xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เปิดเวทีรับฟังความเห็นคน 5 จังหวัดเหนือตอนล่าง เดินเครื่องรถไฟความเร็วสูง กทม.-พิษณุโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - สนข.เปิดเวทีระดมสมองออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ ระบุสถานีพิษณุโลกใหญ่รอง กทม. เอื้อศูนย์กลางสี่แยกอินโดจีน มั่นใจเป็นแม่เหล็กดูดนักลงทุนเพียบ

วันนี้( 21 ม.ค.) นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่โรงแรมเรือนแพรอยัลพาร์ค จ.พิษณุโลก เพื่อแนะนำโครงการ ชี้แจงรายละเอียด รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานราชการ กลุ่มผู้นำทางความคิด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชนใน จ.ลพบุรี จ.ชัยนาท จ.นครสวรรค์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก ที่เข้าร่วมกว่า 300 คน ก่อนที่ สนข.จะได้นำข้อเสนอแนะมาประกอบการตัดสินใจก่อสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายจุฬากล่าวว่า รัฐบาลเร่งพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและการขนส่งให้เชื่อมโยงโครงข่ายภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดไว้ 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน และส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตเรลลิงก์สุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา ดำเนินงานโดยกระทรวงคมนาคม และมอบหมายให้ สนข. ศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 1 ในเส้นทางเร่งด่วน เป้าหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง การขนส่งสินค้าที่ประหยัด รวดเร็ว ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

“การระดมความคิดเห็นวันนี้เพื่อรับทราบความต้องการของประชาชน เพราะพิษณุโลกถือว่าเป็นเป้าหมายของการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง เป็นจุดดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ เป็นสถานีใหญ่รองจากกรุงเทพมหานคร นับเป็นเป้าหมายของการขยายตัวของเมืองในอนาคต ตอบสนองนโยบายทำให้พิษณุโลกเป็นเมืองบริการศูนย์กลางสี่แยกอินโดจีน”

นายจุฬากล่าวว่า เรื่องวิศวกรรมการออกแบบไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเลือกจุดที่ตั้งสถานีรถไฟต้องคำนึงถึงหลายเรื่อง เพราะรถไฟความเร็วสูงเป็นการบริการที่ใช้ความรวดเร็ว ระบบการจราจรเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่เส้นทางรถไฟจะต้องสร้างเพิ่มบนแนวเส้นทางเดิมที่ได้กันไว้แล้วสองข้างทาง 80 เมตร แต่อาจต้องเวนคืนพื้นที่สร้างรั้วกั้นแนวรถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะ บางจุดอาจต้องสร้างสะพานยกระดับ ทางลอดลงอุโมงค์ใต้ติด ซึ่งเป็นรายละเอียดระยะต่อไป ขณะที่ความเร็วของรถไฟความเร็วสูงกำหนดไว้ที่ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นายสาธิต มาลัยธรรม รองผู้จัดการโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก กล่าวว่า สนข.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมโครงการ 3 สายทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-หัวหิน ล่าสุดได้กำหนดแนวเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้เขตทางรถไฟเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดินให้น้อยที่สุด รวมทั้งหาพื้นที่โดยรอบสถานีให้เพียงพอต่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ นำรายได้มาหล่อเลี้ยงกิจการเดินรถไฟ เหมือนกับรูปแบบในประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

“ทางคณะได้ศึกษารูปแบบจากหลายประเทศ ต้นแบบมาจากญี่ปุ่น ซึ่งใช้รถไฟความเร็วสูงมา 50-60 ปีแล้ว จากนั้นได้ศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ เกาหลี และจีน โดยประเทศจีนเริ่มมีรถไฟความเร็วสูงใช้เมื่อ 10 ปีนี้เอง ซึ่งในเชิงพาณิชย์รถไฟความเร็วสูงจะต้องวิ่งด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะคู่แข่งของรถไฟความเร็วสูงคือเครื่องบิน โดยเฉพาะเครื่องบินโลว์คอสต์ ซึ่งเส้นทางที่มีความยาว 600 กิโลเมตร รถไฟความเร็วสูงยังมีศักยภาพในการแข่งขันได้ แต่หากเกินกว่า 600 กิโลเมตรเครื่องบินยังได้เปรียบอยู่”

