนขันติธรรมฉาว “ไอ้คำ” จอมแสบผูกขาดโกยเบ็ดเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดป่าขันติธรรม มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น ที่ทำให้สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ทั้งที่ดินตั้งวัด เจ้าสำนัก การจัดสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เพื่อดูดเงินพุทธศาสนิกชน
ทีมข่าวพิเศษของ “ASTVผู้จัดการ” ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อตอบปัญหาของสังคมในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็น “หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก” และได้พบแง่มุมใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง โดยจะนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง

ชำแหละวัดเถื่อนขันติธรรมฉาว “ไอ้คำ” ขวางจัดตั้งวัดใช้เป็นแหล่งตบทรัพย์โกยเงินขนทองคำกลับบ้านเกิดอุบลฯ แฉผูกขาดการเงินเบ็ดเสร็จ จัดการรายรับรายจ่ายด้วยมือตัวเองทั้งหมดกว่า 20 บัญชี ไม่ยอมให้เล็ดลอดแม้แต่เงินทอนบาทเดียว ได้ชื่อเป็นไอ้โคตรเหนียวจอมแสบเบี้ยวหนี้ ไม่เว้นค่าซื้อที่ดินสร้างวัด ค่างวดรถ เครื่องบินเจ็ต ค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงคนงานวัด

ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า วัดป่าขันติธรรม บ้านยาง ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ที่มี “พระวิรพล ฉัตติโก” หรือ “หลวงปู่เณรคำ” ลูกชาวนา จ.อุบลราชธานี อายุแค่ 34 ปี เป็นประธานสงฆ์ในปัจจุบัน มีสถานะเป็นแค่ “ที่พักสงฆ์” หรือ “วัดเถื่อน” เท่านั้น แต่ไม่น่าเชื่อว่า วัดเถื่อนในชนบทแห่งนี้ กลับกลายเป็นสถานที่ฉ้อโกงกอบโกยเงินทองจากผู้คนทั่วสารทิศตั้งแต่ยาจกยันเศรษฐีเป็นมูลค่ามหาศาล และยังเต็มไปด้วยปริศนาใคร่อยู่รู้อีกมากมาย

เปิดความจริงที่ดินจัดตั้งวัดป่าขันติธรรม

เริ่มตั้งแต่เรื่องที่ดินที่ตั้งวัดป่าขันติธรรม ก็ยังเต็มไปด้วยความสับสน เนื่องจากทั้งกลุ่มลูกศิษย์หลวงปู่เณรคำ และหลายคนที่เกี่ยวข้องต่างพูดความจริงไม่หมด ซึ่งแท้จริงแล้ว ที่ดินที่ตั้งที่พักสงฆ์ขันติธรรม ทั้งหมดในปัจจุบันนั้น ยังไม่ได้มีการโอนมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่วัด หรือ หลวงปู่เณรคำ แต่อย่างใด โฉนดที่ดินทุกแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ยังเป็นเจ้าของที่ดินเดิมอยู่ทั้งหมด

เดิมทีที่ดินผืนหลักอันเป็นที่ตั้งวัดเถื่อนแห่งนี้ เป็นโฉนดเลขที่ 6390 เล่ม 64 หน้า 90 มีเนื้อที่ 33 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา มีชื่อ นางทา สืบสี และ นางแพง เพ็งจันทร์ เป็นเจ้าของ โดยนางทา เป็นพี่สาวของนางแพง และนางแพง เป็นแม่ของ นางทองมี วุฒิยาสาร ต่อมาได้มีการแบ่งแยกโฉนดเป็นหลายฉบับ

แปลงหลักๆ ประกอบด้วย โฉนดที่ดินในชื่อ นางทองมี วุฒิยาสาร ซึ่งเสียชีวิตแล้ว จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 9 ไร่ นายสุตีย์ วุฒิยาสาร น.ส.ฐิติยา วุฒิยาสาร และ น.ส.เบญจมาภรณ์ วุฒิยาสารเป็นลูกสาวของ นางทองมี โฉนดมี 3 ชื่อ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา และ โฉนดในชื่อของ “นางลอน มนัส” อายุ 68 ปี จำนวน 5 แปลง เนื้อที่รวม 14 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา

นอกจากนั้น เป็นที่ดินของคนอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ได้ใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างอาคาร ศาลา กุฏิพระ และส่วนต่างๆ ของวัด รวมทั้งพระแก้วมรกตจำลององค์ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว ประมาณ 15-17 ไร่ และเป็นพื้นที่บริเวณถนนทางออกวัดทั้งหมด อีกประมาณ 7 ไร่

