xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวเน่า รัฐบาลปูเน่า จำนำเจ๊ง ฐานเสียงวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พังพินาศฉิบหายให้เห็นจะจะจนต้องสั่งถอยสำหรับโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ราคาตันละ 15,000 บาท ประจานผลงานประชานิยม “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า นี่ก็เท่ากับว่า ความหวังจะกวาดฐานเสียงชาวนาทั่วประเทศให้สวามิภักดิ์ต่อพรรคเพื่อไทยไปชั่วกัลปาวสานมีอันต้องดับวูบ
 
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 56 มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เสนอให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ลงมาเป็นตันละ 12,000 บาท จากเดิมตันละ 15,000 บาท มีผลวันที่ 30 มิ.ย.56 และจำกัดวงเงินการรับซื้อไม่เกินรายละ 5 แสนบาท เริ่มมีผลวันที่ 20 มิ.ย.นี้

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลในการปรับลดราคาจำนำข้าวคราวนี้ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลก แต่ที่สำคัญก็คือ ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการว่าใช้งบประมาณและมีผลดำเนินงานค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องปรับลดราคาและปริมาณการรับจำนำลงมา และเชื่อว่าชาวนาจะรับได้เพราะกขช.ได้ประเมินและคำนวณตัวเลขราคารับจำนำที่เกษตรกรน่าจะได้รับออกมาแล้ว แถมบอกยังจะคุมเข้มเรื่องการตรวจสอบคุณภาพข้าวทั้งความชื้นและสิ่งเจือปนเพื่อไม่ให้ชาวนาถูกกดราคาลงมาก

แต่รัฐบาลคาดการณ์ผิด เพราะทันทีที่ครม.มีมติออกมา ฐานเสียงชาวนาทั่วประเทศ ก็ร้องระงมเซ็งแซ่ คัดค้านนโยบายที่เปลี่ยนไป งานนี้ นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ที่สนับสนุนนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาตลอด สวนกลับทันควันว่า การปรับลดราคาจำนำข้าว เป็นเรื่องที่ชาวนารับไม่ได้ เพราะการกำหนดราคาข้าวเจ้า 100% ความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 12,000 บาทนั้น ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต เนื่องจากราคาที่ชาวนานำไปจำนำจริงๆ เมื่อหักความชื้นและสิ่งเจือปนแล้วจะได้ราคาเพียง 9,000 - 9,500 บาทต่อตันเท่านั้น ซ้ำยังแฉด้วยว่าโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องใช้เงินมหาศาลบานตะไท ก็เพราะทุจริตโกงกินกินทุกขั้นตอน เงินตกถึงมือชาวนาจริงๆ แล้วไม่เท่าไหร่

นายกิตติศักดิ์ วราหะ ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวนาภาคเหนือตอนล่าง ถึงกับออกมาจวกรัฐบาลกลับกลอก ตอนหาเสียงรับปากประชาชนว่ารับจำนำตันละ 15,000 บาท แต่พอได้รับการเลือกตั้งแล้วมากลับลำ รัฐบาลทำอย่างนี้ทำไม่ถูก เกษตรกรชาวนารับไม่ได้ การเลือกตั้งสมัยหน้าคงจะไม่มีใครเลือกและไม่มีใครเชื่ออีกต่อไป หากยังดื้อดึงปรับลดราคารับจำนำข้าว เกษตรกรชาวนาทั่วประเทศคงไม่ยอม และต้องออกมาเคลื่อนไหวแน่นอน

เช่นเดียวกับนายเจษฎา ตกุดเพชร นายกสมาคมชาวนาจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการลดราคารับจำนำข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำนาปีละครั้ง ผลผลิตข้าวในเขตชลประทานอยู่แค่ 380 - 500 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น 
การเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อกดดันรัฐบาล มีนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เป็นหัวหอกโดยได้เรียกถกสมาชิกในวันที่ 19 มิ.ย. และขู่ว่าหากรัฐบาลจำนำข้าวที่ 12,000 บาทต่อตัน จะชุมนุมใหญ่แน่นอน เพราะเห็นว่าการปรับราคาจำนำข้าวนาปรังปี 56 เหลือ 12,000 บาท/ตัน เป็นสิ่งที่ชาวนารับไม่ได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามนโยบายเดิม หรือหากจะปรับเปลี่ยนควรเริ่มในฤดูกาลหน้า เพื่อจะได้มีเวลาหารือและทำความเข้าใจกันกับทุกฝ่าย