นายจุฬากล่าวว่า สำหรับอัตราค่าโดยสารจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ประเมินไว้เบื้องต้น 1,000-1,200 บาทต่อคน เมื่อเทียบค่าโดยสารเครื่องบินจะอยู่ที่ 2,000 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อัตราค่าโดยสารรถไฟ 1,700-2,100 บาท เครื่องบินอยู่ที่ 2,200-3,000 บาท ซึ่งถูกเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับเครื่องบิน ขณะที่ใช้เวลาถึงที่หมาย จ.พิษณุโลกประมาณ 2 ชั่วโมง หรือเชียงใหม่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น”

“สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่จะใช้แนวรถไฟสายเหนือ แต่จะสร้างช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกก่อน ระยะทางประมาณ 382 กิโลเมตร เนื่องจากช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่จะผ่านภูเขาและคดเคี้ยว ต้องเจาะอุโมงค์เพื่อให้เส้นทางตรง จำเป็นต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเม็ดเงินที่จะนำมาลงทุนอยู่ในแผนการลงทุนของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท จึงไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งเงิน ซึ่งในกรอบวงเงินเดิมที่เคยประเมินไว้โดยรวมทั้ง 4 สาย ในเฟสแรกประมาณ 372,271 ล้านบาท แยกเป็นสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 121,014 ล้านบาท สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 96,826 ล้านบาท สายกรุงเทพฯ-หัวหิน 82,166 ล้านบาท และสายกรุงเทพฯ-ระยอง 72,265 ล้านบาท”

ดร.ดุษฎี สถิรเศรษฐทวี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จ.พิษณุโลกต้องการเป็นเมืองศูนย์กลางสี่แยกอินโดจีน รถไฟความเร็วสูงจะส่งผลให้พิษณุโลกเป็นฮับในภูมิภาคนี้ เป็นฮับในการกระจายการเจริญเติบโตสู่เมืองข้างเคียง นับเป็นโอกาสสำคัญของจังหวัด เพราะนอกจากความเจริญการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ด้านสังคมน่าจะดีขึ้นเพราะการเดินทางที่สะดวก คนทำงานกลับบ้านบ่อย ก็ทำให้เกิดความใกล้ชิดของคนในครอบครัวมีมากขึ้น ส่วนด้านการขนส่งสินค้าจะสามารถใช้ขนส่งสินค้าเบา มีมูลค่าสูง และต้องการความรวดเร็วในการขนส่งมากกว่า

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนชาวพิษณุโลกสนับสนุนให้รถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ก็อยากฝากถึงรัฐบาลพิจารณาเรื่องผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินด้วย ให้ถือว่าผู้ถูกเวนคืนคือผู้เสียสละ ควรได้รับค่าเวนคืนที่เหมาะสม อยากให้พิจารณาให้คนจน คนด้อยโอกาส ได้มีโอกาสใช้รถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่สร้างเพื่อคนมีฐานะทางการเงินสูงเท่านั้น ควรพิจารณาอัตราค่าโดยสารไม่สูงเกินไป และฝากเรื่องการแก้ไขระบบขนส่งมวลชน และนโยบายนอกเหนือ คือเส้นทางจากภาคเหนือสู่ภาคอีสานด้วย

อย่างไรก็ตาม การระดมความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งจากนี้ไประยะเวลา 14 เดือนจะทำการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2556 ใช้เวลาก่อสร้างอีก 50 เดือน หากเป็นไปตามแผนคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงได้ปลายปี 2561

กำลังโหลดความคิดเห็น