xs
xsm
sm
md
lg

จวกเพื่อไทย “กบฏต่อชาวนา” แฉกลโกงโรงสีในเวทีดีเอสไอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผบก.ภ.จว.พิจิตร ตรวจสอบเอกสารการรับจำนำข้าวของโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - 3 สมาคมชาวนายื่นหนังสือจี้ “ปู” คงราคาจำนำข้าว 1.5 หมื่น “บุญทรง” รับนำเข้า กขช.พิจารณาเสร็จใน 7 วัน เกษตรกรเชียงรายจวกพรรคเพื่อไทย “กบฏต่อชาวนา” แฉกลโกงโรงสีในเวทีดีเอสไอ เมืองชลฯ เจอวิชามารจอดรถขนขยะส่งกลิ่นกวนการชุมนุม “สงขลา” นัดผาโลง “ปู-โต้ง-บุญทรง-อำมาตย์เต้น” 25ก.ค. ผู้ว่าฯ เมืองคอนฉุนสื่อประชด “แมว-หนู” ตายในโกดังโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ด้าน ตร.ภาค 6 สอบ อ.ต.ก.พิจิตรกรณีโรงสีโกงชาวนาหายเพิ่มอีก 4 พันตัน “นอมินี” โร่ให้การไม่คิดจะเกิดเรื่องแบบนี้ มรภ.นครปฐม เผยผลสำรวจเชื่อคอร์รัปชันร้อยละ 83.8

วานนี้ (25 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย นายภูติ ศรีสมุทรนาค นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลทบทวนราคารับจำนำข้าว ประกอบด้วย 1.ให้รักษาราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ออกไประยะหนึ่ง รวมทั้งข้าวเหนียวของชาวนาภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 2.กำหนดโควตารับจำนำไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือน โดยให้รัฐบาลพิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ หากไม่เป็นที่น่าพอใจจะมีการหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป โดยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับหนังสือ

“ปู” พลิ้วโยน กขช.พิจารณาข้อเรียกร้องชาวนา

นายบุญทรง กล่าวว่า รัฐบาลได้รับข้อเสนอแล้ว จากนี้จะนำข้อเสนอเข้าสู่การประชุมคณะกรรมนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่อพิจารณาในสัปดาห์นี้ โดยจะเร่งดำเนินให้เร็วที่สุด ตามกรอบระยะเวลา 7 วันที่เสนอมา พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีเจตนารดูแลชาวนาอย่างดีที่สุด

ทั้งนี้ หลังจากกลุ่มชาวนายื่นหนังสือแล้ว ได้กลับไปรวมตัวที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนสลายการชุมนุม จากนั้นได้มีชายสวมหน้ากากขาวยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลของโครงการรับจำนำข้าว

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จะให้ กขช.ไปพิจารณาเพื่อมีมติออกมา

ขณะเดียวกัน ในต่างจังหวัดมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาเช่นกัน โดยที่ จ.เชียงราย สมาคมเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอพาน ยื่นผ่าน นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ นายอำเภอพาน ให้เสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทบทวนการปรบลดราคารับจำนำ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทุกด้าน

โดยนายสุรเชษฐ์ วรพิทย์เบญจา รองประธานอาสาสมัครเกษตรกรหมู่บ้าน (อกม.) จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยหาเสียงว่าจะจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท แต่เหตุใดจึงปรับราคาลงอย่างกะทันหัน ทำให้เกษตรกรตายอย่างเขียด เพราะเดิมแม้ได้ 15,000 บาท แต่ถูกโรงสีหักค่าความชื้นจนเหลือตันละ 10,000 บาท ก็พออยู่ได้ คนรุ่นใหม่หันมาทำนากันมากขึ้น แต่เมื่อลดราคาสวนทางกับที่หาเสียงไว้ จึงถือว่าเป็นกบฏต่อเกษตรกร ส่งผลให้คนรุ่นใหม่หันหน้าสู่เมืองใหญ่ เป็นปัญหาสังคมอีก

