xs
xsm
sm
md
lg

พิรุธประวัติเพี้ยน“ เณรคำ” ดังได้เพราะแผนโปรโมต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายของพ่อ-แม่ เณรคำ ที่ใส่กรอบติดอยู่ที่วัดป่าขันติธรรม
ทีมข่าวพิเศษของ “ASTVผู้จัดการ” ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อตอบปัญหาของสังคมในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็น “หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก” และได้พบแง่มุมใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง โดยจะนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง

แฉประวัติกำมะลอ “ไอ้คำ” ลวงโลก โปรโมตเลิศหรู อ้างบำเพ็ญศีลภาวนาตั้งแต่ 6 ขวบ ก่อนเป็นพระอริยสงฆ์ ขณะเรื่องจริง เป็นเด็กดื้อเงียบ ถูกให้ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ม.2 เพราะตกสังคมศึกษา ก่อนครูวิชาเกษตรพาไปทำงานรีสอร์ตที่อำนาจเจริญ แล้วเงียบหาย จนกระทั่งกลายเป็นพระดัง และครอบครัวทางบ้านรวยขึ้นทันตา

หลังข่าวฉาวของ “หลวงปู่เณรคำ” กระฉ่อนไปทั่วโลกจนส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งวงการพุทธศาสนา และปฏิเสธไม่ได้ว่า “สังคมไทย” ก็ได้รับความเสียหายมากโข ถูกมองว่าเป็นสังคมที่อยู่กันอย่างไร้สติ งมงาย ขาดวุฒิทางปัญญา และคนจำนวนไม่น้อยที่ยังสับสนประวัติความเป็นมาของพระหนุ่มวัยไม่เกิน 35 ปี แต่กลับถูกเรียก “หลวงปู่เณรคำ”

ภาพมายาสร้างตัวตน “เณรคำ”

หากท่องในเว็บไซต์ http://www.luangpunenkham.com/ ระบุถึงประวัติของบุคคลผู้นี้ว่าพระอาจารย์ ดร.วิรพล ฉัตติโก หรือหลวงปู่เณรคำ ประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรม โดย หลวงปู่เณรคำ มีนามเดิมว่า “วิรพล สุขผล” เกิดที่บ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2522 เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายรัตน์ สุขผล และนางสุดใจ สุขผล มีพี่น้อง 5 คน เป็นผู้ชายทั้งมด เมื่อบวชเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า “ฉัตติโก”

เว็บไซต์นี้ยังสาธยายอีกว่า หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก ตั้งมั่นตามแนวทางคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ มีศรัทธาในการปฏิบัติจิต บำเพ็ญภาวนากรรมฐานมา ทุกวันพระจะหยุดเรียนนุ่งขาวห่มขาวไปถือศีลบำเพ็ญภาวนาในวัด มีอิริยาบถแห่งการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอด ไม่มีการพลั้งเผลอแม้แต่น้อย ทั้งวันจะเดินจงกรมสลับกับการนั่งภาวนาใต้ร่มไทร ช่วงกลางวันจะไปนอนในป่าช้า โดยหวั่นวิตกอะไร จิตนั้นนิ่งโดยตลอด ทั้งที่ไม่เคยบำเพ็ญมาก่อนในชาตินี้

วันธรรมดา ดช.คำ ก็ไปโรงเรียนตามปกติ พักเที่ยงจะไปนั่งสมาธิใต้ร่มไม้ เลิกเรียนจะเข้าไปไหว้พระก่อนกลับ และเดินจงกรมกลับบ้านทุกวันเป็นกิจภายในที่ไม่มีใครรู้ได้นอกจากตัวเอง

เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ดช.คำ คิดอยู่เสมอว่า “ถ้าเสร็จจากภารกิจทางโลกแล้ว เราจะไม่กลับมาทางโลกอีก เราคงเคยเกิดมาหลายชาติแล้ว เราคงพอแก่การเกิดได้แล้วในชาตินี้ เห็นอะไรก็เกิดความสลดสังเวชไปหมด จึงเป็นแนวทางทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า เรารู้มาก่อน เห็นมาก่อน ตั้งแต่อดีตชาติ เหมือนกับเราจะได้ต่อเติมเส้นทางแห่งการปฏิบัติธรรมการบำเพ็ญเพียรเพื่อให้หลุดพ้น”
โรงเรียนพิบูลมังสาหาร สถานศึกษาที่เณรคำเคยศึกษาเล่าเรียนและต้องออกกลางคันเพราะสอบตกวิชาสังคม จากนั้นไม่ปรากฏว่า เขาเรียนต่อที่ไหน จนกระทั่งมาบวช
ในบันทึกประวัติยังอุปโลกน์อีกว่า เลิกเรียน ด.ช.คำ จะไปปักกลด นั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่กระต๊อบกลางน้ำ ปลายนาของโยมพ่อโยมแม่ทุกวัน วันพระจะถือกลดไปโรงเรียนด้วย พอเลิกเรียนจะเข้าไปปักกลดบำเพ็ญภาวนาที่วัด

อายุได้ 15 ปี ได้ออกบวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537 ที่วัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยมีหลวงปู่โชติ อาภัคโค เป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาเสร็จแล้ว ได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าดอนธาตุ อ.พิบูลมังสาหาร ระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับการอบรมธรรมะจากพระเดชพระคุณท่านหลวงปู่สมบูรณ์ ขันติโก

จากนั้นเดินทางจาริกธุดงค์ปักกลดอยู่ถ้ำภูตึก บ้านคุ้มปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ขณะนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ในถ้ำภูตึกนั้น มีงูเหลือมตัวหนึ่งเลื้อยมาพาดขา พาดตักบ้าง บางคืนนอนอยู่ งูเหลือมจะเลื้อยมาขดอยู่บนหน้าอก หนักมาก แต่จิตไม่มีการวิตกกังวล หรือกลัวอันใดเลย เพราะชีวิตนี้บูชาคุณพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นใหญ่ที่สุด พระธรรมเป็นใหญ่ที่สุด พระอริยสงฆ์เป็นใหญ่ที่สุด ตอนนั้นคิดแต่ว่า เราต้องทำหน้าที่ให้ถึงพระพุทธเจ้า ทำให้ถึงพระธรรม ทำให้ถึงซึ่งความเป็นพระอริยสงฆ์ ความกลัวทั้งหลายจึงไม่มี และได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในถ้ำภูตึกนั้นคนเดียวนานถึง 3 เดือน

วันที่ 27 พฤษภาคม 2542 ได้ญัตติอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดป่าดอนธาตุ แล้วจึงเดินทางมายัง จ.ศรีสะเกษ ที่ซึ่งได้รับอาราธนานิมนต์ให้อยู่ในชาติสุดท้ายแห่งการเกิดนี้ คือ ที่สำนักสงฆ์ขันติธรรม

ส่วนที่มาของชื่อ “หลวงปู่เณรคำ” นั้นในเว็บไซต์เดียวกันยังอุตริต่อว่า เมื่อครั้งพระเดชพระคุณท่าน หลวงปู่เณรคำ ท่านไปจาริกธุดงค์อยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พุทธศาสนิกชนพากันไปกราบคารวะนมัสการ และได้มองเห็นองค์หลวงปู่ ซึ่งท่านนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ในกลดบางๆ เป็นพระแก่ชรา แต่พอท่านเปิดกลดออกมาก็กลายเป็นเณรน้อยออกไปบิณฑบาต ขากลับจากบิณฑบาต พุทธศาสนิกชนบางคนได้มองเห็นองค์หลวงปู่ท่านเป็นพระแก่ชรา อายุราว 80 ถึง 90 ปี ผมหงอก หลังค่อม เหี่ยวย่น หนังยาน บางคนฝันเห็นพระเดชพระคุณท่าน หลวงปู่เณรคำ ไปยืนอยู่บนหัวเตียงเดี๋ยวเป็นเณรน้อยอายุน้อยๆ เดี๋ยวก็กลายเป็นพระที่แก่ชรามาก
ทางเข้าบ้านพ่อ-แม่เณรคำ ที่อุบลฯ
เรื่องจริงที่ไม่อิงนิยายของ “เณรคำ”