ฉะนั้น ในส่วนบุคคลผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีความสำคัญต่อการชี้ชะตาการจัดตั้งวัดป่าขันติธรรม จึงมีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มพี่น้องวุฒิยาสาร ที่ นางทองมี ผู้เป็นแม่ เสียชีวิตไปแล้ว กับ นางลอน มนัส ดังกล่าว ซึ่งในกรณีที่ดินทั้ง 5 แปลง ของนางลอน นั้นจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เจ้าของที่ดินเดิม แต่เป็นที่ดินที่ได้ช่วยกันระดมเงินบริจาค เงินทำบุญ ซื้อจาก นางทองมี แล้วโอนมาไว้ในกรรมสิทธิ์ของนางลอน เพื่อรอการจัดตั้งวัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“ไอ้คำ” ถูกไล่พ้นป่าช้า จุดกำเนิดวัดเถื่อนดูดทรัพย์

ที่มาของการผลักดันจัดตั้งวัดป่าขันติธรรม เริ่มขึ้นเมื่อราวปี 2537 โดยกลุ่มชาวบ้านยาง ต.ยาง จำนวนหนึ่ง นำโดย นางลอน มนัส นางทองมี วุฒิยาสาร หรือ “แม่เหนาะ” นายถาวร เกษแก้ว น้องชายนางลอน เป็นต้น ได้นิมนต์พระอาจารย์สมเดช มาอยู่ที่พักสงฆ์ในบริเวณป่าช้า หรือป่าที่สาธารณประโยชน์บ้านยาง แต่อยู่ได้ 2 ปี ก็มรณภาพ จึงเป็นที่มาของการไปนิมนต์ หลวงปู่เณรคำ มาอยู่แทนโดยการแนะนำของเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นพระป่า และได้ธุดงค์มาปักกลดอยู่ริมห้วยสำราญ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

หลวงปู่เณรคำ มาอยู่ที่พักสงฆ์ในป่าช้า ได้ประมาณ 2 ปี คือ ราวปี 2539-2540 ได้ถูกชาวบ้านอีกกลุ่มต่อต้าน และชุมนุมขับไล่ออกจากป่าช้า เพราะเกรงจะถูกฮุบป่าสาธารณะดังกล่าว อีกทั้งไม่ต้องการให้ตั้งวัดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง กับวัดประจำหมู่บ้านดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว

กลุ่มผู้ริเริ่มก่อตั้งวัดดังกล่าวจึงได้มาหาสถานที่แห่งใหม่ คือ สถานที่ตั้งวัดป่าขันติธรรม ในปัจจุบัน และอยู่ติดกับป่าช้าบ้านยางสถานที่เดิม โดยได้ช่วยกันระดมเงินจากการรับบริจาค เงินทำบุญกฐิน ทอดผ้าป่า ทยอยจัดซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิม คือ นางทองมี ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา และ หลวงปู่เณรคำ ได้สั่งให้โอนที่ดินในส่วนที่ซื้อมาให้เป็นชื่อของนางลอน ทั้งหมด ทั้ง 5 แปลง เพื่อรอการจัดตั้งวัด

การดำเนินการจัดตั้งวัดป่าขันติธรรม ได้เริ่มขึ้น โดยมี พล.ต.จตุรานนท์ สิงหเดช หรือ “เสธ.นนท์” ปัจจุบันยังมีชีวิตแต่ป่วยหนัก เป็นผู้ยื่นขออนุญาตสร้างวัด และได้รับหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดจากกรมการศาสนา ลงวันที่ 13 ก.พ.2545 มาเรียบร้อยแล้ว โดยมีกำหนดให้ดำเนินการตั้งแต่ 10 ม.ค.2545-9 ม.ค.2550 แต่กลับปล่อยเวลาล่วงเลยไปจนหมดเขตกำหนด และจวบจนปัจจุบัน ยังไม่ได้มีจัดตั้งวัดป่าขันติธรรมให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่กลับใช้ชื่อเรียกให้ผู้คนเข้าใจว่าเป็นวัดล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

