ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - แม่ทัพภาค 3 ระบุยาบ้ากว่า 100 ล้านเม็ด อยู่ในจุดพักยารอหาทางขนย้ายเข้าฝั่งไทย แต่ทุกหน่วยงานไม่ประมาทเตรียมพร้อมสกัดกั้นเต็มกำลัง แจงชายแดนสกัดก่อนเป็นด่านแรกพร้อมมีหน่วยงานพื้นที่ภายในรอเป็นด่านสอง ชี้อาวุธ-สารตั้งต้นที่พ่อค้ายาใช้ไม่ได้มาจากฝั่งไทย ชี้หน้าฝนแก๊งค้ายาหันใช้เส้นทางลำบากลำเลียงของแต่เจ้าหน้าที่เร่งหาข่าวเตรียมรับมือแล้ว
วันนี้ (21 พ.ค.) ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินสกัดกั้นยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศพส.ชน.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินสกัดกั้นยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ประจำปี 2556 โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ 130 หน่วยงาน จำนวน 150 คนเข้าร่วม
การประชุมในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานในรอบ 7 เดือน ใน 7 แผนงาน ตามแผนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนปี 2556 ให้คณะกรรมการ ศพส.ชน. ได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการ ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอปัญหา ข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะ
ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้คณะกรรมการได้พิจารณา รวมทั้งเพื่อเร่งรัดการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานให้สอดคล้องต่อคำสั่ง ศพส.ที่ 9/2556 เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ปี 2556 (เม.ย.-ก.ย. 2556) ให้มีประสิทธิภาพ และเกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้เป้าหมายที่ต้องการจะลดการนำเข้ายาเสพติด และลดระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือลงให้ได้
พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะประธานกรรมการ ศพส.ชน. กล่าวถึงสถานการณ์ยาเสพติดของภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในช่วง 7 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.2555-เม.ย.2556 ว่า มียาเสพติดจำนวนมากที่รวบรวมไว้ในแหล่งพักคอยเพื่อรอหาทางนำเข้ามาในประเทศ โดยจากข้อมูลการข่าวทราบว่ามีประมาณ 100 ล้านเม็ดขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ศพส.ชน.ได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ตามแนวชายแดน กับพื้นที่ภายใน
ในส่วนของพื้นที่ตามแนวชายแดน จะมีกองกำลังทหาร และตำรวจที่ประจำการตามแนวชายแดนทำหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อป้องกันและทำการปราบปราม โดยเฉพาะจุดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งที่ผ่านมา มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกัน และเสริมประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การดำเนินการวางลวดหีบเพลงแถบหนามตามแนวชายแดนที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งมีการวางไปแล้วกว่า 3,000 ขด และจะดำเนินการต่อในปีนี้ การติดตั้งกล้อง CCTV ตามจุดตรวจ และช่องทางสำคัญ รวมถึงการติดตั้งเครื่องมือพิเศษที่คาดว่าจะเข้ามาติดตั้งในพื้นที่เร็วๆ นี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้การป้องกันตามแนวชายแดนกว่า 600 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะที่พื้นที่ภายใน จะมีหน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเช่นเดียวกัน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และปรับแผนการทำงาน หรือเพิ่มมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประสานไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อความร่วมมือในการร่วมกันดูแลปัญหายาเสพติด โดยปัจจุบัน ได้มีการจัดทำโครงการหมู่บ้านคู่ขนานตามแนวชายแดนไทย-พม่า และแนวชายแดนไทย-สปป.ลาว ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก รวมกว่า 60 หมู่บ้าน เพื่อร่วมกันป้องกันไม่ให้ยาเสพติดแพร่ระบาดในพื้นที่
พล.ท.ปรีชา กล่าวต่อไปว่า จากผลการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดโดยใช้เส้นทางตามลำน้ำโขงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดไม่สามารถลำเลียงยาเสพติดผ่านทางเส้นทางเดิมได้ อย่างไรก็ตาม ศพส.ชน.มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลในจุดดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ยังมีการปฏิบัติการตามแผนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจีน และ สปป.ลาว ในการจัดชุดตรวจตามลำน้ำโขงร่วมกันอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงที่ผ่านมามีการปะทะกับกองกำลังติดอาวุธมากขึ้น ซึ่งกองกำลังติดอาวุธดังกล่าวจะทำหน้าที่คุ้มกันขบวนลำเลียงยาเสพติด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบไม่พบว่าอาวุธที่ขบวนการนำมาใช้มีการลำเลียงจากฝั่งไทยออกไป แต่น่าจะเป็นการจัดหาของขบวนการผ่านช่องทางอื่น
ส่วนกรณีของสารตั้งต้นอย่างซูโดอีเฟรดีน จากการที่สารดังกล่าวเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทย และมีการจับกุมปราบปรามอย่างต่อเนื่อง จึงไม่พบว่ามีสารตั้งต้นออกไปจากฝั่งไทยแล้ว แต่เนื่องจากในหลายประเทศสารดังกล่าวยังไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย จึงอาจมีการจัดหาจากประเทศอื่นๆ เพราะประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดนั้นสามารถติดต่อกับประเทศอื่นๆ ได้หลายช่องทาง
สำหรับกรณีที่พบว่ามียาเสพติดชนิดใหม่เริ่มแพร่หลายในท้องตลาดนั้น พล.ท.ปรีชา กล่าวว่า ยาเสพติดดังกล่าวไม่ใช่ยาชนิดใหม่ แต่พบว่าในระยะหลังกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดหลายกลุ่มเริ่มหันมาเป็นผู้ผลิตยาเสพติด และจำหน่ายเอง แทนที่จะเป็นผู้จัดส่ง เนื่องจากเห็นว่าการค้ายาเสพติดสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก จึงเกิดการผลิตยาเสพติดและติดตราของกลุ่มต่างๆ ก่อนจะนำมาจำหน่าย
ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่า ในช่วงฤดูฝนมีแนวโน้มที่ยาเสพติดจำนวนมากจะทะลักเข้ามาในประเทศ โดยจากสถิติพบว่า กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดจะปรับเปลี่ยนวิธีการโดยหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางปกติที่เคยใช้ในการขนยาเสพติด และหาช่องทางที่ยากลำบากกว่าเดิม ในการลำเลียงยาเสพติดเพื่อหลบหนีการตรวจพบของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็มีการหาข่าว และติดตามเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ผลดีมากน้อยเพียงใด