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สืบเสาะข้อเท็จจริงประวัติของเณรคำของทีมงาน “ASTVผู้จัดการ” กลับได้ข้อมูลอีกด้าน

ด.ช.วิรพล ไม่ได้ฝักไฝ่ธรรมแต่แต่วัยเด็กอย่างที่กล่าวอ้าง ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน ออกจะเป็นคนดื้อเงียบด้วยซ้ำแต่ไม่ถึงขั้นเกเร เป็นคนเรียนไม่ค่อยเก่ง ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันขณะเรียนอยู่ชั้น ม.2 โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพราะสอบไม่ผ่านวิชาสังคมศึกษา

หลังออกจากโรงเรียนแล้ว ก็ไม่ได้กลับเข้าไปเรียนต่ออีก เพราะฐานะทางบ้านขณะนั้นค่อนข้างยากจน ครอบครัวยึดอาชีพทำนา หาเช้ากินค่ำเหมือนเพื่อนบ้านทั่วไป เตร็ดเตร่อยู่แถวบ้านพักใหญ่ นายปริญญา มุขสมบัติ ครูสอนวิชาเกษตรอยู่ที่โรงเรียนพิบูลมังสาหาร ซึ่ง ด.ช.วิรพล เรียกว่า “อาจารย์พ่อ” ได้พาไปฝากเข้าทำงานที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ

ในรีสอร์ตแห่งนี้ ด.ช.วิรพล ต้องตัดหญ้า ดูแลสวน ทำความสะอาดที่พัก เรียกได้ว่าทำงานทุกอย่างที่เจ้าของรีสอร์ตจะสั่ง และในห้วงที่ทำงานอยู่จังหวัดอำนาจเจริญนี้เอง ข่าวคราวของนายวิรพล ก็เงียบหายไปจากหมู่บ้านทรายมูล และไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับวิถีชนบทเมื่อคนในหมู่บ้านไปหางานทำต่างถิ่นนานๆ จะกลับเยี่ยมบ้าน ไม่มีใครใส่ใจใครเพราะต่างต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
ไม่ว่าจะมีข่าวอื้อฉาวของเณรคำหรือไม่ ประตูบ้านหลังใหญ่แห่งนี้ ไม่เคยเปิดต้อนรับใครและไม่มีการสมาคมกับชาวบ้านที่อยู่รายรอบ
หลังปี 2540 เป็นต้นมา นายวิรพล ก็เริ่มปรากฏตัวเป็นข่าวตามสื่อแขนงต่างๆ เป็นระยะๆ พร้อมกับการประโคมข่าวในทำนองพระหนุ่มที่หลุดแล้วจากกิเลส ซ้ำมีอภินิหารที่ให้เล่าขานกันปากต่อปาก ทุกย่างก้าวความเคลื่อนไหวของเขาไม่ต่างจากการวางแผนการใช้สื่อเป็นเครื่องมืออย่างเป็นระบบ ในห้วงนี้เอง ว่ากันว่า ฐานะความเป็นอยู่ของโยมพ่อโยมแม่พระคำดีขึ้นทันตาเห็น

บ้านหลังใหญ่ เลขที่ 999/10 บ้านทรายมูล หมู่ 2 ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร คือบ้านที่เณรคำสร้างให้โยมพ่อโยมแม่ใหม่ ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดประจำหมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ โดยส่วนหนึ่งทำเป็นบ้านพักของนายรัตน์ และนางสุดใจ สุขผล โยมพ่อ-โยมแม่

