xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานทดแทนแห่ลงทุนพื้นที่อีสานตอนบน “ขอนแก่น” ยังครองแชมป์ลงทุนสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 ขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - บีโอไอขอนแก่น เผยภาพรวมการลงทุนอีสานตอนบนปี 55 ขยายตัวเกินคาด โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานทดแทน ครองแชมป์สูงสุดกว่า 39 โครงการ ยอดเงินกว่า 12,865.5 ล้านบาท ขณะที่ จ.ขอนแก่น มีมากที่สุดถึง 28 โครงการ คาดแนวโน้มปี 2556 น่าจะทรงตัว เหตุค่าแรง 300 บาท ต้นทุนพลังงานเพิ่ม กระทบความเชื่อมั่น

วันนี้ (22 ธ.ค.) น.ส.รัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัดขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนปี 2555 (1 มกราคม-14ธันวาคม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกินคาดหมาย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเหตุอุทกภัยปี 2554 ทำให้ผู้ประกอบการย้ายสถานประกอบการ ไปจนถึงหาสถานประกอบการแห่งใหม่ และการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้ มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 58 โครงการ เงินลงทุน 15,500 ล้านบาท จ้างงาน 2,644 คน กิจการที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้รับการอนุมัติ 39 โครงการ เงินลงทุน 12,865.5 ล้านบาท รองลงมา เป็นกลุ่มเกษตรกรรม 14 โครงการ เงินลงทุน 2,121.6 ล้านบาท กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า 6 โครงการ เงินลงทุน 7,297.7 ล้านบาท

น.ส.รัตนวิมล กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่มูลค่าการลงทุนเกิน 750 ล้านบาท ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการผลิตคอนเน็กเตอร์ ของบริษัท พานาโซนิค แมนุแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 5,973.9 ล้านบาท จ้างงาน 1,680 คน ตั้งโรงงานที่ จ.ขอนแก่น โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ของบริษัท ทีเอสเอ็มเพาเวอร์ ไฟฟ้า จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท จ้างงาน 50 คน ตั้งโรงงานที่ จ.อุดรธานี และโครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ของบริษัท ไดชิน จำกัด เงินลงทุน 828.2 ล้านบาท จ้างงาน 385 คน ตั้งโรงงานที่ จ.ขอนแก่น ทั้งนี้โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลาง และขนาดย่อม วงเงินลงทุนอยู่ระหว่าง 1.4 ล้านบาท ถึง 630 ล้านบาท

“จังหวัดที่ได้รับความสนใจลงทุนมากที่สุด คือ ขอนแก่น มีนักลงทุนทั้งต่างชาติ และต่างพื้นที่ ลงทุนถึง 28 โครงการ วงเงิน 15,569 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 38.29 และ 514.89 ตามลำดับ รองลงมา คือ จ.อุดรธานี 14 โครงการ วงเงิน 2,756 ล้านบาท จ.หนองคาย 8 โครงการ วงเงิน 729 ล้านบาท”

น.ส.รัตนวิมล กล่าวว่า สำหรับ จ.ขอนแก่น มีนักลงทุนจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมสนใจเข้ามามาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ขอนแก่นไม่มีนิคมอุตสาหกรรมรองรับ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นหลายบริษัท มีความพร้อมที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาทันที หากมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ ทำให้ขอนแก่นเสียโอกาสไป สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปี 2556 คาดว่าจะทรงตัว ด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบ และค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาท เนื่องจากธุรกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอี เน้นการผลิตแบบพึ่งพาแรงงานมากกว่าเครื่องจักร ดังนั้น แรงงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ ราคาพลังงานก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งในตลาดโลก และในประเทศ ราคาอาหารก็สูงขึ้น ผลผลิตการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน ปัจจัยเหล่านี้จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบ แต่ยังมีสัญญาณที่ดีจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางดีขึ้น
ค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท เป็นอีกปัจจัยที่กระทบความเชื่อมั่นการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี
กำลังโหลดความคิดเห็น