ชาวนาเชียงรายแฉกลโกงโรงสีในเวทีดีเอสไอ

นายบุญเรียน โนพะเส้า แกนนำกลุ่มชาวนา อ.เชียงแสน กล่าวในเวทีโครงการให้องค์ความรู้ประชาชน เพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จัดโดยดีเอสไอ ที่โรงแรมโพธิ์วดล สปา แอนด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย ว่า ราคาจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท เกษตรกรได้รับจริงแค่ 11,000 บาท เพราะถูกหักความชื้น ทั้งที่บางโรงไม่มีเครื่องวัดความชื้น ขณะเดียวกัน พบว่ามีโรงสีบางแห่งแอบสวมตัวเลขเพิ่มเติมจากปริมาณข้าวที่ชาวนานำเข้าร่วมโครงการอีก 20% ทำให้ปริมาณข้าวกับเอกสารกำกับไม่เท่ากัน หรือตัวเลขจริงมีน้อยกว่าตัวเลขในบัญชีที่ยื่นให้ กขช. จนได้กำไรสองต่อ ทั้งจากปริมาณข้าวในใบประทวนที่เพิ่มขึ้น และซื้อข้าวในราคาถูกเกินจริง

เผยหากยืนราคา 1.2 หมื่น ขอค่าความชื้อ 25-30%

“เช่น ชาวนาขนข้าวไป 1,000 กิโลกรัม โรงสีจะทำบัญชี 1,200 กิโลกรัม ซึ่งเรื่องนี้ต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบ ว่า โรงสีเอาเปรียบชาวนามานานแล้ว หากรัฐบาลยังยืนยันปรับลดราคาเหลือ 12,000 บาท ก็ขอให้เพิ่มค่าความชื้นเป็น 25-30% เพื่อให้ชาวนาอยู่ได้ แต่หากกำหนดความชื้นเท่าเดิม หรือโรงสีข้าวยังอาเปรียบแบบเดิมๆ ชาวนาก็คงลำบากแน่นอน”

นายบุญเรียน กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรเห็นว่าคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวระดับจังหวัด ต้องไปดูด้วยตัวเอง หรือให้เกษตรกรแจ้งได้โดยตรง เพื่อแก้ปัญหาทันท่วงที ไม่ใช่ให้ไปแจ้งตำรวจ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ตำรวจจะแก้ปัญหาได้รวดเร็ว เพราะรู้จักกับเจ้าของโรงสีดี ทั้งยังมีภารกิจป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และการจราจร จึงไม่มีเวลาแน่นอน ขณะเดียวกัน กระบวนการของตำรวจต้องมีการเรียกสอบปากคำซึ่งใช้เวลาหลายวัน

เมืองชลฯ เจอวิชามารจอดรถขนขยะส่งกลิ่นกวน

ที่หน้าที่ว่าการอำเภอพนัสนิคม จ.ชลบุรี นายประมวล เอมเปีย ประธานที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรชาวนาชลบุรี นายธนกฤต ทองเต็ม ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวนาชลบุรี พร้อมเกษตรกรกว่า 500 คน ชุมชุนเรียกร้องขอให้รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือก 100% ตันละ 15,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิ 20,000 บาท โดยยื่นหนังสือต่อนายชาคร กัญจนวัตตะ นายอำเภอพนัสนิคม

ระหว่างกำลังชุมชุนมีคนขับรถเก็บขยะของเทศบาลเมืองพนัสนิคม มาจอดทิ้งไว้ หลังจากนั้นคนขับหายตัวไป ทำให้กลิ่นขยะจากรถส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว กลุ่มชาวนาต้องช่วยกันตามหาคนขับ ใช้เวลาเกือบ 30 นาที คนขับรถจึงได้มาขับรถออกไป ต่อมาอีกประมาณ 30 นาที ก็มีรถเก็บขยะขับมาวนอยู่บริเวณที่มีการชุมนุมอีกคัน แต่ไม่สามารถนำเข้ามาจอดได้

