เพชรบุรี - สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากประชาชน ในเรื่องของผลกระทบ และร่วมกันพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน จากเดิมที่ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เพชรบุรีเป็นจังหวัดท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน
วันนี้ (19 ก.พ.) ที่ห้องนพรัตน์ โรงแรมรอยัล ไดมอน อ.เมือง จ.เพชรบุรี นายมณเฑียร ทองนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และ ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน เพื่อนำเสนอสาระสำคัญ แนวเส้นทางคัดเลือก และประโยชน์จากการพัฒนาโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และเพชรบุรี เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน
ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เผยว่า รัฐบาลได้เร่งรัดพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางขนส่งผู้โดยสาร และส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพัฒนารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน และส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ สุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้ง 4 สายสูงที่สุดถึง 4.81 แสนล้านบาท เปิดใช้บริการได้ภายในปี 2561 และได้มอบหมายให้ สนข.ดำเนินการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน
ในการประชุมได้นำเสนอประโยชน์ และความสำคัญของรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่สามารถวิ่งความเร็วเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 250 กม./ชม. ระยะทางจากกรุงเทพฯ-หัวหิน รวม 225 กม. ที่เคยใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน จะยกระดับการเดินทางให้รวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวภาคใต้ตอนบนให้เติบโต โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรีจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ นำไปสู่การสร้างอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวเมืองเพชร อันจะเอื้อให้เกิดการพัฒนาเมือง และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
“ตอนนี้กำลังศึกษาออกแบบความเป็นไปได้ โดยแรกๆ จะพยายามเลือกเส้นทางก่อนจากกรุงเทพฯ-หัวหิน มันมีทางเลือกอยู่ ซึ่งที่ปรึกษาเขาเสนอมามี 4 ทางเลือก ทางเลือกหลักๆ ที่จะใช้เลือกคือ ใช้รถไฟสายใต้เส้นใน อีกทางเลือกหนึ่งคือ ใช้เส้นทางนครปฐมผ่านราชบุรีมาเพชรบุรี
ส่วนอีก 3 ทางที่เหลือคือ ทางผ่านมหาชัย สมุทรสงคราม แต่ตรงนี้ต้องเอาไปดูแต่เราก็จะพยายามดูเส้นทางซึ่งสร้างได้เร็ว และส่งผลกระทบต่อประชาชนได้น้อย เพราะบางทางเลือกจะต้องทำแนวเส้นทางใหม่ จริงๆ แล้วมันก็ทำให้ทางสั้นลงแต่เรากลัวว่าในที่สุดแล้วจะต้องไปเวนคืนอาจจะต้องไปเสียเวลา ตอนนี้จึงยังดูเรื่องแนวเส้นทางอยู่ และเมื่อได้แนวเส้นทางแล้วเราก็จะไปดูว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจริงจะขนาดไหน
ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าไว้ว่าประมาณปลายปี 2561 น่าจะได้ใช้ แต่ก่อนน่านั้นก็จะมีการทดลองวิ่งให้เห็นเพราะในเส้นทางนี้เป็นเส้นทางไม่ไกลมากนักประมาณ 200 กิโลเมตรเศษ เส้นทางยาวสุดประมาณ 225 กิโลเมตร แต่สั้นสุดประมาณ 190 กิโลเมตร เพราะฉะนั้น ในระยะเวลาขนาดนี้ประมาณ 4-5 ปีก็น่าจะแล้วเสร็จ”