คราวนี้ รัฐบาลต้องเตรียมรับศึกม็อบชาวนาที่ประกาศออกมาเคลื่อนไหวกดดันเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และสุดท้ายรัฐบาลก็โอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องเพื่อรักษาฐานมวลชน

เสียงของกลุ่มชาวนาอาจจำกัดวงเพียงแค่ต่อรองให้ได้ราคาจำนำเป็นที่น่าพอใจ แต่สำหรับอดีตรมว.คลัง อย่างนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ลุยถล่มถึงระดับให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายหันไปใช้การประกันราคาข้าวแทน และออกกฎระเบียบเอาผิดกับผู้ที่ทำให้รัฐเสียหายกันเลยทีเดียว โดยนายธีระชัย ระบุว่า การลดราคาจำนำเหลือ 12,000 บาทต่อตันนั้น ไม่ถูกต้อง หากจะเรียกว่าการจำนำ รัฐบาลต้องไม่รับจำนำข้าวเกินกว่าราคาตลาด ควรลดลงไปให้ต่ำกว่าราคาตลาดคือ ต่ำกว่า 10,000 บาท มิฉะนั้นก็จะต้องเปลี่ยนนโยบายเป็นการประกันราคาหรือการรับซื้อข้าวเข้ารัฐแทน

อดีตรมว.คลัง อธิบายภาพขบวนการจำนำข้าวในทางความเป็นจริงว่า มีการทำสัญญาให้ชาวนาเป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) แต่ก็เป็นสัญญาที่รู้กันอยู่แก่ใจ ว่าสุดท้ายก็จะไม่มีชาวนาคนใดมาชำระหนี้ ทุกคนจะใช้ทางเลือกยกข้าวให้แก่รัฐบาลทั้งนั้น โดยพฤตินัย ก็คือรัฐบาลซื้อข้าวจากชาวนานั่นเอง แต่แทนที่จะทำสัญญาซื้อแบบตรงๆ กลับเลี่ยงไปใช้สัญญาจำนำ แล้วให้ชาวนามีทางเลือก แทนที่จะชำระหนี้ สามารถยกข้าวให้แก่รัฐบาล การทำสัญญาแบบอ้อมโลกอย่างนี้ จึงเป็นช่องโหว่ให้มีการทุจริต และโรงสีสามารถกดดันเพื่อลดราคาข้าวที่เสนอแก่ชาวนาได้ง่าย จึงควรแก้ไขกติกา ห้ามมิให้รัฐบาลใดรับจำนำเกินกว่าราคาตลาด เพื่อให้เป็นการจำนำอย่างแท้จริง

“ส่วนกรณีถ้าหากรัฐบาลใด ประสงค์จะช่วยเหลือ ให้ชาวนาได้รับเงินสูงกว่าราคาตลาด หากไม่ใช้วิธีประกัน ก็ควรบังคับให้รัฐบาล ต้องรับซื้อเข้าเป็นทรัพย์สินของรัฐแบบตรงๆ รัฐบาลจะต้องออกระเบียบราชการเพื่อกำหนดขั้นตอนให้ชัดเจน ทำนองเดียวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบ จะได้มีการลงโทษได้เต็มที่ และข้าวที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ ก็จะมีการดูแลกันตามที่ระเบียบราชการกำหนด” นายธีระชัย ชี้แนะ

ข้อเสนอของนายธีระชัย จะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลหรือไม่ คงคาดการณ์ได้ไม่ยากเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขึ้นชื่อในเรื่องความดันทุรัง ประเภทไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตาอยู่แล้ว กรณีจำนำข้าวกว่าจะกลับลำลดราคาจำนำลงมาเพราะขาดทุนมหาศาล ทุจริตมโหฬาร ก็พาประเทศไปอยู่ปากเหวแล้ว และหากกระแสกดดันต่อโครงการที่อ้างว่าช่วยเหลือชาวนาใช้เงินหมดไปหลายแสนล้านไม่ถึงขีดสุด ประชาชนคนไทยก็คงยังไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริงว่าขาดทุนบักโกรกไปมากน้อยเท่าไหร่ ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศหนีไม่พ้นต้องพบจุดจบซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะที่กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์หลักมีแค่กลุ่มชาวนาที่มีฐานะปานกลางและร่ำรวย โรงสี พ่อค้าคนกลาง และคนใกล้ชิดนักการเมืองเท่านั้นที่อิ่มหมีพลีมัน

