xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ปรับตัวชี้วัดใหม่ หวั่นโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านพลาดเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” ปรับเป้าตัวชี้วัด ประเมินความสำเร็จโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับแผนลงทุนตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน เชื่อเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางและน้ำเพิ่มอีก 2% ใน 2 ปี จาก 17.19% เป็น19.19% ส่วนขนส่งทางถนนเน้นลดอุบัติเหตุ ส่วนทางอากาศเพิ่มผู้โดยสาร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมตัวชี้วัดร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ว่า เนื่องจากกระทรวงคมนาคมจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จึงต้องปรับตัวชี้วัดเพื่อประเมินความสำเร็จโครงการที่ได้ลงทุนว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการลงทุนด้วย โดยเป้าหมายการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าทางรางและทางน้ำของประเทศไทยจะปรับค่ากลางของตัวชี้วัดเพิ่มขึ้น 1% ทุกปีเป็นทุก 3 ปีแทน เนื่องจากการพัฒนาระบบรางและน้ำต้องใช้เวลาในการดำเนินงานนานจึงจะเห็นผล โดยปัจจุบันสัดส่วนการขนส่งทางรางและทางน้ำรวมกันของประเทศไทยอยู่ที่ 17.19% ซึ่งจะใช้เป็นค่ากลางดัชนีชี้วัดในปี 2556-2558 ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนการขนส่งรวมกันประมาณ 40%

“จำเป็นต้องคงค่ากลางตัวชี้วัดของขนส่งทางรางและทางน้ำไว้ 3 ปีจึงจะปรับขึ้น 1% คือจาก 17.19% เป็น 18.19% เพื่อให้สอดคล้องกับแผนลงทุน ซึ่งคาดว่าหากลงทุนตามแผนแล้วใน 3 ปีนี้สัดส่วนการขนส่งทางรางและทางน้ำรวมกันจะเพิ่มขึ้นในระดับ 2% โดยปัจจุบันต้นทุนการขนส่งสินค้าทางถนนอยู่ที่ 1.72 บาท/ตัน-กม. ทางราง 0.93 บาท/ตัน-กม. และทางน้ำ 0.64 บาท/ตัน-กม.” นายชัชชาติกล่าว

ส่วนโครงการรถไฟฟ้านั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะมีตัวชี้วัด 2 ส่วน คือ วัดความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการหากเป็นไปตามแผน 100% จะได้ 3 คะแนน และวัดจากความพึงพอใจและเชื่อมั่นต่อโครงการของประชาชน

ขณะที่ตัวชี้วัดของหน่วยงานอื่นๆ จะวัดปีต่อปี เช่น กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) นั้นจะวัดจากจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วัดจากจำนวนอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ กรมเจ้าท่า (จท.) วัดจากจำนวนอุบัติเหตุของเรือโดยสารสาธารณะ กรมการบินพลเรือน (บพ.) วัดจากจำนวนอุบัติเหตุเครื่องบินเชิงพาณิชย์ ส่วนท่าอากาศยานวัดจากปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเลือกท่าอากาศยานตัวอย่าง 3 แห่ง คือ อุดรธานี เชียงใหม่ และกระบี่ ตั้งค่าผู้โดยสารเท่าเดิมได้ 3 คะแนน เพิ่มขึ้น 7.5% ได้ 4 คะแนน และเพิ่มขึ้น 15% ได้ 5 คะแนน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น