ลูกศิษย์กลุ่มผู้ริเริ่มตั้งวัดทุกคนต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ที่ขัดขวางไม่ให้จัดตั้งวัดป่าขันติธรรม ให้เป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่มีความพร้อมทุกอย่างหมดแล้ว ทั้งการก่อสร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุต่างๆ และจำนวนที่ดินไม่ต่ำกว่า 6 ไร่ นั้น มีคนเดียวคือ “ไอ้คำ” เพราะต้องการหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พูดง่ายๆ คือ ต้องการใช้วัดเถื่อนเป็นเครื่องมือในการกอบโกยทรัพย์สินเงินทองจากประชาชนผู้หลงเชื่อศรัทธาให้นานที่สุด โดยปราศจากการตรวจสอบจากหน่วยงานใด

จึงเป็นที่มาของกลุ่มลูกศิษย์ผู้ริเริ่มจัดตั้งวัด นำโดย นางลอน ออกมาประกาศจุดยืนในเจตนารมณ์เดิมว่า จะเดินหน้าจัดสร้างวัดป่าขันติธรรมให้ถูกต้องสมบูรณ์ หลังล่าช้ามากว่า 10 ปี และวัดแห่งนี้ต้องไม่มี “ไอ้คำ” และพวกเข้ามาเกี่ยวข้องเด็ดขาด ทำให้กลุ่มลูกศิษย์ปัจจุบันของหลวงปู่เณรออกมาตอบโต้อย่างหนัก และกลายมาเป็นข่าวขู่อุ้มฆ่า นางลอน ตามมาด้วยพยายามเอาเงินก้อนโตมาฟาดหัว เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญในการจัดตั้งวัดที่จำเป็นต้องเคลียร์ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

ขณะเจ้าของที่ดินรายอื่นๆ ได้ทยอยถูกฝ่าย “ไอ้คำ” เรียกตัวไปเจรจาที่ จ.อุบลราชธานีแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มทายาทเจ้าของที่ดินเดิม จำนวน 5 แปลงดังกล่าว ที่ได้ขายให้เมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่จนถึงวันนี้ยังถูก “ไอ้คำ” เบี้ยวหนี้ ค้างจ่ายอยู่อีกกว่า 4.8 แสนบาท

ผูกขาดชี้นิ้ววัดเถื่อนแต่เพียงผู้เดียว

การบริหารจัดการภายในวัดเถื่อนขันติธรรม นั้น “ไอ้คำ” ได้อุปโลกน์โครงสร้างการบริหารขึ้นมา โดยแต่งตั้ง ให้ หลวงปู่สมบูรณ์ ขันติโก แห่งวัดดอนธาตุ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นอาจารย์ของ “ไอ้คำ” เป็นประธานสงฆ์อาวุโส และตั้งตัวเองเป็น ประธานสงฆ์วัด แล้วแบ่งการบังคับบัญชาลงเป็น 2 สาย ให้ขึ้นตรงกับตัวเองทั้งหมด คือ ฝ่ายสงฆ์ มี “พระภูมินทร์ ภูริปัญโญ” เป็นเลขานุการดูแลฝ่ายสงฆ์ทั้งหมด

ส่วนฝ่ายฆราวาส ตั้งให้ “นาย ก.” นักธุรกิจผ้าม่าน และตกแต่งภายใน จบการบัญชี จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเลขานุการฝ่ายฆราวาส ดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฆราวาสและการบัญชีของวัดทั้งหมด ร่วมกับอีก 2 คน คือ “ร.ต.ต.เกษียร จันจำปา” ตำรวจสถานีทางหลวงอุบลราชธานี และอีกคนเพิ่งเข้ามาใหม่สุด รวมเป็น “สามทหารเสือ”

“สามทหารเสือ” ดังกล่าว “หลวงปู่เณรคำ” ให้ความไว้ใจสูง เนื่องจาก 2 คนแรก เป็นลูกศิษย์เก่าแก่ร่วมเป็นร่วมตายมาแต่อยู่ในป่าช้าก่อนถูกขับไล่ออกมา โดยเฉพาะ “ร.ต.ต.เกษียร” ที่เพิ่งได้เลื่อนยศ จาก “ด.ต.” ขึ้นมาติดยศ “ร.ต.ต.” เมื่อเร็วๆ นี้ และ “ไอ้คำ” มอบปืนพกสั้นให้เป็นของขวัญชิ้นพิเศษนั้น ได้รับความไว้วางใจมากเป็นพิเศษ เพราะทุ่มเทรับใช้ “ไอ้คำ” ทั้งในทางลับและเปิดเผย อีกทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงเสียงจริงในการจัดการรถนำขบวน “ไอ้คำ” ได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการเหนือคำบรรยาย

ส่วนคนที่ 3 แม้เพิ่งเข้ามาใหม่ในปี 2550 แต่มีความสามารถด้านการประชาสัมพันธ์ และประสานสื่อ อันเป็นหนทางสุดยอดปรารถนาในการสร้างภาพของ “ไอ้คำ” อยู่แล้ว จึงมอบหมายให้ทั้ง 3 คน มีอำนาจร่วมกันในการเซ็นรับรองทุกเรื่อง และการเบิกจ่ายเงินทุกอย่างภายในวัด ก่อนส่งผ่านพระภูมินทร์ เลขานุการฝ่ายสงฆ์ เพื่อเสนอตรงกับ “ไอ้คำ”

สำหรับ “พระภูมินทร์” ถือเป็นพระเลขานุการส่วนตัวของหลวงปู่เณรคำ ที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุดในบรรดาผู้ใกล้ชิดทั้งหมด เพราะร่วมเคียงข้างกันมาตั้งแต่อยู่ในป่าช้า และเป็นพระผู้ติดตามไปทุกแห่งหน ฉะนั้น ทุกเรื่องทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับ “ไอ้คำ” และวัดป่าขันติธรรม ต้องผ่านพระรูปนี้ จึงกลายเป็นผู้ที่กุมความลับ และชะตากรรม “ไอ้คำ” ไว้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการภายในวัดเถื่อนทั้งหมดทั้งปวงนี้ อุปโลกน์ให้ดูเสมือนว่า ดำเนินการภายใต้องค์กรวัดป่าขันติธรรม และ “มูลนิธิส่งเสริมคุณธรรมและคุณภาพชีวิต” ที่ได้โยกมาจาก จ.สระบุรี และมีหลวงปู่เณรคำ เป็นประธานมูลนิธิฯ แต่ความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างในวัดเถื่อนแห่งนี้ ล้วนผูกขาดอยู่ที่คนๆ เดียว คือ “ไอ้คำ” เท่านั้น

“ไอ้คำ” คุมเบ็ดเสร็จโกยเงินทองขนกลับบ้านเกิด

อดีตลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงปู่เณรคำ เปิดเผยว่า ในเรื่องของการเงิน และทรัพย์สินต่างๆ ของวัดที่ได้มา “ไอ้คำ”จะเป็นผู้จัดการด้วยตัวเองทั้งหมด ทั้งการรับเงิน จ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในวัด ไม่ว่าจะเป็น ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้าง เงินเดือนพนักงานลูกจ้าง ในวัดป่าขันติธรรม และทุกสาขาทั่วประเทศ โดยจะทำการจ่ายเป็นเช็ค หรือจ่ายโอนเข้าบัญชีให้โดยตรงด้วยมือตัวเองเท่านั้น เพราะเขาไม่เคยไว้ใจใครในเรื่องเงิน และเคยพูดกับลูกศิษย์ ว่า “เรื่องเงินทองแม้แต่พ่อแม่ยังไว้ใจไม่ได้”

ฉะนั้น เงินและทองคำทุกบาทสตางค์ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเงินบริจาค เงินทำบุญในงานต่างๆ ที่ทางวัดได้ระดมจัดขึ้นตลอดทั้งปี และเงินทองก้อนโตที่บรรดาลูกศิษย์ “วีไอพี” นักธุรกิจใหญ่ทั้งชาวไทย และต่างประเทศนำมาถวายกับมือครั้งละจำนวนมาก ระดับหลายล้าน และหลายสิบล้านบาท จะต้องถูกนำเข้าบัญชีของหลวงปู่เณรคำที่มีอยู่กว่า 20 บัญชี ทั้งหมด เช่น บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา อุบล ชื่อ พระวิรพล ฉัตติโก เลขที่บัญชี 530-274952-0, บัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาพระราม 9 ชื่อ พระวิรพล ฉัตติโก เลขที่บัญชี 215-0-61617-1 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเงินทั่วไปภายในวัดจำนวนไม่มากนัก จะมอบหมายให้เลขาฯ ฝ่ายฆราวาส นำไปเข้าบัญชีธนาคาร แต่หากเป็นเงินจำนวนมากหลักหลายล้าน “ไอ้คำ” จะจัดการเอง โดยเฉพาะทองคำ แล้วไม่ยอมให้ใครแตะเด็ดขาด จนได้รับฉายาจากบรรดาลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดว่า “เณรคำ เงินข้าใครอย่าแตะ”