ความจริงแล้ว โครงการรับจำนำข้าวมีเรื่องฉาวโฉ่ และถูกสังคมตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงตั้งแต่เริ่มต้น แต่ด้วยความลำพองของรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงทักท้วงใดๆ กระทั่งสุดท้ายก็ต้องกลืนน้ำลายตัวเอง และยอมรับในที่สุดว่าโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 54/55 ทั้งนาปีและนาปรัง ขาดทุนประมาณ 1.36 แสนล้านบาท โดยรวมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายดำเนินการทั้งหมดแล้ว ส่วนฤดูกาลผลิตปี 55/56 ยังปิดบัญชีไม่ลง

ประเด็นนี้ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งมาตกแต่งตัวเลขตบตาประชาชน ยืนยันว่า ตัวเลขประมาณการขาดทุนข้างต้น ที่ประชุม กขช. ให้การรับรองแล้ว ส่วนสาเหตุที่ยังไม่สามารถคำนวณตัวเลขปิดบัญชีข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 55/56 ได้ เนื่องจากสต็อคยังคลาดเคลื่อนจึงให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กลับไปตรวจปริมาณสต็อคข้าวที่แน่นอน และส่งตัวเลขกลับมาให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ พิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขขาดทุนที่รัฐบาลกล่าวอ้างข้างต้น ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถลกหนังว่าเป็นความจริงเพียงแค่ครึ่ง และเป็นการใช้เทคนิคแก้ต่างให้ดูว่าขาดทุนน้อยกว่าความเป็นจริง พร้อมกับยืมดาบรองปลัดคลังฆ่าขุนพลพรรคเพื่อไทย โดยอ้างอิงตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรที่มี นางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่าแท้จริงแล้วตัวเลขการขาดทุนมหาศาลรวมๆ แล้วน่าจะพุ่งสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท หาใช่แค่ 1.36 แสนล้านบาท อย่างที่นายวราเทพ แถลงต่อสาธารณะเพื่อลดกระแสข้อสงสัย

นายอภิสิทธิ์ มองว่า การยอมรับตัวเลขขาดทุนในฤดูการผลิตข้าวนาปี 54/55 และนาปรัง ปี 55 รวมกันแล้วประมาณ 1.36 แสนล้านบาทนั้น ถือเป็นตัวเลขที่สับสนเพราะอ้างตัวเลขขาดทุนนี้รวมค่าดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้นเนื่องจากค่าดอกเบี้ยเฉพาะที่รับจำนวนในฤดูการผลิตข้าวนาปี 54/55 ก็ตกประมาณ 2 หมื่นล้านบาทแล้ว ส่วนฤดูกาลผลิต 55/56 ปรากฏตัวเลขขาดทุนตกประมาณ 84,071 ล้านบาท ดังนั้น 3 ฤดูกาลที่รัฐบาลรับจำนำไป การขาดทุนจะตกประมาณ 2.4 - 2.6 แสนล้านบาท อย่างที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้

เบื้องหลังตัวเลขการขาดทุนในฤดูกาลผลิต 55/56 ที่รัฐบาลอ้างยังปิดบัญชีไม่ลงนั้น มีคำตอบจากนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ว่าข้อถกเถียงเกี่ยวกับปริมาณข้าวนาปี ปีการผลิต 55/56 ที่ระบุมีการขาดทุนสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาทนั้น ยืนยันเป็นการคำนวณมาจากตัวเลขที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมาให้

โดยข้อมูล ณ วันที่ใช้คำนวณการปิดบัญชี วันที่ 31 ม.ค. 56 พบว่า มีข้าวเหลือเข้าสู่โครงการทั้งสิ้น 9.9 ล้านตัน มีการสั่งสีแปรสภาพเป็นข้าวสาร 1.7 ล้านตัน ทำให้มีข้อสงสัยว่า มีการประเมินการขาดทุนมากเกินไป เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่า ยังมีข้าวที่รอส่งมอบให้คลังกลางอีก 2.5 ล้านตัน ซึ่งอาจต้องนำไปคำนวณรวมกับปริมาณข้าวที่เหลืออยู่ด้วย เรื่องนี้ต้องไปตรวจสอบที่หน่วยงานดังกล่าวถึงตัวเลขที่หายไปมากกว่า เพราะทางคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ทำทุกอย่างตามที่ส่งมา

