xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.คม.ถกปัญหารถคันแรกทำรถติด ชี้ถนนไม่พอ ตร.แย้งแค่ปลายเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
ปธ.กมธ.คมนาคม เชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหาจากนโยบายรถคันแรก สนย.รับการขนส่งมวลชนไม่พอ เล็งอนุมัติสร้างเพิ่ม ผอ.ขนส่ง แนะปรับสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะ สนข.เร่งคุย คค.แก้สภาพคอขวด ฝ่าย ตร.จราจร ชู “เป็ดเหลิม” ค่อยแก้ แจงเดินทางเฉพาะช่วงเวลาไร้วินัย ทำรถติด รถออกใหม่ปลายเหตุ ถนนสร้างพอปัญหาจบ อ.วิศวะจุฬาฯ ติงข้อมูลของหน่วยงานไร้ความน่าเชื่อถือ กมธ.แนะ กทม.ใช้เครื่องมือในมือแก้ปัญหา ให้ ปชช.รู้พื้นที่รถติดล่วงหน้า “เจือ” ย้ำขอแก้ปัญหาแบบยั่งยืน และดูความเหมาะสม

วันนี้ (17 ม.ค.) คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ เรียกประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่เกิดจากผลกระทบจากนโยบายรถคันแรกตามนโยบายของรัฐบาล โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือและชี้แจงแนวทางและมาตรการรองรับ โดยมีตัวแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนขนส่งและจราจร ตัวแทนผู้บังคับการตำรวจจราจร ตัวแทนผู้อำนวยการกรมการขนส่งทางบก ปลัดกรุงเทพมหานคร ตัวแทนสำนักการจราจรและขนส่ง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา รองศาสตราจารย์เกษม ชูจารุกุล คณะวิศวะกรรมโยธา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

โดยผู้อำนวยการสำนักการโยธาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการว่า ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมดมีพื้นที่ที่เป็นพื้นผิวถนนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดทำให้รถเคลื่อนตัวได้เพียง 6-10 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น โดยปัญหาหนักจะอยู่ในพื้นที่เมือง เช่น สาทร สีลม โดยสาเหตุหลักในการเกิดปัญหาการจราจรคือการขนส่งมวลชนยังไม่เพียงพอ พื้นที่ถนนไม่เพียงพอ การบริหารจัดการบนถนนยังไม่ดีพอ แนวทางการแก้ไขที่วางไว้คือจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย สร้างทางลอด ลดจุดตัดบนถนนลง จะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 4 แห่ง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบและนำเข้าสู่การอนุมัติเห็นชอบต่อไป เพิ่มการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน และจะมีการจัดการระบบบริหารจัดการการจราจรแบบก้าวหน้า มีการติดตั้งป้ายจราจรอัจฉริยะเพิ่มเติม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของกฎและวินัยจราจร

ด้านผู้อำนวยการสำนักการขนส่ง ชี้แจงแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดด้วยระบบขนส่งมวลชนทั้งทางบก และทางเรือ แนวทางต่อไปคือการแก้ปัญหาในเรื่องของการปรับสัญญาณไฟจราจรเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณรถในแต่ละแยก

ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักงานและแผนการขนส่งจราจร ชี้แจงแนวทางการแก้ไขการจัดระบบการขนส่งมวลชนว่า ได้ประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อให้แจ้งว่ามีการจราจรที่มีปัญหาในกรุงเทพมหานคร มี 257 จุด และมีปัญหาบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำ ซึ่งมีการเตรียมการจัดทำแผนแม่บทแก้ปัญหาจุดวิกฤตที่เป็นสภาพคอขวด โดยพยายามเร่งดำเนินการเพื่อนำข้อมูลการศึกษาปัญหาทั้งหมดเข้ามาสู่ที่ประชุมกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมกันหาทางออกต่อไป