ทั้งนี้ หลังจากผุดโครงการก่อสร้างพระแก้วมรกตจำลององค์ใหญ่ที่สุดในโลก 150 ล้านบาท และทำพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างราวปี 2547 แล้ว ได้เกิดปรากฏการณ์เงินทองหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคทองของ “ไอ้คำ” จากนั้นโครงการต่างๆ เกี่ยวกับพระแก้วมรกตฯ ก็ผุดตามมา เช่น การสร้างเศียรองค์พระแก้วมรกตด้วยทองคำ 150 กิโลกรัม (กก.), การระดมรับบริจาคทองคำ 9,000 กก. หรือ 9 ตัน เพื่อหลอมเป็นชฎาครอบบนพระเศียรพระแก้วมรกต, การระดมเงินบริจาคสร้างมหาวิหารครอบองค์พระแก้วมรกต 1,500 ล้านบาท โครงการสร้างพระแก้วมรกต จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการดูดทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ “ไอ้คำ”

ในช่วงแรกที่เงินหลั่งไหลเข้ามานั้น หลังเสร็จการจัดงานแต่ละครั้ง จะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขากิโลศูนย์ จ.อุบลราชธานี นำรถธนาคารมาขนเงินไปเข้าบัญชีที่ จ.อุบลราชธานีอยู่เป็นประจำ อีกทั้งยังเป็นธนาคารหนึ่งเดียวที่ติดตั้ง ตู้ ATM ไว้บริการญาติโยมทั้งหลายให้ได้กดจ่ายๆ กันอย่างสะดวกถึงภายในวัดเถื่อนแห่งนี้ และต่อมามีข่าวว่า ผู้จัดการธนาคารสาขาดังกล่าวถูกสอบ และโยกย้ายออกจากพื้นที่ ระยะหลังไม่มีรถธนาคารรับเอาเงินถึงในวัด แต่ “ไอ้คำ” และ “ผู้หมวด ก.” จะขนเงินขึ้นรถออกจากวัดไปเอง

เช่นเดียวกับทองคำ ที่ได้รับบริจาคครั้งละหลายกิโลกรัม “ไอ้คำ” ก็ขนกลับไปที่บ้านเกิด จ.อุบลราชธานีหมด ซึ่งในเรื่องนี้ “ไอ้คำ” กล้าถึงขั้นสร้างวีรกรรมปลอมตัวเป็นฆราวาสหอบทองคำ ไปขายที่ร้านทรงเจริญ สาขา 1 ถ.พรหมราช จ.อุบลราชธานี มาแล้ว

“ไอ้คำ” โคตรงก และจอมแสบเบี้ยวหนี้

วีรกรรมสุดแสบของ “ไอ้คำ” ไม่ได้มีแค่นี้ เขาได้ชื่อเป็นคนโคตรงก และจอมแสบเบี้ยวหนี้ตัวยง ซึ่งเป็นที่ซาบซึ้งกันดีในหมู่ลูกศิษย์คนใกล้ชิด ว่า สำหรับ “ไอ้คำ” แล้ว เงินทอนบาทเดียวเขาก็ทวงถาม ไม่ให้มีเล็ดลอดแม้แต่สตางค์แดงเดียว หากลูกศิษย์กลับจากการจัดงานต่างๆ มาถึงวัด ไม่เคยถามว่า เหนื่อยไหม กินข้าวกินน้ำหรือยัง แต่คำแรกที่พูดคือ เงินอยู่ไหน ได้เท่าไร

ยิ่งไปกว่านั้นประมาณปลายปี 2554 เดินทางไปต่างประเทศนาน 3 เดือน ไม่ยอมโอนเงินเดือนค่าจ้างของเจ้าหน้าที่ และคนงานที่ต้องดูแลกว่า 100 คน มาให้ ทำเอาทุกคนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า พอเดินทางกลับมาว่า บอกขอบิณฑบาตหน้าตาเฉย ทุกคนจึงแห้วไม่ได้เงินติดต่อกัน 3 เดือน แต่ไม่มีใครกล้าทวงถาม