เสนอ 5 ข้อช่วยชาวนา-ลั่นไม่ได้บุกทำเนียบแน่

นายประมวล กล่าวว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปลี่ยนแปลงการรับจำนำข้าว โดยให้ราคาต่ำกว่าเดิม ถือว่ารัฐบาลผิดคำพูดกับชาวนา เพราะข้อเท็จจริงชาวนาไม่เคยได้รับเงิน 15,000 บาท อย่างดีไม่เกิน 11,000 บาท บางรายได้ 8,000 บาท ซึ่งเป็นแค่จุดคุ้มทุน ไม่ได้กำไร ปัญหาต่อมา คือ เอาข้าวไปจำนำแล้ว 3 เดือนยังไม่ได้รับเงิน ได้แต่ใบประทวน ไปทวงถาม ธ.ก.ส.ก็บอกว่าไม่มีเงิน เพราะรัฐบาลยังไม่โอนมาให้ชาวนา สร้างความเดือดร้อนอีก เพราะไปติดค้างค่าปุ๋ย ค่าแรงไว้

จึงเรียกร้องรัฐบาล 5 ข้อคือ 1.จำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ราคา 15,000-30,000 บาทต่อตัน ความชื้นไม่เกิน 15% 2.รับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ราคาไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท ความชื้น 16-30% 3.จ่ายเงินค่าจำนำข้าวภายใน 7 วัน หลังชาวนาเอาข้าวไปจำนำ 4.จัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพดี ราคาถูกช่วยชาวนาเพื่อลดต้นทุนการผลิต 5.รัฐบาลจัดระบบชลประทานให้มีนำใช้อย่างพอเพียง โดยให้เวลา 7 วัน หากไม่มีผลจะรวมตัวกันไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล

สงขลานัดเผาโลง “ปู-โต้ง-บุญทรง-เต้น” 25 ก.ค.

ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมก้าวหน้า จ.สงขลา และแกนนำชาวนาจาก 16 อำเภอ ยื่นหนังสือให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผ่านทาง นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้ คือ 1.คงราคาตันละ 15,000 บาท 2.ขยายวงเงินจำนำรายละไม่เกิน 600,000 บาท 3.ขยายเวลาโครงการไปอีกอย่างน้อย 1 ปี 4.ช่วยลดต้นทุนการผลิต 5.ให้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงการใช้เงินจำนำข้าว โดยต้องมีคำตอบภายใน 30 วัน หากไม่ช่วยเหลือจะรวมตัวเพื่อประท้วงกดดันต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมยังมีป้ายขนาดใหญ่เชิญร่วมงานฌาปนกิจศพ และโลงศพจำลองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นัดประชุมเพลิงวันที่ 25 กรกฎาคม ที่สี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ

ด้านนายกฤษฎา กล่าวว่า จังหวัดยื่นเรื่องขอขยายเวลารับจำนำข้าวเป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน ไปยังรัฐบาลแล้ว เพื่อชาวนาภาคใต้จะได้ใช้มาตรการเดียวกับภาคกลาง และภาคอีสาน

ชาวนา “เชียรใหญ่” เมืองคอนทวงค่าข้าว 500 ล้าน

ส่วนความเคลื่อนไหวของชาวนาใน จ.นครศรีธรรมราช จะรวมตัวกันวันที่ 26 มิถุนายน ที่ อ.เชียรใหญ่ เพื่อคัดค้านการลดราคาจำนำ และทวงเงินค้างจ่ายค่าจำนำข้าว โดยมียอดรวม 400-500 ล้านบาท ตั้งแต่ฤดูกาล 2554/2555 ใน อ.หัวไทร อ.เชียรใหญ่ ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า รัฐบาลยังไม่โอนเงินมาให้จึงยังไม่สามารถชำระให้ชาวนาได้

กาฬสินธุ์ตรวจแล้วอยู่ครบแต่มอดเจาะข้าวสาร

วันเดียวกัน มีการออกตรวจสอบโกดังข้าวในหลายจังหวัด โดยที่ จ.กาฬสินธุ์ นายสันชัย จันทร์นวล ปลัดจังหวัด ในฐานะคณะทำงานตรวจสอบโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 2555/2556 นายจีระศักดิ์ ศรีเพชร การค้าภายในจังหวัด เข้าตรวจสอบโกดังกลางขององค์การคลังสินค้า ซึ่งเช่าคลังสินค้ากลางของสหกรณ์การเกษตรกมลาไสย จำกัด เก็บข้าวสาร 5,984 ตัน โรงสีไฟกาฬสินธุ์รุ่งเรือง 3 ที่กำลังรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังฤดูนี้ 16,114 ตัน และโรงสีไทยเกษตร อ.ยางตลาด 10,509 ตัน