ด้านตัวแทนผู้บังคับการตำรวจจราจรระบุว่า รัฐบาลได้มีคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากการตรวจสอบหาสาเหตุปัญหาเกิดจากความต้องการการเดินทางเฉพาะช่วงเวลา ลักษณะทางกายภาพของถนนโดยเฉพาะเรื่องของจุดเลี้ยวจุดกลับรถ ปัญหาเรื่องการกดไฟที่ยังมีปัญหาไม่สัมพันธ์กันกับปริมาณรถ เส้นทางหลักที่มีปัญหาคอขวดขณะนี้มีอยู่ 83 จุด จุดกลับรถ 41 จุด ภาพรวมของปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการวางผังเมือง และปัญหาที่เกิดจากเรื่องการขาดวินัยจราจร การขาดช่องทางเลือกในการเดินทางของประชาชน การขาดความเอาใจใส่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการเพิ่มของปริมาณรถถือว่าเป็นปัญหาปลายทาง ซึ่งหากระบบขนส่งมวลชนซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชนมีประสิทธิภาพที่ดีพอก็จะลดปัญหาการจราจรติดขัดลงได้ นอกจากนี้ยังต้องมีการแก้ไขปัญหาการติดขัดด้วยการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการและความต้องการของประชาชน

ขณะที่ รศ.เกษมเสนอความเห็นในมุมมองเชิงวิชาการว่า ปัญหาการจราจรต้องแบ่งออกเป็นหลายกรณี เช่น การติดขัดที่เกิดจากการก่อสร้าง การเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นอาจต้องมีการเปลี่ยนเวลาเดินทาง เปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนวิธีการเดินทาง แต่สิ่งเหล่านี้จะทำได้ต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีออกมารองรับ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีพอ การแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการจราจรอย่างยั่งยืนยังขาดในเรื่องของการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจมีความผิดพลาดในเรื่องของข้อมูลที่ยังไม่มีความน่าเชื่อถือ

ส่วน พ.อ.วินัย สมพงษ์ คณะกรรมาธิการเสนอข้อคิดเห็นว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เกิดปัญหาการจราจรติดขัดเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในกรุงเทพมหานครมีปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะที่พื้นผิวการจราจรมีน้อยกว่ามาตรฐาน และยังมีปัญหาในเรื่องของระบบขนส่งมวลชนที่ยังมีไม่เพียงพอ แม้ที่ผ่านมาจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ แต่หน่วยงานหลักที่ควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพราะกรุงเทพมหานครมี CCTV อยู่ในมือ จึงควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของสถานการณ์ปัจจุบันว่าเกิดปัญหาตรงจุดไหน และสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะเชื่อว่าหากประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างทันท่วงทีก็จะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปยังบริเวณดังกล่าว ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้

ขณะที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นผู้ยื่นญัตติขอให้ร่วมกันหารือแก้ปัญหาการจราจรติดขัด เพราะเห็นว่าขณะนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ส่วนหนึ่งเกิดจากการก่อสร้างและเกิดจากนโยบายรถยนต์คันแรก พร้อมแสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำป้ายการจราจรบอกถึงสภาพความหนาแน่นของการจราจร เพื่อให้ประชาชนทราบล่วงหน้าและสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางได้ทันที ซึ่งขณะนี้มีระบบการจราจรอัจฉริยะ หรือ IPS เข้ามาช่วย อีกทั้งต้องมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อน

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าทางคณะกรรมาธิการจะเชิญผู้ว่าการทางพิเศษเข้าร่วมประชุมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง

นายเจือ ประธานคณะกรรมาธิการเห็นว่า อยากให้ สนข.เข้ามาบริหารจัดการอย่างชัดเจนแต่วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการรับผิดชอบและต้องการเห็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่เป็นรูปธรรม ซึ่งวันนี้มาตรการที่ออกมาเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งในวันนี้เป็นห่วงอยู่ 2 ส่วน คือ จำนวนรถเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้นการบริหารจัดการก็คงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถ และหากต้องการแก้ไขปัญหาโดยนำวิธีการของต่างประเทศมาใช้นั้นต้องดูในเรื่องของความเหมาะสมและความเป็นไปได้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น