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ตัวเลขขาดทุนในฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ตกประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาทจริง ส่วนข้าวอีก 2.5 ล้านตันที่ยังคลุมเครืออยู่และไม่ได้นำมาลงบัญชีต้องไปตรวจสอบกับอคส.ที่รับผิดชอบในการสต็อกข้าว

นอกจากนั้น คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ยังได้ประมาณการผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกล่วงหน้าไปจนถึงปี 2560 หากรัฐบาลยังคงดำเนินโครงการต่อเนื่องและไม่ปรับลดราคาหรือจำกัดปริมาณ ซึ่งอาจส่งผลกระทบฐานะการคลังของประเทศหรือภาระรัฐบาลในอนาคต โดยประมาณการว่าปี 2555 ส่วนต่างราคา (รับจำนำหักราคาตลาด) จะอยู่ที่ 1.13 แสนล้านบาท ปี 2556 จำนวน 8.40 หมื่นล้านบาท, ปี 2557 จำนวน 6.79 หมื่นล้านบาท, ปี 2558 จำนวน 6.16 หมื่นล้านบาท, ปี 2559 จำนวน 6.47 หมื่นล้านบาท และปี 2560 จำนวน 6.32 หมื่นล้านบาท

ภาระการขาดทุนนี้ รัฐบาลตั้งงบประมาณชดเชยไว้แล้ว ปี 2555 จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ปี 2556 จำนวน 3.8 หมื่นล้านบาท, ปี 2557 จำนวน 8.2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นภาระทางการคลัง ปี 2555 จำนวน 9 หมื่นล้านบาท, ปี 2556 จำนวน 6.9 หมื่นล้านบาท, ปี 2557 จำนวน 1.5 พันล้านบาท, ปี 2558 จำนวน 7.7 หมื่นล้านบาท, ปี 2559 จำนวน 8.1 หมื่นล้านบาท และ ปี 2560 จำนวน 7.9 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ คาดการณ์ว่าในปี 2555-2556 รัฐบาลจะมีภาระโครงการรับจำนำข้าว หลังหักงบประมาณชดเชยแล้วประมาณ 1.59 แสนล้านบาท ปี 2557-2560 หากรัฐบาลดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยกำหนดเพดานรับจำนำไม่เกิน 15 ล้านตันต่อปี คาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนในโครงการเฉลี่ยปีละ 8 หมื่นล้านบาท
การออกมายืนยันตัวเลขขาดทุนมโหฬารเช่นนี้ จะมีรายการหลุดจากเก้าอี้ดังเสียงร่ำลือที่ว่า “เดอะโต้ง” นายกิติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง กำลังพิจารณาโยกย้ายนางสาวสุภา ออกจากตำแหน่งโทษฐานที่ไม่สนองนโยบายหรือไม่ โดยเฉพาะการโยนเผือกร้อนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไปการตรวจสอบปริมาณข้าวที่หายไปจากระบบซึ่งอ้างว่ารอส่งมอบให้คลังกลาง 2.5 ล้านตันนั้น รอส่งมอบจริงหรือหายไปไหนกันแน่

ประเด็นนี้ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงตัวเลขข้าวที่อ้างว่ามีอยู่ในสต๊อค 2.5 ล้านตันนั้น ใกล้เคียงกับข้าวถุงที่รัฐบาลมอบให้อคส. นำข้าวจากโครงการรับจำนำไปบรรจุถุงขายประชาชนในราคาถูกปริมาณ 1.8 ล้านตัน แต่จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา วุฒิสภา พบว่า มีการผลิตออกสู่ตลาดจริงเพียงแค่ 1.4 แสนตัน เท่ากับมีข้าวล่องหนไปจาก อคส.ประมาณ 1.66 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายต่อรัฐถึง 2.57 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่าข้าวที่หายไปถูกคำนวนในสต็อคข้าวนาปี 55/56 ด้วยหรือไม่ และสงสัยว่านับสต็อคซ้ำหรือทำสต็อกลมหรือไม่ เนื่องจากยิ่งพูดยิ่งมั่ว มีแผลเปิดใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ

ความไม่โปร่งใสและพิรุธในโครงการข้าวถุงนั้น คณะอนุกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่มี พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี เป็นประธาน ได้ตรวจสอบเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและเรียกหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ อคส. มาให้ข้อมูล และพบความผิดปกติหลายส่วนโดยเฉพาะปริมาณข้าวที่หายไป

โครงการข้าวถุงนั้น อคส. ได้แจ้งต่ออนุกรรมาธิการฯ ว่าได้ว่าจ้างให้ 6 บริษัทเป็นผู้ปรับปรุงและบรรจุข้าวถุง โดยให้ข้อมูลว่า ช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา มีการผลิตข้าวถุงออกขายให้แก่ประชาชนจำนวน 3 แสนตัน โดยให้ 6 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท เจียเม้ง จำกัด 2.บริษัท นครหลวงค้าข้าว 3.บริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ 4.บริษัทพงษ์ลาภ 5.บริษัท สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น และ 6.บริษัท โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ปรับปรุงในปริมาณที่เท่ากันรายละ 5 หมื่นตัน ส่วนเดือนก.พ. ที่ผ่านมา มีเพียง 2 บริษัทที่เข้าร่วมปรับปรุงข้าว คือ บริษัทโรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ และ บริษัท สิงห์โตทองไรซ์ ส่วนเดือนมี.ค.-มิ.ย. ก็มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น ที่ปรับปรุงข้าวถุงที่เหลือทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่ได้สอบย้อนไปยังโครงการข้าวถุงเมื่อปี 2555 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7 แสนตัน หากรวมกับโครงการข้าวถุงปีนี้อีก 1.8 ล้านตัน เท่ากับว่ารัฐบาลนี้มีการผลิตข้าวถุงถึง 2.5 ล้านตัน ในส่วนนี้จากการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่อคส.ยืนยันว่าสามารถผลิตข้าวถุงราคาถูกขายประชาชนไปแล้วจำนวน 1.1 ล้านตัน ซึ่งอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่าหากมีการผลิตข้าวถุงจำนวนดังกล่าว ประชาชนก็น่าจะได้บริโภคข้าวราคาถูกทั่วประเทศ แต่จากการตรวจสอบในหลายจังหวัดแทบจะไม่พบเห็นโครงการข้าวถุงของ อคส.อย่างที่มีการกล่าวอ้าง

นอกจากนั้น อนุกรรมาธิการฯ ได้เรียก 3 บริษัท ที่ อคส. ว่า ได้ให้เป็นผู้กระจายสินค้าไปตามร้านค้าต่างๆ เพื่อขายข้าวราคาถูกให้ประชาชน โดยทั้ง 3 บริษัท ยอมรับเป็นผู้กระจายสินค้าจริง แต่มีการรับข้าวถุงออกไปเพียง 4 แสนตัน ดังนั้นข้าวส่วนเกินอีก 7 แสนตัน หายไปไหน หากมีการนำไปขายในตลาดตามราคาที่ อคส. ซื้อจากรัฐบาลคือตันละ 7,625 บาท เท่ากับเงินส่วนนี้จะหายไปประมาณ 5.3 พันล้านบาท อนุกรรมาธิการฯ จึงข้องใจว่าข้าวส่วนที่หายไป หายไปไหน หากมีการนำไปขายราคาถูกก็จะเกิดส่วนต่างที่นำไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท

นี่คือข้อมูลส่อทุจริตที่คณะกรรมาธิการฯ อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมอีกบางส่วน และจะสรุปเรื่องทั้งหมดเพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เพราะข้อมูลที่ได้เชื่อว่ามีกระบวนการที่ไม่โปร่งใส

“เรื่องนี้ต้องสอบถามที่กระทรวงพาณิชย์เพราะเป็นการรั่วไหลในระหว่างปฏิบัติ” นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามกรณีข้าวสารในโครงการข้าวถุงราคาถูกที่มีการหายไปจากสต็อกของรัฐบาลแต่เพียงสั้นๆ