พบว่าข้าวสารซึ่งเก็บไว้ที่โกดังกลางของสหกรณ์การเกษตรกมลาไสย มีมอดจำนวนมากกัดกินข้าว ซึ่งผู้รับผิดชอบโกดังระบุว่า เนื่องจากยังไม่ได้รมยา เบื้องต้นพบว่าทั้ง 3 แห่ง มีข้าวเปลือกและข้าวสารครบถ้วน

นายจีระศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่มอดเจาะข้าวเพราะยังอยู่ในช่วงเตรียมการรมยา คาดว่าภายหลังวันที่ 29 มิถุนายน ซึ่งจะมีคณะกรรมการส่วนกลางเข้ามาตรวจสอบแล้วเสร็จ จะทำการรมยาได้ ขอยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวที่กาฬสินธุ์ยังไม่พบความผิดปกติ หรือปัญหาการทุจริต

นอภ.ท่าเรือตรวจโกดังข้าวสารหลังถูกไฟไหม้

ด้านนายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พ.ต.อ.จิตเกษม สนขำ ผกก.สภ.ท่าเรือ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัด นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัท เจียงเม้ง จำกัด และนายชัยรัตน์ บุญส่ง เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน ร่วมกันเข้าตรวจสอบโกดังเก็บข้าว W5ของบริษัท หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้กระสอบข้าวสาร ตามโครงการรับจำนำข้าว เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา

พบว่าที่เกิดเหตุเป็นโกดังเก็บข้าวสาร 15% มีกระสอบข้าวสารถูกไฟไหม้เสียหาย 20 กระสอบ เศษข้าวสารตกกระจายเกลื่อนพื้น บานประตูโกดังเสียหาย พบกระสอบข้าวสารที่ขาด และได้รับความเสียหายล้มลงมากองอยู่กับพื้นจำนวนมาก ค่าเสียหายในเบื้องต้กว่า 5 แสนบาท

นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัท กล่าวว่า รับจ้างเก็บข้าวสาร 136,918 กระสอบ เป็นข้าว 15% ทั้งหมดได้มีการรมยาป้องกันมอดแมลงกัดกิน โดยใช้สารเคมีชื่อ อะลูมิเนียมฟอสไฟด์ ซึ่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พบว่า สารเคมีทำปฏิกิริยากับน้ำ หรือละอองไอน้ำจนเกิดมีกลุ่มควันขึ้น แต่ต้องรอเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่รมยาข้าวสารเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดก่อน

นายวิทิต กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางบริษัทแจ้งว่าช่วงเกิดเหตุมีกลุ่มควันเกิดขึ้นในโกดัง เจ้าหน้าที่ของบริษัทช่วยกันนำน้ำยาดับเพลิงฉีด และย้ายกระสอบข้าวที่ไฟไหม้ออกมา ส่วนสาเหตุน่าจะมาจากสารเคมีทำปฏิกิริยากับละอองน้ำ เพราะช่วงเกิดเหตุมีฝนตก ลมแรงมาก ละอองฝนอาจโปรยข้าไปภายในโกดัง อย่างไรก็ตาม ต้องรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่บริษัทที่รมยามาตรวจสอบอีกครั้ง

สำหรับโกดังที่เกิดเหตุจะเร่งให้ทางบริษัทซ่อมประตูโกดังที่เสียหายให้เสร็จโดยเร็วเ พื่อป้องกันละอองฝน ซึ่งข้าวทั้งหมดทาง อคส.ได้ทำประกันไว้ จึงไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร

รองผู้ว่าฯ เมืองกาญจน์ไม่พบข้าวเน่า-สูญหาย

นายกาศพล แก้วประพาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นางพรรษวรรณ จันทร์ดี หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัด นายวิบูลย์ ปั้นศิริ นายอำเภอพนมทวน ไปที่คลังสินค้ากลางที่รัฐบาลเช่าจากบริษัท กิจเจริญชัยรุ่งเรือง จำกัด เลขที่ 94 หมู่ 2 ต.หนองโรง อ.พนมทวน เพื่อตรวจสอบปริมาณข้าวโครงการรับจำนำปีการผลิต 2555/2556 พบข้าว 72,189 กระสอบ หรือ 7,203,829.400 กิโลกรัมยังอยู่ครบ