นอกจากนี้ ยังเบี้ยวค่างวดรถยนต์ที่ซื้อมาเป็นจำนวนมาก ไม่จ่ายค่างวดเงินดาวน์เครื่องบินเจ็ตลำแรกจนเลิกซื้อกลางครัน ค้างชำระหนี้วัสดุก่อสร้าง “ร้านศิริมหาชัย” เจ้าประจำที่ จ.อุบลราชธานี 17 ล้านบาท และล่าสุด ยังค้างจ่ายเงินค่าก่อสร้างฐานพระแก้วมรกตให้แก่ลูกศิษย์ชุดใหม่ กลุ่มขันติธรรมก้าวหน้า กว่า 7 ล้านบาท จนตกอยู่ในภาวะถอนตัวไม่ได้อยู่ในขณะนี้ เป็นต้น

“ขันติธรรมก้าวหน้า” กลุ่มลูกศิษย์ปิดฉากยุคเสื่อม

ในที่สุดหลังจากเงินทอง ผลประโยชน์มหาศาลหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุด “ไอ้คำ” ตบะแตกเพี้ยนหนักลุ่มหลงบูชาเทพเจ้าแห่งวัตถุนิยมชนิดโงหัวไม่ขึ้น ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดชุดเก่าหลายคนทยอยถอนตัวหนีออกห่าง ขณะเดียวกัน ในช่วงปี 2554 “พระฐกฤต กันตธัมโม” เริ่มเข้ามีบทบาท แม้เป็นบุคคลล้มละลายมาก่อน และมาบวชได้ยังไม่ครบพรรษาแต่ด้วยความเป็นคนพูดจาเอาใจเก่งเป็นยอด จึงกลายเป็นคนโปรดของ“ไอ้คำ” อย่างรวดเร็ว

จากนั้น พระฐกฤต ได้ดึงนักธุรกิจ นายภัทรเดช โสพรรณพาณิชกุล หรือ “เสี่ยก้าวหน้า” ที่เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน เข้ามาบริหารจัดการภายในวัดเถื่อนขันติธรรม โดยตั้ง “บริษัท ขันติธรรมก้าวหน้า จำกัด” เข้าดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในราวปี 2555 เพื่อจำหน่ายวัตถุมงคลสารพัดรูปแบบ ของ “ไอ้คำ” รวมทั้งดูแลงานก่อสร้าง และการจัดงาน รับบริจาคต่างๆ ของวัดทั้งหมด

กลายเป็นปมความขัดแย้งเปิดศึกระหว่างลูกศิษย์กลุ่มเก่ากับกลุ่มใหม่ต่างฝ่ายต่างแฉว่าอีกฝ่ายทุจริตไม่โปร่งใส จนนำมาสู่เรื่องฉาวโฉ่ทั้งหลายของ “ไอ้คำ” ถูกเผยแพร่ประจานสู่สังคมไทยพุทธให้ได้ประจักษ์ถึงความเสื่อมทรุดราวติดจรวดของ “ไอ้คำ” กันอยู่ในขณะนี้
พระแก้วมรกตจำลอง ถาวรวัตถุที่เณรคำหวังสร้างไว้ดูดเงินพุทธศาสนิก
และกว่าจะเป็นวัดป่าขันติธรรมอย่างที่เห็นในวันนี้ ต้องเผชิญปัญหามากมาย แต่สุดท้ายทุกอย่างก็อยู่ในอำนาจของ “ เณรคำ”

แม้ว่า ที่ดินตั้งวัดป่าขันติธรรมจะมาจากหลายส่วน แต่วันนี้ ความจริงคือ นางลอน มนัส เป็นผู้มีชื่อในกรรมสิทธิ์ที่ดินวัดทั้งหมด
สำหรับการบริหารจัดการในวัด มีการวางไว้อย่างเป็นระบบชัดเจน ในรูปกรรมการ การดำเนินงานของมูลนิธิ ฯลฯ แต่ทุกอย่างผู้ขาดโดย “เณรคำ”
สิ่งของต่างๆที่มีจำหน่ายภายในวัด

นายภัทรเดช โสพรรณพาณิชกุล หรือ “เสี่ยก้าวหน้า” ผู้ผูกขาดการบริหารจัดการภายในวัด จำหน่ายวัตถุมงคล
กลุ่มลูกศิษย์ของ “ เณรคำ” ที่มาร่วมพิธี “มหาพิธีห่มผ้าฤดูฝนพระแก้วมรกตจำลององค์ใหญ่ที่สุดในโลก” แม้จะไม่ใช่คนมีหน้ามีตาในสังคม แต่เป็นลูกศิษย์ที่เหนียวแน่นมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น