ไม่ใช่แค่ตัวเลขขาดทุนที่เป็นหายนะของประเทศรออยู่เบื้องหน้า กระบวนการทุจริตทุกขั้นตอนในโครงการรับจำนำ ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลถูกโจมตีไม่เว้นแต่ละวันเพราะเรื่องนี้มีการเตือนกันไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเฉพาะหน่วยงานปราบโกง คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงกับส่งหนังสือเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่าโครงการรับจำนำข้าวจะก่อให้เกิดการทุจริตทั้งในเชิงนโยบาย ขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินโครงการอย่างไร และมีข้อเสนอด้วยว่ารัฐบาลจะต้องทำอย่างไรเพื่อป้องกันการทุจริต ทั้งการกำหนดราคาข้าวที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต การขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกรเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ ประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจริง

โดยเฉพาะขั้นตอนสำคัญ คือ การระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล ป.ป.ช.แนะนำว่าเพื่อมิให้ข้าวที่ได้มาจากการดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือกปี 54/55 ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลเนื่องมาจากการเก็บรักษาข้าวเป็นเวลานานส่งผลให้ข้าวเกิดความเสียหาย เสื่อมคุณภาพและเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงสมควรมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนการบริหารจัดการการระบายข้าวที่เก็บรักษาไว้ในโกดังกลางเป็นระบบการปิดบัญชีโครงการ พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการหรือที่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวได้ กขช.พิจารณาโดยเร็วและต่อเนื่อง และ หลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดการดำเนินการระบาย หรือจำหน่ายข้าวที่อยู่ในคลังหรือโกดังกลาง ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของอคส. หรืออตก. ให้ประกาศโดยเปิดเผยทราบแก่บุคคลทั่วไป และดำเนินการด้วยความโปร่งใส

แต่รัฐบาลก็ทำหูทวนลม ซ้ำ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกดึงมาดูแลเรื่องข้าวด้วยนั้น ยังเย้ยหยันว่า คำแนะนำของป.ป.ช. เป็นเพียงข้อเสนอแนะ ไม่มีกฎหมายใดบังคับให้รัฐบาลต้องทำตาม

เมื่อรัฐบาลไม่เคยคิดจะทำตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. ที่ให้ดำเนินงานโครงการนี้อย่างรัดกุม โปร่งใส ในเวลาต่อมา จึงเกิดข่าวฉาว “ข้าวเน่า” เหม็นคลุ้งในจุดที่ตั้งคลังสินค้าของ อคส. ที่อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ให้ชาวบ้านแถวนั้นได้สูดดมในเวลาเกิดฝนตกหนัก ความชื้นสูง กลิ่นเหม็นหืนของแป้งข้าวสารเน่าจากการถูกแมงมอดชอนไชโชยออกมาจากฟ้องสาธารณะ จนทำเอา “อำมาตย์เต้น” นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.กระทรวงพาณิชย์ รีบออกมาปฏิเสธพัลวัล ปัดป้องว่าไม่เป็นความจริง ก่อนที่ภาพตัวมอดกัดกินข้าวจนเป็นผุยผง จะปรากฏต่อสาธารณชนเมื่อคณะอนุกรรมาธิการเกษตรฯ วุฒิสภา บุกเข้าตรวจสอบโกดังข้าวดังกล่าว

ศึกข้าวเน่า ขาดทุนเจ๊งยับ ฉาวโฉ่ด้วยเรื่องทุจริตรอบนี้ไม่มีช็อตไหนจะดราม่าเท่ากับการออกมาขู่จะจัดการทุจริตในโครงการจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี "อย่าให้พบว่าเจ้าหน้าที่ของเราเป็นใจ หรือเป็นหูเป็นตา ให้เกิดช่องการทุจริตคอรัปชั่น ถ้าพบจะต้องดำเนินการลงโทษทางวินัย พร้อมดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง และต้องจ่ายค่าปรับต่างๆ ด้วย" เสียงปรามทุจริตจำนำข้าวของนายกรัฐมนตรี ในโอกาสประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ฟังดูแล้วเป็นเรื่องชวนขำเสียมากกว่าเพราะถ้ารัฐบาลจัดการทุจริตจำนำข้าวอย่างจริงจังดังว่า คงไม่มีปัญหาเหมือนเช่นทุกวันนี้
 
(เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2556)
กำลังโหลดความคิดเห็น