นายกาศพล กล่าวว่า ยังเหลือคลังสินค้าที่ยังไม่ได้ไปตรวจสอบอีก 10 แห่ง จึงต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่นั้นเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

นางพรรษวรรณ กล่าวว่า ข้าวทั้งจังหวัดเพิ่งเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 30% ยอดจำนำประมาณ 3 หมื่นตัน ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกกว่า 1 แสนตัน ทั้งนี้ จังหวัดมีคลังโครงการรับจำนำ 13 แห่ง ตรวจสอบไปแล้ว 3 แห่ง ยังไม่พบปัญหา ซึ่งจะเร่งตรวจสอบทุกโกดังให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 มิถุนายนนี้

ผู้ว่าฯ เมืองคอนฉุนสื่อปูด “แมว” ตายในโกดัง

จ.นครศรีธรรมราช หลังจาก นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมคณะกรรมการหลายส่วนเข้าตรวจสอบโกดังเก็บข้าวสาร บริษัท มหาชัย พาราวู๊ด จำกัด ต.ท่างิ้ว อ.เมือง ซึ่งพบว่าข้าวสารจำนวนมากกระจัดจายอยู่บนพื้น มีเชื้อราจำนวนมาก กลิ่นเหม็นจากข้าวสาร กลิ่นสารเคมีที่เพิ่งรมกำจัดมอด กลิ่นจากซากแมว ซากคางคก และหนูที่ตายกระจัดกระจายอยู่ภายในโกดังนั้น

ช่วงคืนวันที่ 24 ต่อเนื่อง 25 มิถุนายน นายวิโรจน์ แสดงความไม่พอใจกับข่าวนี้อย่างมาก โดยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมภาพที่กำลังให้สัมภาษณ์หน้าโกดังข้าว ข้อความว่า “คงต้องอำลา ถ้าไม่มีทุจริตข้าว แต่หนูตาย แมวตาย ผู้ว่าฯ ต้องคอยตอบ ความรับผิดชอบของคุณอยู่ที่ไหน? สื่อต้องคิดด้วยผมอยู่กับพวกคุณไม่นาน ขอให้จากกันด้วยดี” ทำให้หลายคนที่ไปตรวจสอบโกดังข้าวรู้สึกงุนงงกับข้อความว่ากำลังถามหาความรับผิดชอบจากผู้สื่อข่าวที่ไปพบเห็น หรือจากใคร กรณีที่พบแมว หรือหนูตายภายในโกดัง หรือการใช้สารเคมี แต่หลังจากนั้นไม่นานข้อความก็ถูกลบออกไป

นักวิชาการเตือน “รมยา” อาจมีสารเคมีตกค้าง

ผศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ผู้เชี่ยวชาญพิษวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความเห็นต่อการใช้สารเคมีรมข้าวสารเพื่อกำจัดแมลงว่า หากผู้ใช้สารสูดเข้าไปต้องได้รับพิษแน่นอน เพราะองค์การอนามัยโลกแนะนำอยู่แล้วว่าต้องใช้อย่างไร ซึ่งสารประเภทนี้จะมีผลต่อระบบหายใจ ถึงขั้นปอดบวมน้ำได้ และมีผลทดลองกับสัตว์พบว่า ส่งผลให้ท่อไตอุดตัน มีอันตรายถึงชีวิต

ขณะเดียวกัน ในทางภายภาพของโกดังนั้นไม่เหมาะกับการรมยาอยู่แล้ว จึงเห็นการใช้ผ้าพลาสติกมาคลุมไว้ ถ้าเทียบกับสารเคมีในพืชผักเราพบว่า มีสารตกค้าง กรณีข้าวสารหากพ่นรมยาไม่กี่วันแล้วมาบรรจุถุง ซึ่งก็น่ากังวลใจเหมือนกัน

