ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เปิดวงเสวนา “รถติดจังฮู้ ภูเก็ตทำพรือ” ระดมสมองหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และนักวิชาการหาทางออกแก้ปัญหาจราจรติดขัดที่นับวันเพิ่มมากขึ้น ด้านกรมทางหลวงจัดทำแผนแม่บทโครงข่ายถนนในภูเก็ต และคมนาคม ใช้งบ 3 หมื่นล้าน ทั้งตัดถนน ทำทางลอด ทางยกระดับ คาดได้งบทำตามแผน จราจรภูเก็ตคล่องตัวแน่นอน
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่โรงแรมเพิร์ลภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการเสวนา เรื่อง “รถติดจังฮู้ ภูเก็ตทำพรือ” ซึ่งทางสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ปัญหารถติดในจังหวัดภูเก็ต ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูเก็ต และนักวิชาการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
โดยที่ประชุมสรุปว่า ปัญหารถติดในภูเก็ตเกิดจากจำนวนรถยนต์ที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ในขณะที่ถนนไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนรถยนต์ ซึ่งจากสถิติของสำนักงานขนส่งภูเก็ตสิ้นสุดเดือนกันยายน 2555 มีรถที่จดทะเบียนเฉพาะรถยนต์ 7 ที่นั่ง (รถเก๋ง) ในปีนี้ กว่า 7,000 คัน ทำให้ขณะนี้ ภูเก็ตมีรถเก๋งที่จดทะเบียนกว่า 70,000 คัน ซึ่งหากรวมรถชนิดอื่นๆ แล้วทำให้ภูเก็ตมีจำนวนรถมากกว่าถนนที่มีความยาวต่อเชื่อมกันทั้งหมด 200 กิโลเมตร และมีแนวโน้มว่า รถยนต์จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นหมื่นคันจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล
ดังนั้น แม้ว่าทางกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทจะตัดถนนสายต่างๆในภูเก็ตก็เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาการจราจรได้เท่านั้น ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาจราจรได้ทั้งหมด สิ่งสำคัญจะต้องมีการส่งเสริมให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวในภูเก็ตหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเรื่องนี้ทางจังหวัดภูเก็ตได้เคยมีการศึกษาไว้แล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้ารางเบา เป็นต้น
นายเลิศ พัดฉวี รองผู้อำนวยการ สำนักงานทางหลวง กระบี่ กล่าวว่า ทางกรมทางหลวงได้จัดทำแผนแม่บทโครงข่ายการคมนาคมในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนนของภูเก็ต และลดปัญหาการจราจร ซึ่งแผนฯ ดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 30,000 ล้านบาท ที่จะแก้ปัญหาการจราจรของภูเก็ตทั้งระบบ โดยผลการศึกษาได้กำหนดให้มีการขยายถนนทางเข้าสนามบินภูเก็ต จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งขณะนี้ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เป็นช่วงๆ รวมทั้งถนนสายอื่นๆ การทำเลี่ยงเมือง ชุมชน 7 โครงการ การสร้างถนนแนวใหม่ 7 โครงการ เช่น ถนนสายสาคู-เกาะแก้ว เป็น 4 ช่องทางจราจร ถนนใต้สายไฟฟ้าแรงสูง ถนนสายกมลา-กะทู้ และถนนสายฉลอง-ป่าตอง เป็นต้น การทำทางลอด และทางยกระดับ 8 จุด ที่บริเวณทางเข้าสนามบินภูเก็ต หาดในยาง แยกถลาง แยกท่าเรือ แยกบางคู แยกสามกอง แยกดาราสมุทร และห้าแยกฉลอง รวมถึงโครงการปรับปรุงจุดเสี่ยง และจุดอันตราย
นายเลิศ กล่าวต่อว่า หากภูเก็ตสามารถที่จะก่อสร้างถนนตามแผนแม่บท จะสามารถแก้ปัญหาการจราจรของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางกรมทางหลวงจะเร่งดำเนินการของบประมาณมาดำเนินการตามความเร่งด่วน เช่น ที่แยกดาราสมุทร และสามกอง ขณะนี้เริ่มก่อสร้างแล้ว หลังจากนั้น ก็น่าจะเป็นที่บริเวณแยกบางคู โดยใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นการจราจรในบริเวณทั้ง 2 แยกจะคล่องตัวมากขึ้น
ด้าน ดร.เกษม ชูจารุกุล ที่ปรึกษากรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก แม้แต่ในต่างประเทศที่เป็นเมืองที่เจริญ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ยังประสบปัญหาการจราจรติดขัดเช่นกัน และคิดว่าการสร้างถนนเพิ่มมากขึ้นไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาการจราจร เป็นเพียงการยืดเวลาปัญหาการจราจรออกไปเท่านั้น เพราะในอนาคต เราไม่สามารถที่จะตัดถนนให้เพิ่มมากขึ้นเหมือนกับจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาการจราจรที่ยั่งยืนจะต้องมีการรณรงค์ และส่งเสริมให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวใช้ระบบการขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งในส่วนของภูเก็ตก็มีการศึกษาระบบขนส่งมวลชนแบบไฟฟ้ารางเบา ที่สามารถตอบสนองได้ทั้งคนภูเก็ต และนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมทางหลวงชนบท ได้มอบหมายให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาโครงการศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพด้านวิศวกรรมความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนที่ภูเก็ต และเกาะพะงัน โดยที่ภูเก็ตนั้นได้มีการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักท่องเที่ยว 500 คน แบ่งเป็นต่างชาติ 365 คน และคนไทยอีก 160 คน ในหัวข้อคิดอย่างไรกับถนนในภูเก็ต ผลการศึกษาระบุว่า นักท่องเที่ยวเห็นว่าภูเก็ตมีปัญหารถติด ป้ายจราจรมีปัญหา กว่าครึ่งนักท่องเที่ยวไม่เข้าใจ ไหล่ทางแคบ ถนนขรุขระ และรวมถึงพฤติกรรมการขับขี่ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่อันตรายมาก
นายทวี หอมหวล ผู้ช่วยโยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต กล่าวว่า ทางโยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต มีโครงการจะก่อสร้างถนนเส้นทางฉลอง-ป่าตอง ระยะทาง 6 กว่ากิโลเมตร เพื่อเชื่อมโครงข่ายถนนระหว่างป่าตองกับฉลอง ที่สามารถย่นระยะทาง และเวลาได้เป็นอันมาก โดยขณะนี้ ได้มีการออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ เตรียมเสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เนื่องจากถนนสายดังกล่าวตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติเขานาคเกิด ระยะทาง 3.1 กิโลเมตร เพื่อของบประมาณมาดำเนินการต่อไป