xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีสาธารณะที่อุดรฯ ร่วมวางแผนโครงการรถไฟความเร็วสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - กระทรวงคมนาคม เปิดเวทีสาธารณะกระตุ้นชาวอุดรธานี เข้ามามีส่วนร่วมวางแผนโครงการรถไฟความเร็วสูงมาอีสาน พื้นที่ย่อยที่ 4 ช่วงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น-อุดรธานี-สถานีหนองคาย

วันนี้ (7 ก.พ.) ณ ห้องประชุมประจักษ์ตราเฟิร์สคลาส โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล จ.อุดรธานี นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 ในโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยมีผู้มีส่วนได้เสียจากทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียงร่วมรับฟัง

นางชนินนาถ เก้าสำราญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมขนส่งทางบก กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ประตูแห่งอีสาน และยังเป็นการเชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตอีกด้วย ดังนั้น หากมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในพื้นที่นี้ก็จะสามารถเดินทางไปยังกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้สะดวกยิ่งขึ้น

“ศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงนั้น จะเป็นระบบที่ทันสมัย รวดเร็ว สะดวก ตรงเวลา มีความปลอดภัยสูง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง รวมถึงช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน กระตุ้นการท่องเที่ยว”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารถไฟความเร็วสูงจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น แต่การจะทำให้โครงการมีความรอบคอบ สมบูรณ์ จึงต้องรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงใยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด

นางชนินนาถกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้จัดการประชุมรับฟังความเห็นขึ้นที่จังหวัดนครนายก สระบุรี และนครราชสีมา ในครั้งนี้จึงจัดขึ้นที่อุดรธานี โดยมีประชาชนจากจังหวัดขอนแก่น และหนองคายมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย

ในขั้นตอนต่อไปจะมีการประชุมย่อยเพื่อดำเนินการตามกระบวนการการรับฟังความเห็นของประชาชน และประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น