ด้านคดีโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ อ.โพทะเล จ.พิจิตร ฉ้อโกงชาวนา และยักยอกทรัพย์ข้าวเปลือกและข้าวสารขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในโครงการปี 2554/55 และ 2555/56 โดยเอาข้าวเปลือกของชาวนา 96 ราย ไปนานกว่า 4 เดือน แต่ไม่ออกใบประทวนให้ เมื่อตรวจสอบจึงพบว่าข้าวเปลือก และข้าวสารของ อ.ต.ก.ที่เก็บไว้หายไปอีก 4,000 ตัน รวมมูลค่าความเสียหายทั้ง 2 คดี กว่า 100 ล้านบาท

สอบเจ้าหน้าที่.อ.ต.ก.พิจิตร พบหายอีก 4 พันตัน

พล.ต.ต.ศิรินทร์ ผดุงชีวิตร์ รอง ผบช.ภ. 6 ประชุมร่วมกับ พล.ต.ต.กฤษณะ ศิริปิยะวัฒน์ ผบก.ภ.จว.พิจิตร เพื่อติดตามคดี โดยกล่าวว่า ได้จัดชุดเฉพาะกิจจากภาค 6 หาข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากองค์การตลาดเพื่อเกษตร (อ.ต.ก.) แยกเป็นปริมาณข้าวสาร ข้าวเปลือก และข้าวที่รับซื้อนอกโครงการ ข้าวที่เหลืออยู่ เพื่อนำประกอบสำนวนคดี โดยจะเร่งสรุปสำนวนภายใน 30 วัน เพื่อออกหมายจับ และส่งอัยการสั่งฟ้อง

ด้านพล.ต.ต.กฤษณะ กล่าวว่า ชาวนาที่จำนำข้าวกับตัวแทนโรงสีแอลโกลด์ แมนูแฟคเจอร์ ทยอยเข้าแจ้งความแล้วกว่า 60 ราย คาดว่าจะครบทุกรายภายในวันที่ 28 มิถุนายนนี้

ต่อมา พล.ต.ต.ศิรินทร์ พร้อมทีมสืบสวน เชิญ นางพวงเกษร วงษ์อนุพรกุล เจ้าหน้าที่ อ.ต.ก. เข้าให้ปากคำ และตรวจสอบเอกสาร เบื้องต้นพบว่ามีข้าวที่ออกใบประทวนแล้วสูญหายเพิ่มเติมอีก 4,000 ตัน จากเดิมที่หายไปแล้ว 8,000 ตัน รวม 12,000 ตัน ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นข้าวรับจำนำฤดูกาลผลิตปีใด นอกจากนี้ ยังพบว่าข้าวสาร และข้าวเปลือกที่เหลืออยู่ 400 ตัน ไม่ใช่ข้าวของ อ.ต.ก. ซึ่งคงต้องหารายละเอียดอีกครั้ง เพราะ นางพวงเกษร ให้การวกวนและค่อนข้างเครียด จึงให้โอกาสไปเตรียมตัว และเอกสารมาให้พร้อม ซึ่งจะนัดวันสอบสวนเพิ่มเติมอีกครั้ง เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีความผิด

ด้าน พ.ต.ท.เนวิน กาหลง หัวหน้าพนักงานสอบสวน สภ.เมือง จ.พิจิตร กล่าวว่า ชาวนาจาก ต.หัวดง ต.สายคำโห้ ต.ฆะมัง ให้การว่านำข้าวส่งมอบให้แก่ นายอำนาจ ดิษฐเสถียร หรือ “เสี่ยแกละ” อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49/9 หมู่ 1 ต.หัวดง อ.เมือง จ.พิจิตร เจ้าของท่าข้าวหัวดง ตำรวจจึงขออำนาจศาลจังหวัดออกหมายจับ แต่เสี่ยแกละชิงเข้ามาให้ปากคำ จึงแสดงหมายจับ และควบคุมตัวดำเนินคดีข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

