ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - บีโอไอสรุปภาวะการลงทุนภาคเหนือปี 55 ยังโตต่อเนื่อง แจงเหตุมูลค่าการลงทุนลดเป็นเพราะเทียบกับปี 54 ที่มีโครงการใหญ่มูลค่าสูง เผย “เกษตร-บริการ-อิเล็กทรอนิกส์” เป็นอุตสาหกรรมยอดนิยม ส่วนญี่ปุ่นครองแชมป์นักลงทุนต่างชาติ เตือนปัญหาการเมือง-แรงงาน-พลังงานเป็นปัจจัยเสี่ยง ชี้หากมีความชัดเจนเรื่องนิคมฯ ใหม่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนได้อีกทาง
วันนี้ (17 ม.ค.) นายสมมาตย์ ตั้งสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จ.เชียงใหม่ แถลงถึงภาวะการลงทุนภาคเหนือปี 2555 ว่า สถิติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือ 17 จังหวัด 136 โครงการ ลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 4 มูลค่าการลงทุน 28,327.2 ล้านบาท ลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 31 ได้รับการอนุมัติ 115 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 13 มูลค่าการลงทุน 32,344.4 ล้านบาท ลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 7 โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนก่อให้เกิดการจ้างงาน 10,971 คน
อุตสาหกรรมที่นักลงทุนยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ให้ความสนใจยื่นคำขอ ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และจีน
ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนใน 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและผลผลิตจากการเกษตร 36 โครงการ มูลค่าการลงทุน 3,896.1 ล้านบาท อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค 26 โครงการ มูลค่าการลงทุน 20,666.7 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 22 โครงการ มูลค่าการลงทุน 3,305 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และอิสราเอล
ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือปี 2555 แบ่งเป็นโครงการในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 86 โครงการ มูลค่า 17,657.4 ล้านบาท เขต 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 29 โครงการ มูลค่า 14,687 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ดและขนาดกลาง ลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท จำนวน 93 โครงการ หรือร้อยละ 81 เป็นโครงการของกลุ่มนักลงทุนถึงร้อยละ 55 ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุมัติ ได้แก่ จากญี่ปุ่น 16 โครงการ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์ ประเทศละ 5 โครงการ
“กรณีที่มูลค่าการลงทุนลดลงค่อนข้างมากในปี 2555 เป็นผลมาจากปี 2554 มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าสูง เมื่อเทียบกับปี 2555 จึงดูเหมือนว่าตัวเลขลดลงอย่างมาก แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนโครงการจะเห็นว่าต่างกันไม่มากนัก ส่วนกรณีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทยังไม่มีรายงานว่าพบปัญหาในกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน”
นายสมมาตย์กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในภาคเหนือปี 2556 คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากยังคงมีนักลงทุนให้ความสนใจสอบถามเกี่ยวกับการขอรับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการไทยจะเป็นการลงทุนด้านการเกษตรและผลผลิตจากการเกษตร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจะเป็นการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนโลหะ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อการลงทุน ประกอบด้วย การขึ้นค่าแรง ราคาก๊าซและน้ำมัน การขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการเมืองในประเทศ เป็นต้น
“แม้ทิศทางการลงทุนในภาคเหนือยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่ในระยะยาวอาจมีผลกระทบจากปัญหาผังเมือง ซึ่งกำหนดให้หลายพื้นที่เป็นพื้นที่สีเขียว ไม่สามารถก่อตั้งโรงงานได้ เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในภาคเหนือนั้นมีผู้จองหมดแล้ว ขณะที่การลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ทั้งของรัฐและเอกชนก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้นักลงทุนต้องพิจารณาก่อสร้างโรงงานในพื้นที่อื่นๆ นอกนิคมอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งขยายการลงทุนโดยใช้พื้นที่ส่วนที่เหลืออยู่ และหากในอนาคตมีความชัดเจนเรื่องการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมก็จะส่งผลดีต่อทิศทางการลงทุนในภาคเหนืออีกทางหนึ่งด้วย”