อีกส่วนสร้างเป็นที่ทำการมูลนิธิหลวงปู่เณรคำ ซึ่งมีความใหญ่โตมโหฬารกว่าบ้านทุกๆ หลังบริเวณนั้น ในบ้านมีรถยนต์ กับรถจักรยานยนต์ชอปเปอร์จอดอยู่หลายคัน บ้านหลังนี้นอกจากโยมพ่อโยมแม่แล้ว ยังมีน้องชาย และน้องสะใภ้ของหลวงปู่เณรคำพักอาศัยด้วย

หลายครั้งที่เพื่อนบ้านสงสัยว่าเหตุใดฐานะความเป็นอยู่ของ นายรัตน์-นางสุดใจ ดีขึ้นถึงขั้นมีอันจะกิน ทั้งที่ก็เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าคนในบ้านไม่ได้ทำมาค้าขายอะไรให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ทำนาทำไร่ตามประสาคนบ้านนอก แต่ข้อสงสัยเหล่านั้นไม่สามารถหาคำอธิบายจากใครได้ เพราะพ่อแม่ญาติพี่น้องพระคำมักทำหน้าไม่รับแขก และปฏิเสธที่จะร่วมวงเสวนา และไม่ให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับหลวงปู่เณรคำเมื่อมีเพื่อนบ้านถามถึง
บ้านพ่อ-แม่เณรคำ อยู่ท่ามกลางบ้านญาติๆและชาวบ้านทั่วไป แต่วันนี้ปิดปากเงียบไม่มีใครยอมพูดอะไรกับใคร
นางฟาน ดอนแก้ว ญาติห่างๆ และเป็นเพื่อนบ้าน เล่าว่า เณรคำไม่ได้เดินทางมาที่บ้านหลังนี้นานหลายเดือนแล้ว ส่วนตนก็ไม่ทราบเรื่องราวอะไรของหลวงปู่มากนักเพราะไม่ค่อยได้พูดคุยกัน

เพื่อนบ้านอีกรายบอกว่า ก่อนหน้านี้ทุกครั้งที่เณรคำเดินทางมาที่บ้าน จะมีรถตำรวจท้องที่และตำรวจทางหลวงขับนำขบวน รถยนต์แต่ละคันหรูราคาแพง นับ 10 คันที่มาพร้อมกับหลวงปู่ เมื่อมาถึงก็จะขับรถเข้าไปจอดในบ้าน และปิดประตูรั้วมิดชิด ไม่ทักทายพูดคุยกับเพื่อนบ้าน จึงไม่ทราบความเคลื่อนไหวข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับหลวงปู่เณรคำแต่อย่างใด

“พ่อรัตน์ อายุกว่า 80 ปีแล้ว ส่วนแม่สุดใจก็น่าจะ 70 กว่า พ่อรัตน์สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงตอนนี้ล้มป่วยอยู่ มีน้องชาย และน้องสะใภ้หลวงปู่คอยดูแล ทำไร่ทำนาตามประสาคนบ้านนอก ส่วนเขาจะมีทรัพย์สมบัติที่นาที่ดินเท่าไหร่พวกฉันไม่รู้หรอก” เพื่อนบ้านรายเดิมเล่า

สำหรับคุณครูปริญญา ผู้ที่เคยมีพระคุณต่อเณรคำ ถึงขั้นเรียก “พ่อครู” นั้นปัจจุบัน สภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีบิ๊กไบค์ชอปเปอร์คันใหญ่ 2 คัน, ห้องทำงานส่วนตัวติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

คุณครูปริญญา พยายามเลี่ยงตอบคำถามที่เกี่ยวกับข่าวฉาวของเณรคำ เล่าให้ฟังแค่ว่า เมื่อช่วงเดือน เม.ย.2556 ที่ผ่านมา ได้หารือเรื่องขอติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้แก่หอประชุมใหม่ (ชั้นบน) ของโรงเรียนพิบูลมังสาหาร ซึ่งเณรคำก็รับปากที่จะให้เงินก้อนโตมาติดตั้งแอร์ แต่ยังไม่ทันได้ซื้อ ก็มาเกิดเรื่องฉาวเสียก่อน