“เสี่ยแกละ” แฉเส้นทางทุจริตจำนำข้าวพิจิตร

ซึ่ง พ.ต.ท.ไชยา ขาวแม้นจันทร์ รอง ผกก.สภ.เมือง รับตัวนายอำนาจมาทำการสอบสวน ซึ่งยอมรับว่าได้รับการแนะนำจากท่าข้าวสุนิตย์ อ.ตะพานหิน ให้รู้จักกับนายมุนินทร์ จันทรา หรือ “เสี่ยหนุ่ม” อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 963/178 หมู่ 60 ถนนรังสิต-นครนายก ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เจ้าของโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด ตัวจริง ซึ่งยื่นข้อเสนอให้ “ค่าไล่ของ” หรือนายหน้าตันละ 300 บาท หาข้าวส่งเข้าโรงสีในโครงการ ซึ่งตนได้ส่งข้าวไปแล้ว 3,204 ตัน รวม 147 ราย ได้ใบประทวนไปให้ชาวนา 48 ราย จึงทำให้น่าเชื่อถือ ชาวนาจึงบอกกันปากต่อปาก และพากันมาจำนำข้าวที่ท่าข้าวหัวดง โดยตนอาศัยรถบรรทุกจากท่าข้าวสุนิตย์ ตะพานหิน ที่ส่งรถ 10 ล้อมาบรรทุกข้าว โดยไม่ทราบเลยว่าจะเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น

ด้านญาติของเสี่ยแกละพยายามยื่นขอประกันตัว ซึ่งตำรวจได้ตั้งวงเงิน และหลักทรัพย์ไว้ 1 ล้านบาท แต่ต้องขอประกันตัวในชั้นศาล เนื่องจากเป็นคดีฉ้อโกงประชาชน และเป็นคดีใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ

ขณะที่นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ได้กำชับเรื่องการอำนวยความสะดวก และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ที่สำคัญต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ตกเป็นเหยื่อ ได้เปิดบัญชีธนาคารชื่อว่า “บัญชีกองทุนช่วยเหลือชาวนาพิจิตรที่ถูกโกง” โดยได้รับคำแนะนำจากผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ว่ จะช่วยระดมเงินบริจาค ตั้งเป้าไว้ 10 ล้านบาท เพื่อเยียวยาชาวนาให้ทำนาฤดูกาลนี้ แต่ถ้าได้รับจากภาครัฐก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

ขณะเดียวกัน มีชาวนาเกือบ 200 ราย ไปร้องต่อ น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร เลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่ง น.ส.สุณีย์ ก็รับปากว่า จะเป็นสื่อกลางถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ช่วยหาเงินมาเยียวยาชาวนาที่ถูกโรงสีฉ้อโกงต่อไป

โพลราชภัฏนครปฐมเชื่อมีทุจริตร้อยละ 83.8

ด้าน ผศ.สมเดชน์ นิลพันธุ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งทีมงานสถาบันวิจัยและพัฒนาสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นต่อการรับจำนำข้าว” โดยกลุ่มตัวอย่างอายุ 20-70 ปี ใน 5 จังหวัดหวัดภาคกลาง คือ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน สรุปว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.1 คิดว่าการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดี ร้อยละ 29.2 เป็นโครงการที่ไม่ดี และร้อยละ 11.7 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ร้อยละ 48.3 คิดว่าเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ร้อยละ 40.9 คิดว่าช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างไม่ยั่งยืน และร้อยละ 10.8 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ร้อยละ 53.7 คิดว่าโครงการมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 30.7 คิดว่าไม่เป็นประโยชน์ ร้อยละ 15.6 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ร้อยละ 83.8 คิดว่าโครงการมีการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 8.6 คิดว่าไม่มีการคอร์รัปชัน ร้อยละ 7.6 6 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ร้อยละ 36.6 คิดว่าโครงการทำให้ชาวนาได้รับประโยชน์มากที่สุด ร้อยละ 22.3 เชื่อว่ารัฐบาลได้ประโยชน์มากที่สุด ร้อยละ 17.3 เชื่อว่านักการเมืองได้ประโยชน์มากที่สุด ร้อยละ 10.0 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ร้อยละ 50.9 คิดว่ารัฐบาลควรดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ร้อยละ 38.1 คิดว่าไม่ควรดำเนินโครงการต่อ ร้อยละ 11.0 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ร้อยละ 36.2 คิดว่าโวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการช่วยชาวนา คือ ส่งเสริมให้ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ร้อยละ 32.9 ประกันราคา ร้อยละ 30.7 รับจำนำข้าว ร้อยละ 1.2 ไม่ระบุ

ร้อยละ 72.7 คิดว่ารัฐบาลควรรับจำนำข้าว/ประกันราคาข้าวที่ราคา 15,000 บาทต่อตัน ร้อยละ 25.3 คิดว่าาคาที่ 12,000 บาทต่อตัน และร้อยละ 2.0 ไม่ระบุ

ร้อยละ 74.9 คิดว่า ราคาข้าว 15,000 บาทต่อตัน ควรใช้กับข้าวนาปีและนาปรัง ร้อยละ 23.8 คิดว่าควรใช้กับข้าวนาปีเท่านั้น ร้อยละ 1.3 ไม่ระบุ
ชาวนาพิจิตรที่ถูกโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ ฉ้อโกง ทยอยกันเข้าแจ้งความที่สภ.เมือง จ.พิจิตร
ข้าวสารที่เหลืออยู่ในโกดังโรงสีแอล-โกลด์ แมนูแฟคเจอร์ จ.พิจิตร
ชาวนาเชียงรายชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอพาน โจมตีส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นกบฏต่อชาวนา
ชาวนาเชียงรายชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอพาน โจมตีส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นกบฏต่อชาวนา
นายสันชัย จันทร์นวล ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์นำคณะเข้าตรวจสอบโกดัง 3 แห่ง พบข้าวอยู่ครบ แต่มีมอดกัดกินข้าว  เนื่องจากยังไม่ได้รมยา
นายสันชัย จันทร์นวล ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์นำคณะเข้าตรวจสอบโกดัง 3 แห่ง พบข้าวอยู่ครบ แต่มีมอดกัดกินข้าว  เนื่องจากยังไม่ได้รมยา
นายประมวล เอมเปีย ประธานที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรชาวนาชลบุรี นำชาวนาชุมนุมประท้วงหน้าที่ว่าการอำเภอพนัสนิคม จ.ชลบุรี ขู่รัฐบาลไม่ทำตามภายใน 7 วัน จะนำทัพชาวนาบุกกรุงอีกรอบ
นายกาศพล แก้วประพาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นำคณะไปที่คลังสินค้ากลางที่รัฐบาลเช่าจากบริษัท กิจเจริญชัยรุ่งเรือง จำกัด เ อ.พนมทวน พบพบข้าว 72,189 กระสอบ ยังอยู่ครบ
ภาพและข้อความในเฟสบุ๊กของนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ต่อว่าต่อขานสื่อมวลชน ต่อมาถูกลบออกไป
เครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมก้าวหน้า จ.สงขลา ตั้งโลงศพจำลองพร้อมป้ายขนาดใหญ่ เชิญร่วมงานฌาปนกิจศพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ นัดประชุมเพลิงวันที่ 25 กรกฎาคม ที่สี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ
เครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมก้าวหน้า จ.สงขลา ตั้งโลงศพจำลองพร้อมป้ายขนาดใหญ่ เชิญร่วมงานฌาปนกิจศพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ นัดประชุมเพลิงวันที่ 25 กรกฎาคม ที่สี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ
เครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมก้าวหน้า จ.สงขลา และแกนนำชาวนาจาก 16 อำเภอ ชุมนุมคัดค้านการลดราคาจำนำข้าว ผ่านทางนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยต้องมีคำตอบภายใน 30 วัน หากไม่ช่วยเหลือ จะรวมตัวเพื่อประท้วงกดดันต่อไป
เครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมก้าวหน้า จ.สงขลา และแกนนำชาวนาจาก 16 อำเภอ ชุมนุมคัดค้านการลดราคาจำนำข้าว ผ่านทางนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยต้องมีคำตอบภายใน 30 วัน หากไม่ช่วยเหลือ จะรวมตัวเพื่อประท้วงกดดันต่อไป
นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เข้าตรวจสอบโกดังเก็บข้าวบริษัท เจียงเม้ง จำกัด หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้กระสอบข้าวสาร ตามโครงการรับจำนำข้าว เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 24 มิถุนายน พบว่าเสียหายไม่มากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น