จากการบอกเล่าของสื่อมวลชนอาวุโสในพื้นที่ทราบอีกว่า ในราว 7-8 ปีก่อนหน้านี้ ลูกศิษย์ใกล้ชิดเณรคำ จะนำแผ่นซีดีที่บันทึกภาพกิจกรรมงานบุญกฐิน หรืองานเทศนาธรรมของหลวงปู่มาจ้างเคเบิลในจังหวัดอุบลฯ เปิดออกอากาศครั้งละ 1,000 บาท จ้างเปิดบ่อยมากเพื่อเชิญชวนคนให้ไปร่วมทุกบุญบริจาคเงินกับหลวงปู่เณรคำ ที่สำนักสงฆ์ขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ

เป็นที่สังเกตว่า ญาติโยมศิษย์เอกใกล้ชิดหลวงปู่เณรคำนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนพื้นที่ โดยมากจะอยู่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ภูมิภาคอื่น เช่น ดร.สุนันทา ลีเลิศพันธ์ เจ้าของบริษัทดอกบัวคู่, นายสุขุม  วงศ์ประสิทธิ์  ประธานเครือข่ายบ้านวิมุตติธรรม หม่ำ จ๊กมก และเป็ด เชิญยิ้ม ฯลฯ โดยเฉพาะเจ้าของดอกบัวคู่นั้น ถือเป็นโยมอุปัฏฐากรายใหญ่ รถยนต์ยี่ห้อดังซื้อมาถวายก็หลายคันแล้ว

เณรคำ มีคณะทำงานลูกศิษย์ใกล้ชิดทำการตลาด และทำงานประชาสัมพันธ์เก่ง จะบริจาคเงินช่วยสถาบันการศึกษาเป็นระยะๆ และพระชั้นผู้ใหญ่หลายท่านในแถบอีสานใต้ และอีกหลายจังหวัด เณรคำ จะนำรถยนต์เก๋งราคาแพงไปถวายถึงกุฏิแล้วก็ถ่ายภาพเผยแพร่สื่อ อย่างน้อยก็ได้คะแนนศรัทธาจากญาติโยมของพระผู้ใหญ่ท่านนั้นเพิ่มมากขึ้น
ภายในบ้านมีรถจอดอยู่หลายคัน
เช่นเมื่อกลางปี 2554 เณรคำ พร้อมกับลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก นำรถเก๋งโตโยต้า คัมรี่ สีบรอนซ์เงิน มูลค่าประมาณ 1,200,000 บาท ถวายแด่พระธรรมฐิติญาณ เจ้าอาวาสวัดบึงพะลานชัย พระอารามหลวง  เจ้าคณะภาค 10 จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด รถยนต์คันดังกล่าวได้จากการบริจาคจากบริษัทยาสีฟันดอกบัวคู่

และก่อนหน้านั้น ปี 2553 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ก็จัดพิธีถวายปริญญาบัตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ให้แก่ เณรคำ โดย  ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และ ผศ.ชัยวัฒน์ บุณฑริก อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ นำไปถวายถึงวัดป่าขันติธรรม

ข้อมูลที่เล่าข้างต้นขึ้นอยู่กับผู้อ่านจะใช้วิจารณญาณว่าส่วนใดน่าจะมีมูลความจริง หรือส่วนใดน่าจะเป็นเท็จ ที่บรรดาทีมงานลูกศิษย์เณรคำอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อหวังผลแรงศรัทธา นำมาซึ่งทรัพย์บริจาคแลกกับความเชื่อว่าทำมากได้บุญมาก

ตามแก่นคำสอนของพุทธศาสนาแล้ว พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะไม่สะสมทรัพย์ มุ่งแต่ละกิเลส แต่พฤติกรรมของเณรคำล้วนถูกครอบงำไปด้วยตัณหา

มาถึงตรงนี้สรุปได้คำเดียวว่า “เณรคำ” ดังได้เพราะแผนโปรโมต หากินจากความเบาปัญญาของชาวพุทธที่ยังเข้าไม่ถึงแก่นธรรม!
 

กำลังโหลดความคิดเห็น